รู้ไว้ไตแข็งแรง! สวทช.ชู 'เครื่องล้างไต' ทางช่องท้องอัตโนมัติ ชงสู่เชิงพาณิชย์

รู้ไว้ไตแข็งแรง! สวทช.ชู 'เครื่องล้างไต' ทางช่องท้องอัตโนมัติ ชงสู่เชิงพาณิชย์

นักวิจัย สวทช.พัฒนา “เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ” ช่วยให้ผู้ป่วยล้างไตใช้งานได้สะดวกมากขึ้น ใช้ได้ทุกเวลารวมถึงเวลานอน ตั้งเป้าลดค่าใช้จ่ายผู้ป่วยล้างไตสอดรับนโยบาย สปสช.

รู้ไว้ไตแข็งแรง

สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จัดงานการประชุมวิชาการประจำปี หรือ NAC 2021 ในรูปแบบออนไลน์ ภายใต้แนวคิด “30 ปี สวทช. ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ผ่านทางเว็บไซต์ www.nstda.or.th/nac ที่มีการสัมมนาในหัวข้อ “รู้ไว้ไตแข็งแรง ป้องกันและรับมือโรคไตเรื้อรังอย่างถูกวิธี” 

161711445044

โดย ดร.เดโช สุรางค์ศรีรัฐ นักวิจัยศูนย์วิจัยเทคโนโลยีสิ่งอำนวยความสะดวกและเครื่องมือแพทย์ หรือ A-MED  สวทช. เปิดเผยในการสัมมนาว่า ทีมวิจัยเล็งเห็นถึงความสำคัญของผู้ป่วยโรคไต โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังที่จำเป็นต้องมีการล้างไตหรือการฟอกเลือด ซึ่งมีข้อจำกัดคือต้องเดินทางไปยังสถานพยาบาลและใช้ระยะเวลาในการล้างไตเป็นเวลานาน

จึงเริ่มโครงการ “พัฒนาเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ” (Automated Peritoneal Dialysis Machine) มีจุดประสงค์เพื่อทำให้เครื่องล้างไตมีความสะดวกในการใช้งานมากขึ้น และลดค่าใช้จ่ายในการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงการใช้งานได้มากขึ้น

เพิ่มประสิทธิภาพการล้างไต

การล้างไตทางช่องท้องเดิมผู้ป่วยต้องล้างไตวันละ 3-4 ครั้ง ซึ่งอาจไม่ได้รับความสะดวก เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติที่ทีมวิจัย สวทช. พัฒนามีระบบควบคุมการแลกเปลี่ยนน้ำยาล้างไตแบบอัตโนมัติ สามารถทำงานอัตโนมัติในตอนกลางคืนในช่วงระหว่างนอนได้ โดยผู้ป่วยต่อสายเพียงครั้งเดียวก่อนนอน ทำให้ล้างไตได้สะดวกยิ่งขึ้นและสามารถใช้เวลาช่วงกลางวันในการเรียนหรือทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้

ดร.เดโช ระบุว่า ปัจจุบันทีมวิจัยพัฒนาเครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติเป็นรุ่นที่ 3 เพื่อขึ้นทะเบียนเครื่องมือแพทย์จากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.  โดยเป็นการพัฒนาต่อยอดจากเครื่องรุ่นที่ 2 ที่ผ่านการทดสอบมาตรฐานทางไฟฟ้าที่เกี่ยวข้องกับเครื่องล้างไตทางช่องท้องจากศูนย์ทดสอบผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ (PTEC) และผ่านการทดลองในคนระดับนำร่องซึ่งร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

161711446145

โดยเครื่องรุ่นที่ 3 นี้ได้มีการพัฒนาเพิ่มเติมให้มีระบบนำส่งและระบายน้ำยาที่มีประสิทธิภาพและมีระบบควบคุมอุณหภูมิน้ำยาล้างไต รวมถึงเพิ่มการเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันโทรศัพท์มือถือและระบบออนไลน์สามารถรายงานผลไปยังแพทย์ได้ทันที โดยทีมวิจัยพร้อมร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อพัฒนารูปแบบการทำธุรกิจที่จะช่วยให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงเครื่องล้างไตแบบอัตโนมัติได้มากที่สุด

ประเทศไทยมีผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังร้อยละ 17.5 ของประชากร และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี โดยค่าใช้จ่ายสำหรับผู้ป่วยไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย (ESRD) อย่างน้อย 200,000 บาทต่อคนต่อปี ที่ผ่านมาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ สปสช. ได้ดำเนินนโยบายล้างไตผ่านช่องท้องเป็นทางเลือกแรก (PD First) ตั้งแต่ปี พ.ศ.2551 ปัจจุบัน สปสช.อยู่ระหว่างดำเนินโครงการนำร่องทดสอบการใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องอัตโนมัติ (APD) มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้ป่วยที่ต้องล้างไตมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นและลดค่าใช้จ่ายเมื่อเทียบกับการล้างไตทางช่องท้องแบบเดิม คาดว่าในอนาคตจะมีความต้องการใช้เครื่องล้างไตทางช่องท้องแบบอัตโนมัติมากขึ้น