การบริหารจัดการโควิด บทพิสูจน์ 'ความพร้อม' การบูรณาการภาครัฐ และระบบ Single Command

การบริหารจัดการโควิด บทพิสูจน์ 'ความพร้อม' การบูรณาการภาครัฐ และระบบ Single Command

การบูรณาการของภาครัฐ มี “ความพร้อม” มากน้อยแค่ไหน พิสูจน์ได้จากการบริหารจัดการ "โควิด-19" โจทย์ยากของ “ผู้บัญชาการเหตุการณ์” ในการบริหารวิกฤตการณ์

สถานการณ์โควิด-19 ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมาถือว่ารุนแรง สาหัสสำหรับประชาชนชาวไทย ส่งผลกระทบเต็มๆ ต่อ การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ตัวเลขผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากและยังไม่มีแนวโน้มจะลดลงจนถึงปัจจุบัน ประกอบกับการเกิดขึ้นของคลัสเตอร์ต่างๆ ที่มีอัตราผู้ติดเชื้อเป็นจำนวนมาก และกระจายไปไม่ใช่แค่เพียงกรุงเทพมหานคร แต่กลับกลายเป็นทุกจังหวัดทั่วประเทศ ยิ่งไปกว่านั้นการค้นพบโควิด 19 สายพันธุ์ใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นอินเดียหรือแอฟริกา ยิ่งทำให้กระแสความตื่นตระหนกกระหน่ำให้ทุกอย่างดูเลวร้ายลงไปอีก ในสถานการณ์เช่นนี้ ความรู้ทางด้านการบริหารวิกฤตการณ์ (Crisis Management) เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้รับผิดชอบจะต้องนำมาใช้คลี่คลายสถานการณ์

หัวใจสำคัญที่สุดในการบริหารวิกฤตการณ์ก็คือ “การสั่งการ” ในตำราของต่างประเทศ หรือของไทยที่แปลมาใช้กันอยู่จะเน้นที่การบังคับบัญชาสั่งการ ตำแหน่งสำคัญสูงสุดคือ “ผู้บัญชาการเหตุการณ์” หรือ “On-scene Commander” ซึ่งจะมาจากตำแหน่งใหญ่เล็กขึ้นอยู่กับลักษณะและขนาดของเหตุการณ์ แต่จะเป็นคนที่มีอำนาจและสิทธิขาดในการตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว และมีกฏหมายต่างๆ ออกมารองรับการตัดสินใจของผู้บัญชาการเหตุการณ์คนนี้ วัตถุประสงค์เพื่อจัดการคลี่คลายปัญหาที่เกิดขึ้นให้เร็วและมีเอกภาพที่สุด

แน่นอนว่าในทุกๆ สถานการณ์ จะไม่มีหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งมีความพร้อมสมบูรณ์ที่จะจัดการทุกเรื่องได้ การแก้ไขปัญหาต่างๆ จะต้องใช้การบูรณาการจากทุกภาคส่วน ดังนั้นเพื่อไม่ให้เกิดการสับสน จึงต้องมีการมอบหมายแต่งตั้ง ผู้บัญชาการเหตุการณ์ หนึ่งคนเป็นผู้รับผิดชอบสั่งการทุกส่วนราชการหรือผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ ตามแนวทางที่เรียกว่า “Single Command” ไม่ว่าเจ้าหน้าที่ อุปกรณ์ ยานพาหนะ อาคารสถานที่จะมาจากสังกัดไหน แต่หากเกี่ยวข้องกับการคลี่คลายสถานการณ์วิกฤติที่เกิดขึ้น ทุกคนทุกสิ่งทุกระบบจะต้องรับฟังคำสั่งของผู้บัญชาการเหตุการณ์เท่านั้น เพื่อความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ลดความซ้ำซ้อนยุ่งยากในสายการบังคับบัญชาและที่สำคัญคือสร้างการบูรณาการในการทำงานให้เกิดขึ้น

ระบบการบูรณาการข้อมูลภาครัฐ

ที่ผ่านมา เราเคยได้คุยกันเรื่องของ Big Data หรือข้อมูลต่างๆ ที่รัฐบาลมีนโยบายที่จะรวบรวมไว้ในที่เดียวกัน และใช้ระบบ AI หรือ Data Analytics ในการบริหารจัดการ ให้เกิดเอกภาพในการบูรณาการข้อมูลและการวิเคราะห์ประมวลผลที่มีประสิทธิภาพ มีข้อมูลและตัวเลขที่ชี้ชัดได้ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ จนสิ้นสุดกระบวนการ

อีกทั้งยังใช้ในการวางแผนและปรับปรุงการทำงานของภาครัฐในการบริหารและแก้ไขปัญหาต่างๆ ได้ในอนาคต หากระบบ Big Data หรือการบูรณาการข้อมูลภาครัฐสำเร็จก่อนที่จะมีสถานการณ์โควิด 19 เชื่อว่าการแก้ไขจะรวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากกว่านี้หลายเท่า ยิ่งถ้าได้ใช้ Big Dataประกอบกับมาตรการการบริหารวิกฤติการณ์แบบ Single Command การดำเนินการ ข้อมูลประกอบการตัดสินใจ และคำสั่งที่ออกไปคงจะรวดเร็วมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

ถ้าเราจะลองใช้ปัญหาโควิด-19 เป็นตัวตั้ง และศึกษาวิธีการแก้ไขปัญหาของเราที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า แนวทางการบริหารสถานการณ์โควิด 19 เรายังขาดการบูรณาการ การบริหารจัดการไม่สามารถทำได้อย่างเป็นระบบ ขาดเอกภาพในการควบคุมและสั่งการ ไม่สามารถควบคุมและกำกับหน่วยงานต่างๆ ที่กระจัดกระจายกันทำหน้าที่ ข้อมูลข่าวสารที่ออกมายังสาธารณะไม่เป็นในทิศทางเดียวกัน

ทั้งๆ ที่ทุกภาคส่วนมีเจตนาดีในการที่จะคลี่คลายปัญหาและช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างเร็วที่สุด แต่เนื่องจากบริบท ขอบเขตหน้าที่ ตลอดจนประสบการณ์ในการทำงานในแต่ละสาขาวิชาชีพ ทำให้การมองปัญหาและแก้ไขปัญหามีแนวทางที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ไม่นับรวมกฎระเบียบที่กำหนดไว้ให้แต่ละหน่วยมีขอบเขตในการทำงานที่จำกัดอีกด้วย

บทเรียนจากการบริหารจัดการสถานการณ์โควิด 19 กับมาตรฐานสากล

หัวใจสำคัญของการบริหารจัดการกับสถานการณ์ฉุกเฉินที่นิยมใช้และเป็นที่ยอมรับกันทั่วโลกจะต้องคำนึงถึงปัจจัยหลักเบื้องต้น 3 ประการได้แก่ 1. Command 2. Control และ 3. Communications แปลตรงตัวก็คือ การออกคำสั่ง การควบคุม และ การสื่อสาร ทฤษฎีนี้เป็นทฤษฎีที่กำเนิดขึ้นในตำราทางทหารเพื่อสร้างกระบวนการในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ และทรัพยากรต่างๆ ที่มีอยู่ให้ใช้งานได้ประโยชน์ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการตอบโต้ต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

ต่อมาเมื่อโลกรู้จักกับเทคโนโลยี จึงนำ C อีกหนึ่งตัวมาใช้เพื่ออำนวยความสะดวกนั่นก็คือ Computer เมื่อ C ตัวที่ 4 คือ ระบบ Computer ถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการสถานการณ์การทำงานต่างๆ จึงเกิดการบูรณาการและเป็นระบบมากขึ้น และด้วยศักยภาพของ Computer ทำให้การหลั่งไหลของข้อมูลเกิดขึ้นอย่างมหาศาล นักบริหาร นักยุทธการจึงนำ I หรือ Information เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหัวใจในการบริหารจัดการเหตุการณ์หรือสถานการณ์ขนาดใหญ่ที่ในวงการเรียกระบบนี้ว่า C4I ซึ่งเป็นคำที่คุ้นเคยและน่าจะเป็นแบบอย่างที่มีการฝึกอยู่เป็นประจำโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับหน่วยงานด้านความมั่นคง

ดังนั้นการที่รัฐบาลมอบหมายให้เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นผู้บริหารจัดการสถานการณ์โควิด 19 ครั้งนี้ จึงน่าจะเป็นเพราะความเหมาะสมและความเชี่ยวชาญในหลักการ C4I ที่ได้กล่าวมาแล้ว ถึงแม้ว่าจากสภาพการณ์ที่เห็นอาจจะยังดูไม่เนียนตา และยังมีความสับสนในหลายๆ เรื่อง ทั้งเรื่องของสายการบังคับบัญชาระหว่างรัฐบาลกับกรุงเทพมหานคร การประสานงานระหว่าง ศบค. กับกระทรวงทบวงกรมต่างๆ หรือการสื่อสารกับประชาชน ตลอดจนการรวบรวมและนำข้อมูลข่าวสารมาใช้ประโยชน์

แต่หากเรานำเรื่องต่างๆ เหล่านี้มาเป็นบทเรียนและสร้างการทำงานโดยใช้ระบบ C4I ขึ้นมาอย่างเป็นรูปธรรม เชื่อแน่ว่าการบริหารจัดการวิกฤติการณ์ต่างๆ ของชาติในอนาคตจะมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นอย่างแน่นอน สุดท้าย เราจะชนะไปด้วยกัน จริงๆ เสียที