เอ็นไอเอ หนุน 'เอ็ดเทค' ลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย

เอ็นไอเอ หนุน 'เอ็ดเทค' ลดความเหลื่อมล้ำการศึกษาไทย

NIA เร่งลดความเหลื่อมล้ำให้กับภาคการศึกษาผ่านการสนับสนุนโครงการนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา หรือ EdTech ร่วมกับภาคเอกชน พร้อมโชว์ 3 นวัตกรรมด้านการศึกษาที่พร้อมใช้

พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA กล่าวว่า ปัญหาความเหลื่อมล้ำในระบบการศึกษาไทยเกิดขึ้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นความเหลื่อมล้ำทั้งในรูปแบบของโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล การขาดแคลนสิ่งจำเป็นในด้านการเรียนการสอน ต่อเนื่องมาจนถึงความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีโดยเฉพาะในช่วงที่เกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ส่งผลให้รูปแบบการศึกษาจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนไปอยู่บนออนไลน์เกือบทั้งหมด

162454505162

นอกจากนี้  NIA ยังมองเห็นความเหลื่อมล้ำในด้านอื่นไม่ว่าจะเป็นความเหลื่อมล้ำทางกายภาพ ระบบการเรียนการสอนที่ดีและมีประสิทธิภาพ หลักสูตรที่จำเป็นต่อบริบทโลกยุคใหม่ โดยคาดว่าในอนาคตประเทศไทยจะยังคงเห็นปัญหานี้ชัดเจนมากยิ่งขึ้นหากยังไม่เร่งดำเนินการแก้ไขหรือมีโซลูชั่นที่เป็นรูปธรรม

ที่ผ่านมา NIA มีนโยบายในการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่สามารถตอบโจทย์ปัญหาดังกล่าวผ่านการสนับสนุนทั้งรูปแบบเงินทุนและเครือข่าย เพื่อยกระดับนวัตกรรมด้านการศึกษา หรือ EdTech โดยเฉพาะในมิติที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมให้ลดน้อยลง โดยมีตัวอย่างนวัตกรรมที่จะเข้ามาช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา ดังนี้

  162454507640

 “Hand in Hand for ID Kids” แอปพลิเคชันคําศัพท์ 2 ภาษา สําหรับเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา โดย มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เป็นตัวช่วยสอน คำศัพท์ 2 ภาษาสําหรับเด็กมุสลิมในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคใต้ชายแดน ได้แก่ ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส ซึ่งในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้มีเด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญาค่อนข้างเยอะ รวมถึงฐานะครอบครัวยากจน สมาชิกในครอบครัวมีจำนวนมาก

ทําให้ผู้ปกครองไม่สามารถส่งลูกเข้าไปเรียนรู้ในศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กพิเศษได้ เนื่องจากภาระหน้าที่ของผู้ปกครองที่ต้องหารายได้เลี้ยงดูครอบครัวเพราะบางครอบครัวมีสมาชิกที่ต้องดูแลเยอะ และด้วยระยะทางในการเดินทาง ดังนั้น เพื่อเปิดโอกาสให้เด็กเหล่านนี้เข้าถึงความรู้ที่จําเป็นต่อการดํารงชีวิต และ การพัฒนาทักษะด้านสติปัญญาของเด็กให้สามารถสื่อสารและใช้ชีวิตประจำวันได้ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์

จึงได้จัดทําแอปฯ เพื่อรวบรวมคําศัพท์ที่จำเป็นจํานวน 6 หมวดหมู่ อาทิ หมวดอาหาร หมวดตัวเลข หมวดสถานที่ หมวดสัตว์ หมวดอวัยวะในร่างกายและหมวดเครื่องแต่งกาย  โดยแต่ละหมวดจะมีการนําเสนอเป็นรูปภาพพร้อมเสียงที่เป็นภาษาไทยและ ภาษามลายู หากเด็กกดที่รูปภาพ แอปฯ จะทําการแปลภาษาให้อัตโนมัติ โดยปัจจุบันได้นําแอปพลิเคชันเข้าไปทดลองใช้ในพื้นที่จ.นราธิวาส ทั้งหมด 14 ศูนย์การศึกษาสำหรับเด็กพิเศษ ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวมีเด็กบกพร่องทางสติปัญญามากถึง 700 คน แอปพลิเคชันดังกล่าวถือเป็นอีกหนึ่งตัวช่วย สําคัญที่เข้ามาช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำให้แก่เด็กที่ไม่มีโอกาสเขาถึงสื่อการเรียนการสอนที่เป็นประโยชน์ต่อการฝึกฝน สติปัญญาได้อย่างน่าพอใจ

162454510740

“KruLab: แพลตฟอร์มการพัฒนาครูออนไลน์” เพื่อการจัดการเรียนรู้และแนะแนวการศึกษาแห่งอนาคต จากบริษัท อาชีฟ โซเชียล เอนเทอไพรส์ จำกัด และ Thrive Venture Builder โดยจะรวบรวมหลักสูตรสำหรับการพัฒนาและเพิ่มองค์ความรู้ให้แก่ครู และบุคลากรของโรงเรียน เน้นการรวบรวมองค์ความรู้ที่นอกเหนือจากหลักสูตร เพื่อให้ครูที่ปฏิบัติหน้าที่อยู่ทั่วประเทศมีโอกาสได้รับความรู้ใหม่ๆ กลับไปพัฒนารูปแบบการสอนของตัวเอง สำหรับการทำงานของแพลตฟอร์ม Krulab จะรวมเอาหลักสูตรที่มีความเหมาะสมกับการสอนของครูในยุคปัจจุบันไว้บนเว็บบราวเซอร์ ไม่ว่าจะเป็นหลักสูตรครูแนะแนว หลักสูตรทักษะการคิดเชิงวิพากษ์ (critical thinking) หลักสูตรการปรับเปลี่ยนทัศนคติ รวมถึงแนวทางการออกแบบห้องเรียนหรือบทเรียนให้สร้างสรรค์และแปลกใหม่ ผ่านความร่วมมือกับเครือข่ายที่ทำธุรกิจเพื่อสังคมด้านการศึกษา และโรงเรียนที่มีรูปแบบการสอนที่แตกต่าง เช่น โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จ.บุรีรัมย์ Kids Hero-เพจเฟสบุกสร้างทักษะในศตวรรษที่ 21

และในอนาคตจะร่วมกับเพจ Inskru-พื้นที่แบ่งปันการสอนที่หลากหลายและเหมาะสำหรับการศึกษาในยุคปัจจุบัน โดยขณะนี้ได้เริ่มทดลองปล่อยหลักสูตรการสอนของโรงเรียนลำปลายมาสพัฒนาบนเว็บไซต์ไปเรียบร้อย เพื่อให้ครูเข้ามาทดลองให้งานในเบื้องต้นก่อน นอกจากนี้ บริษัทอยู่ระหว่างพัฒนาและรวบรวมหลักสูตรจากเครือข่ายอื่นเพิ่มเติม เพื่อสร้างให้แพลตฟอร์ม Krulab สมบูรณ์แบบมากที่สุด

162454513765

SAMT แพลตฟอร์มสอนดนตรี โดย บริษัท เดอะกู้ดเชฟเพิร์ด จำกัด เป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่เน้นการกระจายความรู้ในวิชาดนตรี ซึ่งเป็นวิชาที่มีต้นทุนสูง และเด็กที่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลมีโอกาสที่จะเข้าถึงวิชาดังกล่าวได้น้อยมาก แพลตฟอร์มนี้จะเข้ามาตอบโจทย์ช่วยส่งเสริมให้เยาวชนไทยมีโอกาสเข้าถึงและพัฒนาศักยภาพด้านดนตรีได้มากขึ้น โดยโรงเรียนต้นสังกัดจะต้องคัดเลือกเด็กที่มีความสนใจด้านดนตรีเข้าร่วมเรียนผ่านเว็บบราวเซอร์ไปพร้อมกับเด็กที่เข้ามาเรียนในสถาบันดนตรีของบริษัท เดอะกู้ดเชฟเพิร์ด ซึ่งแบ่งที่นั่งสำหรับเด็กนักเรียนในต่างจังหวัดประมาณ 2 ที่นั่ง/1ห้องเรียน และหากมีข้อสงสัยก็สามารถสอบถามอาจารย์ได้ทันทีในระหว่างเรียน 

สำหรับการเปิดใช้งานแพลตฟอร์มในระยะแรกจะสอนเฉพาะรายวิชาดนตรีให้แก่นักเรียนในพื้นที่อ.ชาติตระการ จ.พิษณุโลก เป็นที่แรกก่อน และจะกระจายไปยังพื้นที่อื่นในช่วงเดือนกันยายน 2564 อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการสร้างโอกาสทางการเรียนรู้ที่ยั่งยืนให้แก่เด็ก ทางบริษัทยังได้ทำรูปแบบการแบ่งปันคอร์สเรียนจากเด็กที่มีฐานะดีไปยังเด็กในพื้นที่ห่างไกลภายใต้แนวคิดซื้อ 1 คอร์สเท่ากับบริจาค 1 คอร์ส ซึ่งแนวคิดนี้จะช่วยให้เด็กในพื้นที่ห่างไกลเข้าถึงการเรียนรู้ได้ต่อเนื่องมากขึ้น

“นวัตกรรมหรือเทคโนโลยีเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยสำคัญที่จะเข้ามาลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในด้านต่าง ๆ ให้แก่ระบบการศึกษาไทย NIA จึงมุ่งที่จะส่งเสริมและสร้างนวัตกรรมหรือแพลตฟอร์มด้านการศึกษาเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ให้กับเยาวชน และเพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้กลุ่มนักเรียน นักศึกษา ได้เข้าถึงการเรียนการสอนได้อย่างเท่าเทียม โดยนอกจากการส่งเสริมและสนับสนุนการสร้างสรรค์นวัตกรรมหรือแพลตฟอร์มต่างๆ ที่จะเข้ามาช่วยลดปัญหาความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาแล้ว NIA ยังมีแนวคิดที่จะกระตุ้นต่อมความเป็นนวัตกรให้แก่เยาวชนไทยร่วมด้วย เพราะ NIA เชื่อว่าการที่ประเทศสามารถปลูกฝังความเป็นนวัตกรในตัวเยาวชนได้จะทำให้หลุดพ้นจากความเหลื่อมล้ำในมิติต่าง ๆ ได้ในอนาคต” พันธุ์อาจ กล่าวทิ้งท้าย