‘เทคซอส’ ปักหมุด สตาร์ทอัพไทยเต็งหนึ่งอาเซียน

‘เทคซอส’ ปักหมุด สตาร์ทอัพไทยเต็งหนึ่งอาเซียน

กว่า 10 ปีที่เทคซอส (Techsauce) ได้ผลิตคอนเทนท์เพื่อวงการเทคโนโลยีในโลกธุรกิจ ครอบคลุมทั้งในไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ทั้งยังมีส่วนสำคัญในการวางรากฐานให้กับ “เทคอีโคซิสเต็ม” ของไทย มาวันนี้ได้ยกระดับสู่ Tech Knowledge Sharing Platform

162186154053

อรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด กล่าวว่า ปัจจุบันเทคสตาร์ทอัพในไทยมีการระดมทุนรวมสูงถึง 845.268 ล้านดอลลาร์ (ปี 2555-2564) แม้จะไม่มากเมื่อเทียบกับสิงคโปร์และอินโดนีเซีย แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้มีโอกาสเติบโต ส่วนยอดระดมทุนปีที่ผ่านมาประมาณ 364.37 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ จำนวนดีลอาจไม่มาก แต่มีหลายดีลที่น่าสนใจและสะท้อนให้เห็นว่า ส่วนใหญ่ที่มีการระดมทุนจะเป็นระดับ Growth Stage ส่วนกลุ่ม Early Stage หรือระยะเริ่มต้นธุรกิจอาจจะยังมีไม่มาก เนื่องด้วยสถานการณ์วิกฤติที่เข้ามาและส่งผลกระทบ

ภาคธุรกิจที่มีการระดมทุนสูงสุดในแง่ของจำนวนบริษัทเมื่อปีที่ผ่านมาคือ ภาคธุรกิจทางด้านฟินเทค เช่น เพย์เมนท์เกตเวย์ ที่ได้รับอานิสงส์จากอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม กลุ่ม wealth management หุ้น หรือการลงทุนรูปแบบใหม่อย่างคริปโตเคอเรนซี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโลจิสติกส์ และแพลตฟอร์มที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ ขณะเดียวกันโควิดยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้ภาคธุรกิจอย่างเฮลท์แคร์ และเทคโนโลยีด้านการศึกษาทำการระดมทุนอีกหลายราย ส่วนสตาร์ทอัพทางด้านอาหารและการเกษตร ปัจจุบันเริ่มมี accelerator ภาครัฐ และหลากหลายองค์กรเข้ามาสนับสนุนเช่นกัน

ต้องคิดให้ไกลกว่าแค่ในประเทศ

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพไทยประสบความสำเร็จ คีย์สำคัญจะเป็นเรื่องของโมเดลธุรกิจและมายด์เซ็ตตั้งแต่เริ่มต้น ที่จะคิดเฉพาะในประเทศไทยไม่ได้อีกต่อไป เพราะทุกวันนี้เกิดโลกาภิวัตน์ การทำตลาดในไทยใหญ่ไม่พออีกต่อไป ฉะนั้น สตาร์ทอัพหลายรายที่มีโอกาสระดมทุนในระดับภูมิภาคส่วนใหญ่ จะเป็นบริษัทที่มีความพร้อมและคิดโมเดลธุรกิจได้ตั้งแต่วันแรกที่จะขยายไปในระดับภูมิภาค แต่เริ่มแรกอาจจะต้องพิชิตตลาดไทยให้ได้ และต้องเป็นผู้เล่นเบอร์ต้นๆ ด้วย 

162186166515

ขณะเดียวกัน การที่ประเทศไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางเทคสตาร์ทอัพได้นั้น จะเห็นได้ว่าทางฝั่งภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญในการสนับสนุนโดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศอย่างเช่น โครงสร้างพื้นฐาน อย่างสมาร์ทซิตี้ หรือแม้กระทั่งกลุ่มที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงด้านอาหารและการเกษตร จึงต้องโฟกัสว่าอะไรคือจุดแข็งของประเทศ และมุ่งโฟกัสไปตรงนั้น จะทำให้เกิดการปรับแก้เรื่องของกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยมี Incentive ที่ดีขึ้น 

ในขณะเดียวกันจะมีนักลงทุนที่พยายามจะสนับสนุน อาทิ 500tuktuks ช่วยเหลือสตาร์ทอัพกลุ่ม early stage จากปัจจัยขับเคลื่อนต่างๆ นี้คาดว่าจะมีสตาร์ทอัพของไทยที่ก้าวสู่ระดับยูนิคอร์นได้ภายในปลายปีนี้

อรนุช กล่าวต่อไปว่า แนวโน้มสถานการณ์การลงทุนสตาร์ทอัพไทยในปีนี้และเซกเตอร์ที่นักลงทุนยังสนใจ ซึ่งตอนนี้ดีลที่มีการเปิดเผยข้อมูลอยู่ที่ไม่ต่ำกว่า 24.2 ล้านดอลลาร์ มีรายที่สตาร์ทอัพเปิดเผยว่าได้ระดมทุนแล้วทั้งหมด 13 บริษัท แต่ความน่าสนใจคือไม่มีอุตสาหกรรมไหนที่โดดขึ้นมา อาทิ การศึกษา การเกษตร ประกันภัย 2 บริษัท สายพลังงาน สายอีวี ดีพเทค อย่างด้านเอไอ และคริปโตฯ ทำให้เห็นว่าประเทศไทยมีทาเล้นจ์อยู่หลายราย

"เราไม่สามารถประสบความสำเร็จหากเทคอีโคซิสเต็มของไทยยังไม่ประสบความสำเร็จ คีย์สำคัญคือมองว่าทุกๆ ดีล เป็นผู้วางรากฐานที่ช่วยให้พวกเขามีโอกาสเจอนักลงทุน เพราะฉะนั้น ยอดระดมทุนเป็นเป้าหมายสำคัญ หากมากขึ้นเท่าไรก็จะสามารถสะท้อนกลับมาที่ความสำเร็จของการสร้างอีโคซิสเต็มนี้ด้วย”

สาย ‘อีคอมเมิร์ซ’ ยังคงมาแรง

อรนุช กล่าวต่อไปว่า เทคซอสมีแผนการขยายกิจการในต่างประเทศเช่นกัน แต่เมื่อมีโควิดจึงชะลอโปรเจคและต้องดูสถานการณ์ในช่วง 1-2 ปีนี้ แต่หลังจากที่มีการฉีดวัคซีน หากสร้างภูมิคุ้มกันและมีการเดินทางได้ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดว่ามีแพลนจะขยายไปที่สิงคโปร์เพื่อหาผู้เล่นรายใหม่เพื่อเชื่อมโยงกับประเทศไทย

162186168470

ส่วนภาคธุรกิจที่กำลังได้รับการจับตามอง คือ 1.สตาร์ทอัพด้านอาหารและการเกษตร ที่ต้องทำ collaboration กับมหาวิทยาลัย และคอร์ปอเรท เพราะต้องใช้การวิจัยและพัฒนาเข้ามาช่วย 2.สตาร์ทอัพสายการศึกษาที่เติบโตขึ้นจากการอัพสกิล รีสกิล 3.สตาร์ทอัพสายเฮลท์แคร์ ที่ตอบโจทย์สังคมสูงวัย และเศรษฐกิจสูงวัยที่เป็นเชิงลึกมากขึ้น อาทิ การวิเคราะห์ดีเอ็นเอ การทำอวัยวะเทียม

และเมื่อถามถึงจุดแข็งสตาร์ทอัพไทย อรนุช ชี้ว่า สตาร์ทอัพในประเทศไทยส่วนใหญ่ที่ระดมทุนได้จะเป็น B2B หรือ B2B2C มีรายได้มาจากฝั่งธุรกิจ และทำพาร์ทเนอร์ชิพกับคอร์ปอเรท ซึ่งส่วนใหญ่จะมาจาก 1.ผู้ก่อตั้งอาจจะเคยทำงานในคอร์ปอเรทมาก่อนมีความรู้ความเข้าใจที่ดีและการนำเอาข้อมูลมาทำการวิเคราะห์และพัฒนาออกมาจะเห็นมากในสายฟินเทค 2.ครอบครัวมีธุรกิจส่วนตัว ซึ่งจะมีความเข้าใจในเรื่องนั้นอย่างดีและมองเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าในการตลาดของตนเอง ดังนั้นจะสามารถพัฒนาต่อยอดนำเทคโนโลยีมาเสริมเพื่อสปินออฟให้เกิดนิวเอสเคิร์บได้ ทั้งหมดนี้จึงถือเป็นจุดแข็งของสตาร์ทอัพในประเทศไทย