‘โคเวสโตร-กฟผ.’ เปิดทางเยาวชน ประชันออกแบบ ‘สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’

‘โคเวสโตร-กฟผ.’ เปิดทางเยาวชน ประชันออกแบบ ‘สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’

หากต้องการเลี่ยงผลกระทบของปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หลายประเทศคงเลือกลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ก๊าซเรือนกระจก โดยวิธีที่มักจะเลือกใช้คงหนีไม่พ้นผลักดันการใช้ "ยานยนต์ไฟฟ้า" ซึ่งจะต้องส่งเสริมให้เกิดการรองรับของโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเช่นกัน

เมื่อสถานการณ์ของโลกในปัจจุบันทั้งปัญหา Climate Change หรือแม้กระทั่งโรคระบาด ที่ทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในแง่มุมต่างๆ อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ส่งผลให้โลกต้องรับมือกับปัญหาในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม รวมไปถึงวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คน

 ดังนั้น โคเวสโตร ในฐานะผู้นำด้านวัสดุโพลิเมอร์ระดับโลก จึงได้ตระหนักถึงความจำเป็นและความสำคัญในการพัฒนานวัตกรรมต่างๆ ที่จะมีส่วนช่วยให้ผู้คนใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายยิ่งขึ้น ในขณะเดียวกันสร้างความยั่งยืนให้กับโลกและสังคมผ่านการเฟ้นหาไอเดียและแนวคิดใหม่ๆที่สามารถสร้างสรรค์ให้เกิดขึ้นจริง และเข้ามาช่วยแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นรูปธรรม

"โครงการ Covestro Innovation Design Contest 2021" เป็นการประกวดออกแบบสิ่งประดิษฐ์เชิงนวัตกรรมจากไอเดียสร้างสรรค์ ที่ในแต่ละปีจะมีธีมที่แตกต่างกันออกไป โดยในปีนี้ได้ถูกจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ผ่านการผลักดันโดย “โคเวสโตร (ประเทศไทย)ในฐานะผู้นำด้านวัสดุโพลิเมอร์ระดับโลก และพันธมิตร

โดยในปีนี้ได้มีการร่วมมือกับ “การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)” ที่จะเป็นการเปิดโอกาสให้กับนักศึกษาระดับปริญญาตรีทั่วประเทศ ได้ร่วมกันประกวดออกแบบนวัตกรรมสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า (EV Charging Station)” ภายใต้แนวคิด “เสริมพลังสู่เส้นทางการหมุนเวียนอย่างยั่งยืน (Recharge to a Fully Circular Way)” เพื่อผลักดันไอเดียนวัตกรรมการใช้พลังงานสะอาดและการหมุนเวียนอย่างมีคุณค่า

ทีโม่ สลาวินสกี้ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า โครเวสโตรได้มีการวางกลยุทธ์และนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของโลกในเวลานี้ พร้อมมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในแนวทางการดำเนินธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ Circular economy ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ที่ว่า “We will be fully circular” เราจะมุ่งสู่การหมุนเวียนอย่างเต็มรูปแบบ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนขึ้นอย่างแท้จริง รวมถึงการสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับสังคมยุคใหม่ในระยะยาว  

และเพื่อเป็นหนึ่งในการสนับสนุนแนวทางดังกล่าว การร่วมมือกันในครั้งนี้จะเป็นการสานต่อโครงการ Covestro Innovation Design Contest หรือ IDC ปีที่ 3 เพื่อเป็นการกระตุ้นให้เกิดความสนใจและมีแนวคิดในการใช้พลังงานสะอาด การใช้วัสดุรีไซเคิล และร่วมกันสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม

ด้าน นายวฤต รัตนชื่น ผู้อำนวยการฝ่ายแผนยุทธศาสตร์ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) กล่าวว่า กฟผ. ให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมเพื่อมุ่งสู่พลังงานสะอาด พร้อมดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อม ซึ่งมองว่าโครงการในครั้งนี้จะเป็นการกระตุ้นให้กับน้องๆ ในการมีส่วนร่วมเพื่อลดโลกร้อน เนื่องจากวันนี้โลกเปลี่ยนไปอย่างมาก อาทิ หิมะตกในทะเลทราย หรือแม้กระทั่งเหตุการณ์ดินโคลนถล่มที่ประเทศจีน

 สิ่งเหล่านี้นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่าเกิดจากปัจจัยภาวะโลกร้อน โดยก๊าซที่ทำให้เกิดคือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงในอดีต อาทิ น้ำมัน ถ่านหิน ทำให้ทั่วโลกหันมาให้ความสนใจกับการตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนฯ สุทธิให้เหลือศูนย์ อย่างเช่น สหภาพยุโรป (EU) ประกาศแนวทางแก้ปัญหาโลกร้อนโดยตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2050 ซึ่งการจะทำได้ต้องมีกิจกรรมเข้าไปจัดการในหลายๆภาคส่วน อย่างภาคขนส่งได้มีการใช้ไฟฟ้าทดแทน สิ่งเดิมที่ผลิตจากถ่านหิน ก๊าซ น้ำมัน สู่การผลิตจากลม แสงแดดมากขึ้น

 ปัจจุบันอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ของไทยมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการผลิตและการใช้งาน อีกทั้งยังได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ เพื่อให้เกิดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับ EV ในอนาคต

แต่กระนั้นการเปลี่ยนผ่านของอุตสาหกรรมในประเทศไทยสู่ยานยนต์ไฟฟ้า จำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาใช้ยานยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น หนึ่งในนั้นคือเรื่องของ “สถานีชาร์จจึงไม่แปลกที่จะเห็นหลายภาคส่วนเริ่มดำเนินการในด้านของการสร้างสถานีชาร์จมากขึ้น และก็เช่นเดียวกันกับ กฟผ. ด้วยเหตุผลนี้จึงกลายเป็นโจทย์ของโครงการ IDC ในปีนี้

“ กฟผ. ได้ร่วมกับสถานีบริการน้ำมันหลายๆแห่ง ด้วยวัตถุประสงค์เดียวคือ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนผ่านสู่การเปลี่ยนแปลง ดังนั้นสถานีชาร์จเหล่านี้จะทำให้น้องๆได้มีโอกาสมีส่วนร่วม ซึ่งโคเวสโตรก็เป็นอีกภาคส่วนที่สำคัญในการส่งเสริมความยั่งยืนให้กับโลก แต่สถานีที่ดีไม่ใช่แค่สวยงาม หรือใช้วัสดุรักษ์โลกเท่านั้น แต่จะต้องคำนึงถึงการใช้งานของผู้ใช้ ต้องคำนึงว่าผู้ใช้เข้ามาใช้บริการแล้วเขาคาดหวังอะไร ซึ่งหากแนวคิดเหล่านั้นมีแนวโน้มที่จะสามารถนำไปใช้งานได้จริง ก็จะต่อยอดสู่การสร้างสถานีที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ของประเทศในลำดับต่อไป

 กฟผ. มีความพร้อมที่จะเป็นผู้ช่วยและผู้เชื่อมโยงธุรกิจต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรม EV เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางของประชาชน ตลอดจนส่งเสริมพลังงานที่ยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยให้เยาวชนได้พัฒนาและต่อยอดความคิดเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อโลกอย่างยั่งยืน

นางสาวกวิสรา วรรธนะพิศิษฐ์ หัวหน้าฝ่ายสื่อสารองค์กรประจำภูมิภาคอาเซียน บริษัท  โคเวสโตร (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวเพิ่มเติมว่า การได้ร่วมมือกับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ในโครงการ IDC 2021 ในปีนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดี เพราะทั้งสององค์กรมีเป้าหมายไปในทิศทางที่สอดคล้องกัน ในด้านการพัฒนานวัตกรรมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและช่วยลดคาร์บอนฟุตปริ้นท์ เช่น การใช้พลังงานสะอาด และช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางในอนาคต

โดยคาดหวังว่า โจทย์ของโครงการในปีนี้ จะช่วยให้ได้เห็นความคิดสร้างสรรค์ ที่สามารถตอบโจทย์การกระตุ้นการใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV Car ที่มีความเป็นไปได้ในการพัฒนาต่อยอดไปสู่การใช้งานจริงได้ และส่งเสริมความยั่งยืนตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยการนำวัสดุรีไซเคิลมาเป็นส่วนประกอบในผลงาน 

“โครงการนี้ยังมีส่วนช่วยในการสร้างโอกาสให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ได้มีพื้นที่ในการแสดงศักยภาพด้านการคิดเชิงนวัตกรรมที่มาจากพลังความคิดสร้างสรรค์ โดยจะได้รับการสนับสนุนองค์ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญของทั้งสองหน่วยงาน ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์อย่างมากในการพัฒนาต่อยอดทักษะของเยาวชนในแง่มุมต่างๆ ก่อให้เกิดการตระหนักรู้และลงมือทำเพื่ออนาคตโลกที่ยั่งยืน” กวิสรา กล่าว

ทั้งนี้ สำหรับวัตถุประสงค์ของโครงการ คือ 1.เปิดโอกาสให้นักศึกษาทั่วประเทศ ได้แสดงความสามารถและศักยภาพในการเสนอผลงานการออกแบบเชิงนวัตกรรมที่สร้างสรรค์ 2.เสริมสร้างความรู้และความเข้าใจให้แก่เยาวชนได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของการคิดเชิงนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน 3.สนับสนุนให้เยาวชนได้มีโอกาสเข้าถึงการพัฒนาศักยภาพของตนเองในการสร้างสรรค์ผลงานนวัตกรรม 4.สนับสนุนการยกระดับการศึกษา พัฒนานักคิด การตระหนักรู้ และการลงมือทำเพื่อก่อให้เกิดความยั่งยืนของประเทศไทยในอนาคต

ส่วนหลักเกณฑ์ในการตัดสินให้คะแนนจะถูกแบ่งออกเป็น 100 คะแนน ได้แก่

1.ความคิดสร้างสรรค์ ไอเดียนวัตกรรมเพื่ออนาคตที่ดีขึ้น ที่มีสูงถึง 30 คะแนน

2.แนวคิดที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการการใช้งาน EV car ในปัจจุบัน 20 คะแนน

3.ความเป็นไปได้ในการพัฒนาแนวคิดที่จะนำไปสู่การผลิตเพื่อใช้งานได้จริง 20 คะแนน   

4.การตอบโจทย์ด้านความยั่งยืน ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยมีวัสดุโพลีคาร์บอเนตรีไซเคิลเป็นส่วนประกอบ 20 คะแนน

และ สุดท้าย 5.การนำเสนอผลงาน อีก 10 คะแนน

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมประกวดจะต้องมีอายุไม่เกิน 25 ปี สมัครเป็นทีม ทีมละ 2-5 คน โดยส่งแบบร่าง Sketch และแนบ Reference ผลงานพร้อมลงสี โดยจะเป็นการวาดด้วยมือหรือใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ก็ได้ พร้อมอธิบายแนวคิดและโซลูชันในการแก้ปัญหา การตอบโจทย์ของความต้องการการใช้งาน EV Car ในปัจจุบัน และการใช้พลังงานสะอาดเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตการเดินทางในอนาคต และร่วมสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิมได้อย่างไร

โดยจะเปิดรับสมัครตั้งแต่วันนี้ - 30 กันยายน 2564 โดยผู้แข่งขันที่เข้ารอบ 6 ทีมสุดท้ายจะได้เข้าร่วมกิจกรรมเวิร์คช็อปกับผู้เชี่ยวชาญ และโอกาสในการพัฒนาผลงานจากคำแนะนำของที่ปรึกษาและคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ พร้อมประกาศผลการแข่งขันทีมชนะเลิศในวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564

รายละเอียดเพิ่มเติม และสมัครเข้าร่วมโครงการ ได้ที่ https://www.idc-thailand2021.com หรือโทรสอบถามรายละเอียด ที่เบอร์ 096-945-5341, 061-516-9562 และ e-mail : [email protected]