‘นอนนอน’ สตาร์ทอัพสายกรีน ชูแพลตฟอร์มให้เช่าที่นอนคุณภาพ

‘นอนนอน’ สตาร์ทอัพสายกรีน ชูแพลตฟอร์มให้เช่าที่นอนคุณภาพ

เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมและความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่รอไม่ได้อีกต่อไป ผู้ผลิตที่นอนสัญชาติไทยที่บุกตลาดมากว่า 90 ปี จากที่นอนนุ่นทำมือสู่โรงงานผลิตที่นอนสปริงและฟองน้ำแห่งแรกในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในชื่อ “สปริงเมท” จนพัฒนาสู่ “นอนนอน” (Nornnorn)

แพลตฟอร์มให้เช่าที่นอนคุณภาพดีโดยสตาร์ทอัพโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน ตอบโจทย์การแก้ปัญหาการจัดการขยะ ช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงที่นอนคุณภาพดีสำหรับธุรกิจที่พักรายแรกของโลก 

จุดเริ่มต้นของไอเดียคงต้องย้อนกลับไปเมื่อปี 2534 ทายาทรุ่นที่ 3 ได้สานต่อกิจการของครอบครัวด้วยการแยกตัวออกมาก่อตั้งบริษัทและโรงงานเพื่อผลิตที่นอนคุณภาพสูง ภายใต้แบรนด์ “สปริงเมท (Springmate)” โดยอาศัยความเชี่ยวชาญจากการคลุกคลีและเห็นวิธีการทำที่นอนมาตั้งแต่เล็ก จนได้รับการยอมรับในกลุ่มลูกค้าธุรกิจที่พักและโครงการที่พักอาศัยอื่นๆ ทั้งในไทยและต่างประเทศอย่างกว้างขวาง

ปลุกจากการหลับใหล สานฝันความยั่งยืน

จนกระทั่งยุคของทายาทรุ่นที่ 4 นพพล เตชะพันธ์งาม ผู้ที่บินลัดฟ้าไปศึกษาต่อที่อังกฤษตั้งแต่อายุ 13 เมื่อจบการศึกษาปริญญาตรี เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง สาขาฟิสิกส์และทฤษฎีทางฟิสิกส์ จากมหาวิทยาลัยแมนเชสเตอร์ และอนุปริญญาโท สาขาเศรษฐศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ได้หวนคืนสู่ธุรกิจของที่บ้าน ด้วยการกลับมาทำงานในส่วนของการสร้างแบรนด์ ขยายตลาด ปฏิรูปและพัฒนาธุรกิจ ในปี 2548 โดยนำองค์ความรู้ที่เรียนมานำมาคิดอย่างเป็นระบบ

ในช่วงระยะเวลา 10 ปีที่ช่วยงานที่บ้าน เขาได้มองเห็นปัญหาของลูกค้าและสิ่งแวดล้อม คือ 1.ธุรกิจให้บริการที่พักส่วนใหญ่มีงบประมาณในการลงทุนจำกัด จึงต้องอาศัยการซื้อที่นอนที่คุณภาพด้อยลงมาที่มักมีอายุการใช้งานสั้นเพียง 2-3 ปี และนอนไม่สบายมาให้บริการแขกที่เข้าพัก 2.ลูกค้าไม่มีที่ทิ้งที่นอน จึงต้องนำมาฝากให้บริษัทช่วยจัดการ ซึ่งบริษัทก็เป็นโรงงานผลิตที่นอน ไม่ใช่โรงงานรีไซเคิล ดังนั้น การจัดการจึงไม่สามารถทำได้อย่างเต็มที่ 3.การรีไซเคิลที่นอนมีค่าใช้จ่ายที่สูง และผลลัพธ์ที่ได้ไม่คุ้มกับค่าใช้จ่าย จึงไม่สามารถทำในเชิงธุรกิจได้

ทำให้เขาพยายามคิดหากลไกในการสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกให้กับโลก ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และสิ่งแวดล้อม จนหันมาพัฒนาแพลตฟอร์ม “นอนนอน” บริการให้เช่าที่นอนใหม่คุณภาพดีจากหลากหลายแบรนด์ด้วยค่าเช่าที่เข้าถึงได้จริง พร้อมกับเซ็ตอัพธุรกิจในช่วงปี 2561 

โดยแนวคิดของ “นอนนอน” คือการเปลี่ยนระบบอุปโภค จากเดิมที่อยู่บนพื้นฐานของการซื้อสินค้า ใช้ ทิ้ง และก่อให้เกิดขยะ มาเป็นระบบเช่าสินค้า ใช้ คืน และรีไซเคิล โดยเน้นไปที่สินค้าที่นอนก่อนเป็นอันดับแรกผ่านแพลตฟอร์มให้บริการเช่าที่นอนใหม่สำหรับธุรกิจให้บริการที่พัก ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน โดยนอนนอนมีวัตถุประสงค์ที่จะช่วยให้ธุรกิจให้บริการที่พักสามารถเข้าถึงที่นอนคุณภาพสูงที่นอนสบายและสามารถใช้งานได้นาน โดยไม่ต้องลงทุนเป็นเงินก้อนใหญ่ และในขณะเดียวกันก็ช่วยลดปริมาณขยะ ก๊าซเรือนกระจก และมลภาวะที่เกิดจากการกำจัดที่นอนที่ไม่ถูกต้องตามหลักสิ่งแวดล้อมของภาคธุรกิจให้บริการที่พัก อีกทั้งยังช่วยให้วัสดุต่างๆ ได้รับการนำกลับมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

“ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ผมมองว่าคนจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงที่นอนคุณภาพได้เนื่องจากงบประมาณที่จำกัด ส่งผลกับการดำเนินชีวิต  เนื่องจากที่นอนที่ไม่ดีก็มีผลกับการพักผ่อน เสมือนกับว่าเสียเปรียบตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้น เมื่อเปลี่ยนเป็นบริการเช่า จะเอื้อให้คนจำนวนมากขึ้นสามารถเข้าถึงสินค้าคุณภาพสูงได้”

ตัวกลางเชื่อมแบรนด์-ผู้ใช้

เป้าหมายสำคัญอีกหนึ่งประการ คือ การพาร์ทเนอร์กับแบรนด์ที่นอนชั้นนำที่มีการผลิตและจำหน่ายอยู่ในแต่ละประเทศที่ “นอนนอน” เปิดให้บริการ เพื่อที่จะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการจัดส่ง และหลีกเลี่ยงปัญหาของกำแพงภาษีระหว่างประเทศ อย่างเช่นในไทยก็พาร์ทเนอร์กับ สปริงเมท ซึ่งเป็นหนึ่งในแบรนด์ของครอบครัว ส่วนที่อินโดนีเซียได้พาร์ทเนอร์กับสปริงแอร์ (Spring Air)

นพพล กล่าวต่อไปว่า กลไกหลักของแพลตฟอร์ม คือ การใช้เงินทุนจากการออกตราสารหนี้เพื่อสิ่งแวดล้อม หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าหุ้นกู้สีเขียว (green bond) มาซื้อที่นอนใหม่คุณภาพสูงให้ลูกค้าเช่าไปใช้งานเป็นเวลา 60-120 เดือน หรือ 5-10 ปี ซึ่งเข้ากับรอบเปลี่ยนที่นอนปกติของโรงแรมมาตรฐานสากลที่มักจะอยู่ที่ทุกๆ 7-10 ปี โดยลูกค้าจะชำระค่าใช้บริการเป็นรายเดือน ซึ่งเริ่มต้นที่เพียงเดือนละ 71 บาทต่อที่นอน 1 ชิ้น เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ที่นอนจะถูกเก็บกลับมาเพื่อถูกแยกชิ้นส่วนไปรีไซเคิลหรืออัพไซเคิล โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม

บริการดังกล่าวของนอนนอน ช่วยตอบโจทย์ของธุรกิจให้บริการที่พักที่ส่วนใหญ่มีงบประมาณในการลงทุนจำกัด ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังช่วยตอบโจทย์ด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมีการผนวกค่าใช้จ่ายในการรีไซเคิลเข้าไปในค่าเช่าแต่ละเดือน จนทำให้การรีไซเคิลสามารถเกิดขึ้นได้ จากเดิมที่ยังไม่มีการรีไซเคิลที่นอนเกิดขึ้นทั้งในประเทศไทยและประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูงจนไม่คุ้มค่าดำเนินการ โดยบริการของนอนนอนนับว่าเป็นการเอื้อให้ธุรกิจให้บริการที่พักสามารถสนับสนุนการรีไซเคิลที่นอนที่พ้นสภาพการใช้งานแล้วไปโดยปริยาย

ทั้งนี้ แม้ว่าจะยังไม่มีการสำรวจปริมาณที่นอนที่ถูกทิ้งทั้งหมดในแต่ละปีในประเทศไทย แต่ได้มีการคาดเดาว่าประเทศไทยน่าจะมีการทิ้งที่นอนทั้งหมดมากกว่า 7 ล้านชิ้นต่อปี เนื่องจากไทยมีขนาดประชากรและอุตสาหกรรมให้บริการที่พักที่ใกล้เคียงกับสหราชอาณาจักร โดยจากข้อมูลของสหราชอาณาจักรในปี 2560 พบว่ามีปริมาณที่นอนที่ถูกทิ้งทั้งหมดประมาณ 7.26 ล้านชิ้น รวมน้ำหนักกว่า 181,500 ตัน ซึ่งถือเป็นร้อยละ 0.8 ของปริมาณขยะที่เกิดขึ้นจากครัวเรือนทั้งหมดของประเทศ (ที่มา: End of Life Mattress Report 2019 ของ Oakdene Hollins กรกฎาคม พ.ศ. 2562)

สำหรับกระบวนการรีไซเคิลที่นอนเริ่มจากการนำที่นอนมาแยกชิ้นส่วนตามประเภทวัสดุ โดยผ้าและเส้นใยต่างๆ สามารถที่จะอัพไซเคิลเป็นไส้กรองน้ำมันอุตสาหกรรมหรือนำไปแปรรูปเป็นเส้นใยในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่วนวงสปริงที่เป็นโลหะ สามารถนำไปหลอมเป็นโลหะใหม่ได้

“สำหรับฟองน้ำ สามารถย่อยสลายด้วยวิธีการทางเคมีให้กลายเป็นโมเลกุลที่เรียกว่า โพลีออล โมโนเมอร์ ที่สามารถนำไปใช้ต่อในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีได้ ซึ่งขณะนี้เรากำลังทำการค้นคว้าและวิจัยร่วมกับสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชียและมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เพื่อให้กระบวนการดังกล่าวมีความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างคุณค่าทางเศรษฐกิจสูงสุด โดยได้รับการสนับสนุนประมาณ 3.5 ล้านบาท จากราชวิศวกรรมศาสตร์บัณทิตยสถาน สหราชอาณาจักร ผ่านโครงการ Engineering X Transforming Systems through Partnership และอีก 80,000 ปอนด์จากสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.)” 

นอกเหนือจากงานวิจัยดังกล่าวแล้ว นอนนอนยังได้มอบหมายให้สถาบันเทคโนโลยีและสารสนเทศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (สทสย.) ทำการศึกษาบริการของนอนนอนด้วยเทคนิคการประเมินวัฏจักรชีวิตเพื่อประเมินปริมาณของเสียและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่นอนนอนจะช่วยลดลงในช่วงเวลาข้างหน้า โดยโครงการดังกล่าวได้รับเงินทุนสนับสนุนประมาณ 9 แสนบาทจาก สอวช. โดย บพข. และคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2565 โดยโครงการดังกล่าวนับเป็นการประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากอุตสาหกรรมที่นอนและการใช้ที่นอนของภาคธุรกิจที่พักครั้งแรกของประเทศไทย

"นอนนอน" นับเป็นอีกหนึ่งโมเดลธุรกิจภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่น่าสนใจที่จะสร้างทั้งผลกำไรทางการเงินและช่วยลดผลกระทบที่ระบบเศรษฐกิจมีต่อสิ่งแวดล้อม โดยจากกลุ่มลูกค้าโรงแรมและรีสอร์ทในไทยและอินโดนีเซีย ทั้งนี้ในอีก 5 ปีข้างหน้า นอนนอนวางแผนจะขยายธุรกิจไปยังประเทศอื่นๆ ในภูมิภาค โดยเฉพาะประเทศที่มีการเติบโตทางการท่องเที่ยวสูง เพื่อมอบชีวิตใหม่ให้กับวัสดุที่มาจากที่นอนที่พ้นการใช้งานแล้วอย่างน้อย 2.6 ล้านชิ้น เป็นปริมาณมากกว่า 45,000 ตัน พร้อมช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างน้อย 63,000 ตัน ซึ่งเทียบเท่ากับการหยุดการเดินรถยนต์ส่วนบุคคลจำนวน 13,700 คันเป็นเวลา 1 ปีเต็ม

ใช้ คืน รีไซเคิล

เป้าหมายต่อจากนี้ จะมีการขยายธุรกิจไปสู่กลุ่มลูกค้าทั่วไปที่ต้องการเช่าที่นอนไปใช้เป็นการส่วนตัว ซึ่งขณะนี้ได้ทดลองเปิดให้บริการแล้วสำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ในคอนโดมิเนียมหรือหมู่บ้านที่มีนิติบุคคลในเขตกรุงเทพฯ และปริมลฑล และในอนาคต จะมีการขยายโมเดลการให้เช่าไปสู่สินค้าอื่นที่มีอายุการใช้งานและมูลค่าสูงเทียบเท่ากับที่นอน อาทิ อุปกรณ์และเครื่องใช้ไฟฟ้า แบตเตอรี่ แผงรับพลังงานแสงอาทิตย์ โดยอาจจะเน้นไปที่อุปกรณ์ที่ต้องใช้ในภาคธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว เป้าหมายของเรา คือ การเอื้อให้ทรัพยากรธรรมชาติที่มีอยู่อย่างจำกัดถูกใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และช่วยลดมลภาวะและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

“จากที่ดำเนินธุรกิจมา มีธุรกิจที่พักสนใจในบริการของเราค่อนข้างมาก แต่ก็มาสะดุดในช่วงของสถานการณ์โควิด ทำให้ทุกอย่างชะลอตัว แต่คาดว่าเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลายธุรกิจที่พักจะกลับมาให้ความสนใจอีกครั้ง เพราะมีธุรกิจที่พักจำนวนมากที่ก่อสร้างอาคารสถานที่เสร็จแล้ว แต่ยังไม่ได้สั่งซื้อที่นอนและเปิดทำการ ซึ่งเชื่อว่าผู้ประกอบการจะเปลี่ยนจากการซื้อมาเป็นการเช่า เพื่อไม่ต้องลงทุนเป็นเงินก้อนใหญ่ และเพื่อแสดงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม”

นพพล กล่าวว่า สถานการณ์โควิดทำให้กิจกรรมทุกอย่างชะลอตัว แต่คาดว่าเมื่อสถานการณ์เริ่มคลี่คลาย นอนนอนจะได้รับความสนใจจากธุรกิจที่พักอีกครั้ง โดยเปลี่ยนจากการซื้อมาเป็นการเช่า เพื่อไม่ต้องลงทุนเป็นเงินก้อนใหญ่ และแสดงความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สำหรับบทเรียนจากโควิดคือ ความอดทน ไม่ย่อท้อและในทุกวิกฤติจะมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ 

สำหรับความท้าทายเขามองว่าปัญหาคลาสสิกของการรับช่วงต่อธุรกิจครอบครัว คือ การปรับความคิดของผู้ก่อตั้งธุรกิจกับคนที่จะมารับช่วงต่อ เนื่องจากแนวคิดและแนวทางในการพัฒนาธุรกิจมักจะแตกต่างกัน ส่วนในมุมของการทำธุรกิจสตาร์ทอัพ ความท้าทายที่สำคัญ คือ “เวลา” กระบวนการทุกอย่างมักใช้เวลานานกว่าที่คาด ดังนั้น จึงต้องมีความอดทนและมุ่งมั่น นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่อง “การไม่อยากรับความเสี่ยงสูงในการลงทุนของนักลงทุน” โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย แม้ว่าความเสี่ยงที่สูงในการลงทุนในธุรกิจสตาร์ทอัพอาจนำมาซึ่งผลตอบแทนที่สูงก็ตาม จึงทำให้นอนนอนหันไปมุ่งเน้นการระดมทุนในต่างประเทศมากกว่า

ส่วนการที่จะทำให้ธุรกิจ “ยั่งยืน” ได้นั้น นพพล มองว่า แนวทางธุรกิจที่ยั่งยืน คือ ธุรกิจที่สามารถสร้างทั้งผลกำไรทางการเงินและประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้แท้จริง ขณะเดียวกันต้องมีแผนการที่ชัดเจนในการขยาย พัฒนา สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ต้องมีความยืดหยุ่นที่จะปรับตัวให้เข้ากับสภาวะแวดล้อมและความต้องการของตลาดที่เปลี่ยนไปได้อย่างทันท่วงที