'สอวช.- UNDP' เปิดตัว Accelarator Lab ในประเทศไทย

'สอวช.- UNDP' เปิดตัว Accelarator Lab ในประเทศไทย

สอวช. ร่วมเวที UNDP เปิดตัว Accelarator Lab ในประเทศไทย พร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วน โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการเร่งหาทางออกต่อความท้าทายให้ได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs ในปี 2573

162445757588

กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. ร่วมบรรยายในการเปิดตัว Accelerator Lab ประจำประเทศไทย ผ่านระบบออนไลน์ที่จัดขึ้นโดยโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย หรือ UNDP Thailand ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายการเรียนรู้ระดับโลก และมีการทำงานร่วมกับ Accelerator Lab อีกมากกว่า 90 แห่งใน 115 ประเทศ ที่ตั้งอยู่เกือบทุกภูมิภาคทั่วโลก โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญคือการเร่งหาทางออกต่อความท้าทายให้ได้ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs

บทบาทหน้าที่ของ Accelerator Labs จะทำงานร่วมกับพันธมิตรและภาคส่วนในระดับประเทศเพื่อจัดการกับความท้าทายด้านการพัฒนาที่ซับซ้อนขึ้นในปัจจุบัน สำหรับประเทศไทยมีระบบนิเวศนวัตกรรมที่สมบูรณ์และมีพลัง โดยเฉพาะการมีส่วนร่วมทั้งจากภาครัฐ ภาคเอกชน ส่วนการศึกษาและภาคประชาสังคม มีการนำนวัตกรรมมาใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจและสังคมในหลายด้าน เช่น การจัดตั้ง Thailand Policy Lab ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ (NESDC) และ UNDP เพื่อเร่งสร้างนวัตกรรมในภาครัฐ ซึ่ง Accelerator Lab จะทำงานอย่างใกล้ชิดกับ Thailand Policy Lab เพื่อนำการทดลองและหลักฐานมาช่วยในการกำหนดนโยบาย และทำต้นแบบแนวทางการแก้ปัญหาจากข้อมูลพฤติกรรมเชิงลึก วิทยาศาสตร์ข้อมูล วิธีการทางชาติพันธุ์วิทยา และการใช้แนวคิดเชิงนวัตกรรมแบบต่างๆ ร่วมหาทางออกให้กับปัญหาต่างๆ ที่สอดคล้องกับวาระการพัฒนาในศตวรรษที่ 21

162445759110

กิติพงค์ กล่าวว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นผลกระทบที่ไม่คาดคิดที่สร้างความท้าทายให้กับเราทุกคนว่าจะสามารถบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี 2573 ตามแผนเดิมได้หรือไม่ และเนื่องจาก ฐานวิถีชีวิตใหม่หลังโควิด-19 หรือ วิถีชีวิตแบบนิวนอร์มัล ที่นำไปสู่กฎเกณฑ์ใหม่ ประเทศต่างๆ ทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยจึงต้องหันกลับมาพิจารณาทบทวนแผนการพัฒนาเพื่อการฟื้นฟูและการเติบโตของประเทศ และในการพัฒนาควรนำไปสู่โอกาสใหม่ๆ ในการเติบโต ซึ่งแน่นอนว่าควรจะเป็นการเติบโตที่ครอบคลุม โดยไม่ควรลืมกลุ่มคนที่อยู่ฐานล่างของพีระมิด การขจัดความยากจนจึงถือเป็นหนึ่งในเป้าหมายที่สำคัญที่สุดของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เราจะไม่สามารถบรรลุเป้าหมายอื่นได้ หากยังคงมีประชากรที่ยากจน มีชีวิตอยู่ด้วยความหิวโหยและสุขภาพที่ย่ำแย่

ผลการสำรวจล่าสุดจากสภาพัฒน์ แสดงให้เห็นว่าจำนวนคนยากจนในประเทศไทยมีทั้งหมด 983,316 คน (ผลสำรวจ TP map, 2019) การเกิดขึ้นของ Accelerator Lab จะเข้ามาช่วยหาแนวทางนำคนเหล่านี้ออกจากความยากจนได้ อาจเริ่มต้นดำเนินการจาก 10 จังหวัดนำร่องที่ยากจนที่สุดในประเทศไทยให้สำเร็จภายใน 5 ปีข้างหน้า ซึ่ง สอวช. มีการทำงานทั้งในด้านนโยบาย ยุทธศาสตร์ ด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 13 ที่มีหนึ่งในเป้าหมายคือการใช้ อววน. โดยเฉพาะนวัตกรรม ในการช่วยเหลือการขจัดความยากจนด้วย

นอกจากนี้ประเทศไทยยังตั้งเป้าหมายที่จะหลุดพ้นจากกับดักประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ด้วยการเปลี่ยนแปลงประเทศให้มุ่งเน้นขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยนวัตกรรม รวมถึงหาแนวทางเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรและผู้ประกอบการ ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม เพื่อให้สามารถเข้าถึงความต้องการและโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องมีบทบาท ในการร่วมกันจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยให้นวัตกรรมใหม่สามารถเติบโตได้

"อีกประเด็นหนึ่งที่อยากจะมุ่งเน้นคือปัญหาสิ่งแลดล้อมที่ได้รับความสนใจในระดับสากลมากขึ้น ประเทศไทยต้องเร่งการลดของเสียให้เหลือน้อยที่สุดและส่งเสริมการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าเพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียน จุดมุ่งหมายคือลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติลง 1 ใน 4 ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลง 25% ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องสนับสนุนให้เกิดการทำงานร่วมกัน เพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นไม่มีพรมแดน ทั้งยังส่งผลกระทบในระยะยาวต่อคุณภาพชีวิตของทุกคน สิ่งสุดท้ายที่สำคัญคือต้องไม่ลืมทุนมนุษย์ ต้องทำให้คนรุ่นใหม่ได้มีทักษะที่ถูกต้อง เหมาะสม ทั้งด้านเทคนิค และสมรรถนะเพื่อให้สอดคล้องกับอาชีพทั้งในศตวรรษที่ 21 และในอนาคต โดยเฉพาะกลุ่มสตรีและผู้ด้อยโอกาส ต้องทำให้แน่ใจว่าเราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง"

162445760437

กิติพงค์ กล่าวต่อไปว่า ควรมีการสนับสนุนคนที่เก่งและมีความสามารถ ด้วยการสร้างสภาพแวดล้อม ระบบนิเวศ สำหรับกลุ่มคนเหล่านี้ ให้สามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานที่ต่างๆ หรือทำงานที่ไหนก็ได้ในโลก เพื่อให้เราทุกคนได้รับประโยชน์ร่วมกันทั้งหมด และ Accelerator Lab นี้จะมีบทบาทสำคัญมากที่จะเชื่อมโยงการทำงานร่วมกัน เพื่อเร่งกระบวนการในการพัฒนาและฟื้นฟูจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะในด้านนโยบาย ที่ต้องมีการประสานงาน การกำหนดนโยบาย รวมทั้งการออกแบบกลไกในการสร้างระบบนิเวศที่ดีสำหรับนักนวัตกรรมสังคมในการทำงานร่วมกัน สร้างพื้นที่ในการปลดปล่อยความคิดสร้างสรรค์ของผู้กำหนดนโยบาย นักวิทยาศาสตร์ และนักนวัตกรรมทางสังคม เพื่อให้พวกเขารู้สึกถึงพลังของวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ซึ่งเป็นกุญแจที่จะเอาชนะความซับซ้อนของความท้าทายในปัจจุบัน และทำให้เกิดความก้าวหน้าที่รวดเร็วในการบรรลุตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

กิจกรรมในครั้งนี้ยังมีการนำเสนอวิธีการทำงานของ UNDP Accelerator Lab ในประเทศไทย อีกทั้งยังมีวงเสวนาแลกเปลี่ยนในหัวข้อ การใช้นวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นสังคมที่มีความยั่งยืนและตอบโจทย์ต่อคนทุกกลุ่ม รวมถึงสะท้อนมุมมองประเด็นก้าวต่อไปของนวัตกรรมในประเทศไทยอีกด้วย