โควิดปลุก 'เวอร์ช่วล ฮอสพิทัล' แนะทุ่ม ‘นวัตกรรม-คน’ สู้ วิกฤติ

โควิดปลุก 'เวอร์ช่วล ฮอสพิทัล' แนะทุ่ม ‘นวัตกรรม-คน’ สู้ วิกฤติ

ส.VISTEC แนะไทยเร่งลงทุนวิจัยพัฒนานวัตกรรม ยกระดับบุคลากรรับโลกอนาคต “รพ.พริ้นซ์” เผยโควิดเปรียบเหมือนสงครามโลก เร่งผนึกองค์กรความรู้สหวิชาชีพการแพทย์ร่วม ดึงนวัตกรรมยกระดับอุตฯ การแพทย์สู่ “เวอร์ช่วล ฮอสพิทัล "ไอบีเอ็ม" ชี้เทคฯ คือ กุญแจไขฝ่าวิกฤติ

162942718347

ในส่วน VISTEC ได้วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีของตัวเองหลายโครงการที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า การผลิตชุดตรวจโควิด-19 ทางการแพทย์ที่กำลังจะพัฒนาจากการใช้งานในโรงพยาบาล มาสู่การใช้งานที่บ้านเป็นผลิตภัณฑ์แรกซึ่งเป็นการพัฒนาในเชิงพาณิชย์

เร่งวิจัยพัฒนานวัตกรรม-คน

อย่างไรก็ตาม ภาพรวมการพัฒนานวัตกรรม วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีของไทย ยังคงต้องเพิ่มการลงทุน และเตรียมความพร้อมของบุคลากร งบประมาณในด้านนี้ต้องเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน ขณะนี้ประเทศที่ลงทุนเรื่องการวิจัยและพัฒนา (R&D) มากที่สุดในโลก คือ ประเทศเกาหลีใต้ ที่มีการลงทุนอยู่ที่ประมาณ 4.62% ของจีดีพี ประเทศไทยอย่างน้อยควรลงทุนให้ได้ในสัดส่วน 10-20% ของเกาหลีใต้ เพื่อให้มีการสนับสนุนนโยบายเรื่องนี้มากขึ้น

ขณะที่ การเตรียมบุคลากรที่มีความพร้อมเรื่องนวัตกรรม เทคโนโลยี ทั้งผู้ใช้และผู้สร้างเทคโนโลยีประเทศที่พร้อมด้านนี้มากที่สุดระยะหลัง คือ เกาหลีใต้ มีจำนวนถึงประมาณ 12 คนต่อประชากร 1,000 คน การเตรียมพร้อมเรื่องนี้ทำให้การพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีของเกาหลีใต้เป็นไปอย่างรวดเร็ว

ขณะที่ การพัฒนาเรื่องบิ๊กดาต้า หากมีดาต้าที่มากแล้วพัฒนาขึ้นมาจะมีอำนาจมากเหมือนกับที่จีนมี แต่ไทยต้องพยายามเอาดาต้าที่มีมาทำเป็นบิ๊กดาต้า เช่น นำเอาแพลตฟอร์มในแบบง่ายๆ เขียนโปรแกรม แล้วไปช่วยงานด้านสาธารณสุข ช่วยเรื่องการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลสนาม ในอนาคตหากมีการสร้างสถานพยาบาลในพื้นที่ใกล้เคียงกับสถาบันก็จะมีการทำในเรื่องของงานวิจัยด้านไบโอเทคโนโลยี

162942715861

โควิดเปรียบเหมือนสงครามโลก

นายสาธิต วิทยากร กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า วิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นเปรียบได้กับสงครามโลก เพราะทุกคนต่างได้รับผลกระทบอย่างหนัก การจะผ่านไปได้ต้องผนึกองค์กรความรู้ของสหวิชาชีพด้านการแพทย์ร่วมกัน ทั้งการแบ่งปันข้อมูล แชร์ริ่ง องค์ความรู้ 

"เพราะการรักษาคนไข้หนึ่งคนจำเป็นต้องผสานความรู้ ความสามารถทั้งจากอายุรกรรม แพทย์ที่เชี่ยวด้านโรคปอด โรคไต หรือการติดเชื้อ และแพทย์ด้านระบาดวิทยา ซึ่งโรงพยาบาลพริ้นซ์ เองได้มีการหารือร่วมกับโรงพยาบาลอื่น เพื่อทำการรักษาให้ได้ผลอย่างดีสุด"

จุดพลุดิจิทัลแพลตฟอร์ม

นอกจากนี้ ในอนาคตจะได้เห็นการก้าวกระโดดหรือ Jump Start นำเทคโนโลยีมาพัฒนาในอุตสาหกรรมทางการแพทย์ หรืออุตสาหกรรมเฮลธ์แคร์หลายมิติ จะได้เห็น เวอร์ช่วล ฮอสพิทัล และ ดิจิทัล เฮลธ์แคร์ ซึ่งจะเกิดการใช้งานอย่างแพร่หลาย เพราะโควิด-19 เข้ามาเป็นตัวเร่ง เป็นโอกาสให้อุตสาหกรรมด้านสุขภาพจำเป็นต้องเร่งพัฒนาและปรับตัวอยู่เสมอ

“การทำ Home Isolation คือ การดิสรัปชั่นการรักษาตัวในโรงพยาบาล 100% เพราะคนไข้ไม่ต้องมาพบหมอ แต่ใช้เทคโนโลยีในการปรึกษา ตรวจรักษาตลอด 14 วันที่ต้องกักตัว ใช้ระบบไอทีในการส่งยา ตรวจเชื้อผ่านแล็บ ตรงนี้เองคือโอกาสที่เราต้องมองว่า เมื่อจบโควิดหรือสถานการณ์คลี่คลายแล้วนั้น การประยุกต์ใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มด้านเฮลธ์แคร์จะมีความสำคัญอย่างที่สุด”

ผนึกพาร์ทเนอร์-สตาร์ทอัพเสริมแกร่ง

นายสาธิต กล่าวต่อว่า โรงพยาบาลพริ้นซ์มองเรื่องสุขภาพต้องผนึกกับเทคโนโลยีมาโดยตลอด มีการวิจัยและพัฒนาเรื่องดังกล่าว เพื่อพัฒนาตัวเองไปถึงการทำเฮลธ์แคร์แพลตฟอร์ม 4.0 เกิดการประยุกต์ของเทคโนโลยีผ่านการบูรณาการทุกด้านที่เกี่ยวข้อง เพราะเทรนด์ดิจิทัล เฮลธ์แคร์ของโลกเติบโตอย่างมาก มีการใช้ “เอไอ” อ่านฟิลม์เอ็กซ์เรย์ นำเครื่องมือมาช่วยสนับสนุน 

ดังนั้น กุญแจแห่งความสำเร็จ (Key Succes) คือ การได้พันธมิตรที่เชี่ยวชาญมาร่วม เป็นการสร้างโอกาสให้เกิดความสำเร็จมากที่สุด ทั้งการทำพันธมิตรกับเด็กรุ่นใหม่ สตาร์ทอัพ เราอาจมีความเชี่ยวชาญในธุรกิจ แต่ด้านความรู้เท่าทัน เอไอ บล็อกเชน แมชชีนเลิร์นนิ่ง อาจไม่ชำนาญเท่าเด็กรุ่นใหม่ ตรงนี้คือสิ่งที่เรามองว่า จะเป็นกุญแจแห่งความสำเร็จ

“การทำธุรกิจยุคใหม่ การมองหาพาร์ทเนอร์ชิพ ที่มีความรู้ความสามารถเฉพาะทางมาเสริมให้องค์กรของเรา เป็นสิ่งที่ต้องรับเอามาปรับใช้ การโตได้หรืออยู่รอดในธุรกิจ หากเราไม่เก่งเรื่องใดก็หาคนเก่งๆ มาช่วยทำ”

วิกฤติโควิดเปิดปัญหาใต้พรม

นางสาวปฐมา จันทรักษ์ รองประธานด้านการขยายธุรกิจในกลุ่มประเทศอินโดจีน และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ไอบีเอ็ม ประเทศไทย กล่าวว่า โควิด-19 เป็นหายนะที่ช็อกโลก สถานการณ์ที่เกิดขึ้นได้เปิดพรมให้เห็นปัญหาที่ซ่อนไว้ ทำให้เห็นว่าประเทศ ธุรกิจ ยังต้องการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ มาช่วยในการขับเคลื่อนองค์กรและการใช้ชีวิต

อย่างไรก็ดี หากประเมินถึงความพร้อมการรับมือของประเทศไทย สิ่งที่ควรจะเป็นเทียบกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงทั้งแง่ธุรกิจ อุตสาหกรรม และผู้ใช้งาน คะแนนที่ประเมินได้ขอให้ 5 เต็ม 10

โดยเห็นได้จาก ปัญหาความพร้อมเมื่อต้องทำงานจากที่บ้าน ออนไลน์เทรนนิ่ง เรียนออนไลน์ การเข้าถึงเทคโนโลยี รวมถึงดีไวซ์ซึ่งจะมีกี่ครอบครัวที่มีอุปกรณ์พร้อมให้ลูกหลานได้เรียนหนังสือได้ ขณะเดียวกันหลายองค์กรยังไม่พร้อมด้านไอทีอินฟราสตรักเจอร์และดีไวซ์สำหรับให้พนักงานทำงาน

162942752778

‘เทคโนโลยี’กุญแจฝ่าวิกฤติ

นางสาวปฐมา กล่าวว่า โควิดทำให้ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นถูกเร่งขึ้นมา และปีนี้เห็นได้ว่าหลายองค์กรปรับตัวมากขึ้น เทคโนโลยีเป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจอยู่รอดท่ามกลางสถานการณ์วิกฤติ มีส่วนสำคัญต่อการลดต้นทุน ทำให้การบริหารจัดการมีความยืดหยุ่น

อย่างไรก็ดี ประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากในยุคแห่งคลาวด์ และข้อมูล คือ การรักษาความปลอดภัยบนไซเบอร์ ทุกวันนี้ทั้งข้อมูลส่วนบุคคล ข้อมูลธุรกิจ ถูกคุกคามจากหลากหลายวิธีโดยอาชญากรไซเบอร์

ผู้บริหารไอบีเอ็ม กล่าวว่า สถานการณ์โลกเข้าขั้นวิกฤติ ถูกท้าทายด้วยปัญหาสภาพแวดล้อม วิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 รวมถึงการสร้างความเชื่อมั่นในการใช้เทคโนโลยี ดังนั้นสิ่งสำคัญ คือ การร่วมมือกัน ขณะเดียวกันรีสกิล อัพสกิล เป็นคำที่ต้องมี คำว่าบิ๊กดาต้า คลาวด์คอมพิวติ้ง ไม่ได้เป็นคำของไอทีหรือซีไอโอเท่านั้น

“การนำเทคโนโลยีปรับใช้เพื่อบริหารจัดการสภาพแวดล้อมทางธุรกิจ และการใช้ชีวิตเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่เริ่มลงมืออาจสายเกินไป ที่สำคัญช่วงวิกฤติแบบนี้เทคโนโลยีสำคัญพอๆ กับคนที่อยู่ในองค์กร และอยู่ในประเทศที่จะต้องร่วมขับเคลื่อนให้ก้าวข้ามวิกฤติไปด้วยกัน”

162942763858

ต้องมี ‘Mindful Leadership’

เธอกล่าวด้วยว่า สำหรับผู้นำองค์กร สิ่งที่ต้องมีคือ “Mindful Leadership” ที่ต้องเปิดกว้าง รับฟัง ทำความเข้าใจ และพยายามดูว่าจะปรับได้อย่างไร มากกว่านั้น ระมัดระวังเรื่องการเข้าไปตัดสินและมีอคติ เพื่อให้อยู่ร่วมกันได้แม้มีความแตกต่าง

ที่ผ่านมา ผู้บริหารต้องปรับตัวอย่างมาก นอกจากขับเคลื่อนธุรกิจ ต้องเข้าใจเรื่องการขับเคลื่อนบุคลากร มีวิธีคิดสำหรับรับมือพนักงานหลายเจเนอเรชั่น การเข้ามาของวิกฤติ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว รวมถึงเปิดกว้างเรื่องนวัตกรรม ผู้นำที่จะพาธุรกิจไปข้างหน้าได้ต้องปรับเปลี่ยนแนวคิดจาก “What if” ไปเป็น “What is”

สำหรับการเปิดประเทศ ภายใต้คำถามที่ว่าพร้อมไหมที่จะเปิดเมือง เนื่องจากวันนี้การเข้าถึงวัคซีนอาจยังไม่ถึง 70% ทว่าหากต้องการจะเปิดควรมีระบบที่เข้ามารองรับ เพื่อช่วยให้สามารถขับเคลื่อนการเปิดประเทศ เอสเอ็มอี ผู้ให้บริการ โดยเทคโนโลยีที่ต้องนำมาใช้คือ “ดิจิทัล เฮลธ์ พาส” หรือ “ดิจิทัล วัคซีน พาสปอร์ต”