แอนท์กรุ๊ป ชี้ ‘ฟินเทค’ เขย่าโลกการเงินหลังวิกฤติโควิด

แอนท์กรุ๊ป ชี้ ‘ฟินเทค’ เขย่าโลกการเงินหลังวิกฤติโควิด

‘แอนท์กรุ๊ป’ เผยนวัตกรรมฟินเทคจะมีบทบาทสำคัญในโลกการเงินยุคหลังวิกฤติโควิด ชี้ผู้ให้บริการทางการเงินต้องปรับตัวดึงเทคโนโลยีเสริมแกร่ง ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการที่จะมีจำนวนเพิ่มขึ้น ระบุโลกควรใช้ประโยชน์ฟินเทค เพิ่มโอกาสเข้าถึงการเงิน ลดเหลื่อมล้ำเศรษฐกิจ

นายซิงจุน นี ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีของแอนท์ กรุ๊ป กล่าวว่า นอกจากชีวิตประจำวันของคนที่ย้ายไปสู่โลกออนไลน์มากขึ้น ความต้องการบริการด้านการเงินดิจิทัลและบริการเทคโนโลยีการเงินรูปแบบอื่นๆ ก็เพิ่มขึ้นด้วย ชีวิตวิถีใหม่ที่เป็นผลจากการแพร่ระบาดก่อให้เกิดโอกาสมากมาย รวมถึงการเข้ามามีบทบาทของอุตสาหกรรมฟินเทค

ขณะที่ทั่วโลกเริ่มฟื้นตัวจากผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการแพร่ระบาด จึงต้องแน่ใจว่านวัตกรรมฟินเทคมุ่งช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด รวมทั้งแก้ไขปัญหาสำคัญที่เกี่ยวข้อง โดยมุ่งเน้นภารกิจสำคัญ 2-3 เรื่อง ซึ่งมีเป้าหมายหลักเพื่อให้บริการแก่ผู้ใช้ที่มีจำนวนมากขึ้น และกระตุ้นการปรับใช้เทคโนโลยีในวงกว้าง

“สิ่งสำคัญที่สุด คือ หลังการแพร่ระบาด โลกควรใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมฟินเทค เพื่อส่งเสริมโอกาสเข้าถึงบริการทางการเงิน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ ซึ่งกลายเป็นปัญหาที่รุนแรงเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาด"

เขา กล่าวว่า วิกฤติโควิดส่งผลให้มีการปรับใช้โซลูชั่นดิจิทัลกันอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง แม้กระทั่งในประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในพื้นที่ชนบท เพราะความจำเป็นในการใช้ช่องทางดิจิทัลเพื่อเข้าถึงบริการธนาคารในช่วงการบังคับใช้มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคมอย่างเข้มงวด โดยเชื่อว่าปี 2564 จะมีการบูรณาการมากขึ้นระหว่างระบบการเงินดิจิทัลและระบบเศรษฐกิจที่แท้จริง ธนาคารและสถาบันการเงินจำเป็นต้องเปลี่ยนการให้บริการจากรูปแบบออฟไลน์ไปสู่ออนไลน์ เพื่อตอบสนองต่อพฤติกรรมของผู้บริโภคที่หันไปใช้ช่องทางดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น

เมื่อเดือนธันวาคม 2563 ธนาคารกลางสิงคโปร์ออกใบอนุญาตการดำเนินธุรกิจธนาคารดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบแก่ผู้ประกอบการ 4 ราย ซึ่งนับเป็นครั้งแรกที่มีการออกใบอนุญาตดังกล่าวในประเทศสิงคโปร์ และนั่นหมายความว่าผู้ประกอบการที่ไม่ใช่ธนาคารจะสามารถจัดหาบริการที่เหมือนธนาคารได้เช่นกัน ทั้งนี้เป็นที่คาดการณ์ว่าธุรกิจดังกล่าวจะมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานที่ต่ำกว่า และจะได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก

การเงินสีเขียว (Green Finance) เป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในประเทศต่างๆ ทั่วโลก เพราะเป็นหนทางหนึ่งที่จะช่วยตอบสนองความต้องการด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมควบคู่กับการดำเนินธุรกิจแนวทุนนิยม โดยฟินเทคจะมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนการสร้างสรรค์นวัตกรรมสีเขียวเพื่อแก้ไขปัญหาสภาวะโลกร้อนอย่างยั่งยืน

ผลการศึกษาที่ดำเนินการร่วมกันโดยสถาบัน Paulson Institute และมหาวิทยาลัยชิงหวา ระบุว่า จีนมีบทบาทเป็นผู้นำในการทดสอบนวัตกรรมด้านการเงินสีเขียวที่ขับเคลื่อนด้วยฟินเทค รวมถึงโครงการพัฒนาที่ยั่งยืน และการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

แพลตฟอร์มการเงินดิจิทัลซึ่งได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นทั่วโลก มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่นำไปสู่การปกป้องสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ตัวอย่างเช่น โครงการ Ant Forest ที่เปิดตัวบนแอพอาลีเพย์ (Alipay) ให้รางวัลแก่ผู้ใช้ในรูปแบบของ "คะแนนสะสมพลังงานสีเขียว" (Green Energy Points) ในแต่ละครั้งที่ผู้ใช้ดำเนินการบางอย่างเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น ขี่จักรยานไปทำงาน ลดการใช้กระดาษ และซื้อผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม คะแนนสะสมดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการปลูกต้นไม้เสมือนจริงบนแอพของผู้ใช้ ขณะที่อาลีเพย์จะให้การสนับสนุนด้วยการปลูกต้นไม้จริงหรือการคุ้มครองพื้นที่อนุรักษ์ โดยร่วมมือกับองค์กรเอ็นจีโอในท้องถิ่น

เพื่อตอกย้ำความมุ่งมั่นในการสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน แอนท์ กรุ๊ป (Ant Group) ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิให้เท่ากับศูนย์ (Carbon Neutral) ภายในปี 2573 นอกเหนือจากการจัดตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับพลังงานทางเลือกและเทคโนโลยีสีเขียวอื่นๆ แล้ว บริษัทฯ ยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรภาคอุตสาหกรรมในการส่งเสริมการเงินสีเขียวอีกด้วย

ขณะที่บริษัทต่างๆ ปรับเปลี่ยนการดำเนินงานสู่รูปแบบดิจิทัลเพิ่มมากขึ้น การเสริมสร้างความไว้วางใจต่อกันระหว่างภาคส่วนต่างๆ และส่งเสริมการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างปลอดภัยได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ

เทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain) ที่สามารถป้องกันการปลอมแปลง ถือเป็นกุญแจสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความน่าเชื่อถือในสภาพแวดล้อมดิจิทัลมากขึ้น ในปี 2563 ภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกครองสัดส่วนราว 19.3% ของยอดใช้จ่ายในเทคโนโลยีบล็อกเชนทั่วโลก โดยมีการใช้งานหลักๆ ใน 3 ด้าน ได้แก่ การค้าระหว่างประเทศ บริการธุรกรรมระหว่างประเทศและการชำระเงินหลังการซื้อขาย และการปฏิบัติตามกฎระเบียบ

การลงทุนอย่างต่อเนื่องจะช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาต่อยอดสำหรับเทคโนโลยีบล็อกเชน และนำไปสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมฟินเทคที่รองรับความร่วมมือทางด้านดิจิทัลระหว่างภาคส่วนต่างๆ เช่น ธนาคาร สถาบันการเงิน และบริษัทฟินเทค ในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

เราได้เห็นการดำเนินการดังกล่าวบน Trusple ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มบริการทางการเงินและการค้าระหว่างประเทศที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี AntChain ซึ่งพัฒนาต่อยอดจากบล็อกเชน ก่อนนี้ธนาคารต้องใช้เวลามากในการตรวจสอบติดตามและยืนยันคำสั่งซื้อสินค้าระหว่างประเทศ ทั้งยังต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่าข้อมูลไม่ได้ถูกแก้ไขปลอมแปลง โดยกระบวนการดังกล่าวต้องใช้แรงงานคนและทรัพยากรจำนวนมาก ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ธนาคารไม่สามารถเสนอสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้กับผู้ค้าระหว่างประเทศได้

ในทางกลับกัน แพลตฟอร์ม Trusple สร้าง Smart Contract หลังจากที่ผู้ซื้อและผู้ขายอัพโหลดคำสั่งซื้อไปยังแพลตฟอร์ม กระบวนการแบบอัตโนมัตินี้นอกจากจะช่วยให้ธนาคารลดขั้นตอนที่ยุ่งยาก และลดเวลาในการตรวจสอบติดตามคำสั่งซื้อในรูปแบบเดิมๆแล้ว ยังทำให้มั่นใจได้ว่าข้อมูลที่รับส่งไม่ได้ถูกแก้ไขปลอมแปลง หลังจากที่หนึ่งในธนาคารขนาดใหญ่ที่สุดของเอเชียได้ทำธุรกรรมการเงินเพื่อการค้าบนแพลตฟอร์ม Trusple เป็นครั้งแรก เราจึงเชื่อมั่นว่าเทคโนโลยีบล็อกเชนมีศักยภาพที่ดีเยี่ยมในการเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องในระบบการค้า

อุตสาหกรรมฟินเทคมีศักยภาพสูงมากในการสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อรูปแบบการทำงาน และการใช้ชีวิตของเรา ตั้งแต่การสร้างความน่าเชื่อถือด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน ไปจนถึงการขยายโอกาสการเข้าถึงบริการด้านการเงินผ่านระบบดิจิทัล ฟินเทคจะช่วยตอบโจทย์ความต้องการและแก้ไขปัญหาสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมที่เราพบเห็นทุกที่ทั่วโลก และยังช่วยสร้างสรรค์อนาคตที่ดียิ่งขึ้นในหลายปีนับจากนี้