ท็อปซีอีโอ เผยเคล็ดลับพยุงองค์กร ฝ่าวิกฤติโควิด-19

ท็อปซีอีโอ เผยเคล็ดลับพยุงองค์กร ฝ่าวิกฤติโควิด-19

“กรุงเทพธุรกิจ” ร่วมกับ “ฐานเศรษฐกิจ” เปิด Clubhouse พูดคุยกับซีอีโอองค์กรธุรกิจชั้นนำ “CEO โซเซ, Just Say So คุยกับ CEO หลังโควิดธุรกิจเอาไงต่อ” ครั้งนี้มีคนสนใจรับฟังมากกว่า 300 คน

 

  • ตั้งโจทย์ใหม่ มองระยะยาว

ศิริวัฒน์ วงศ์จารุกร ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เอ็ม เอฟ อี ซี จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็มเฟค เปิดมุมมองว่า วิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นสถานการณ์ที่บีบบังคับทำให้องค์กรธุรกิจต้องพร้อมเปลี่ยนแปลง 

ก่อนวิกฤติธุรกิจไอทีมีการเปลี่ยนแปลง 3 ส่วนคือเทคโนโลยี ลูกค้า และบุคลากร จากเดิมต้องการเปลี่ยนโดยความงงๆ เมื่อมีวิกฤติกลายเป็นความชัดเจนซึ่งต้องมีการตั้งโจทย์ใหม่และมองไปข้างหน้าระยะยาว เพื่อจัดลำดับความสำคัญการลงทุน

ปัจจุบัน ลูกค้าต้องการที่จะลงทุนให้น้อยที่สุดและได้ประสิทธิภาพมากที่สุด ต้องการของที่ราคาถูกลง ซึ่งเป็นโจทย์ของบริษัทที่จะต้องตอบโจทย์นี้ให้ได้ และหากทำได้ก็มีโอกาสรอด ทุกคนหากอยู่ในเกมเดิมคงอยู่รอดได้ยาก

สำหรับการปรับตัวที่สำคัญต้องทำให้ถูกจุด คนที่ต้องเปลี่ยนคือผู้บริการระดับสูงและระดับกลาง ไม่ใช่ระดับล่าง มีการกระจายอำนาจในการบริหารซึ่งทำให้ทุกอย่างเดินหน้าไปได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

โดยเทคโนโลยีเป็นส่วนประกอบสำคัญที่จะสร้างเอสเคิร์ฟของทุกธรกิจ ทุกวิชั่นใหม่ต้องใช้เทคโนโลยี ไม่สามารถซื้อมาได้ ขณะที่เทรนด์เทคโนโลยีในอนาคตจะเป็นไปสู่การอินทริเกชั่นเซอร์วิสของโอเพ่นซอร์สและโลว์โค้ดมากขึ้น

ที่ผ่านมา แม้จะอยู่ท่ามกลางวิกฤติ แต่เอ็มเฟคยังมีกำไรเพิ่มขึ้น ปัจจัยสำคัญมาจากความร่วมมือระหว่างกัน ต้องทำลายกำแพงเพื่อให้เกิดซีเนอร์ยีใหม่ๆ เมื่อทำได้จะเห็นชัดเจนว่าความสามารถการแข่งขันขององค์กรเพิ่มมากขึ้นแบบทันตา นับเป็นโอกาสดีของซีอีโอที่จะจูนองค์กร

 

  • ยืดหยุ่นเพิ่มโอกาสรอด

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บลูบิค กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า ทุกธุรกิจได้รับผลกระทบจากวิกฤติครั้งนี้ ในฐานะที่ปรึกษาด้านดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่น พบว่าลูกค้าทุกรายมีปัญหา มีการชะลอการลงทุน ทว่าอีกทางหนึ่งทำให้คนเปิดใจมากขึ้น ทั้งยังเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือของบริษัทซึ่งเมื่อทำได้ดีลูกค้าจะเชื่อใจมากขึ้น

ที่ผ่านมา ช่วงล็อกดาวน์บริษัทมีปัญหาการทำงานภายในองค์กรอยู่บ้างเหมือนกัน แต่ถึงแม้มีช่วงตกใจแต่ก็สามารถผ่านมาได้ และทำให้เข้าใจถึงปัญหาและได้มีการปรับเปลี่ยนวีธีการให้เข้ากับสถานการณ์ ทำให้การทำงานร่วมกันลื่นไหลเหมือนพบหน้ากันปกติ 

จากนี้ธุรกิจที่จะไปได้ดีหลังโควิดคือธุรกิจที่มีความคล่องตัวสูง เนื่องจากสถานการณ์วันข้างหน้าคาดเดาได้ยาก ไม่รู้ว่าจะมีอะไรมาท้าทายอีกบ้าง ความไม่นอนทำให้ธุรกิจต้องมีการปรับตัวทุกวัน วันนี้อาจพูดถึงเทรนด์อย่างหนึ่ง ต่อไปอาจจะเก่าไปแล้วก็ได้ การเปลี่ยนแปลงมีจำนวนมาก และเกิดขึ้นเรื่อยๆ

จากนี้คนที่สามาถปรับตัวและมีความคล่องตัวก็จะมีโอกาสรอดสูง เช่นองค์กรที่ตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้เทคโนโลยีคลาวด์ตั้งแต่ก่อนเกิดโควิด เมื่อมีปัญหาทำให้ลดค่าใช้จ่ายได้มหาศาล โมเดลที่ยืดหยุ่นจะทำให้สามารถปรับเปลี่ยนการลงทุนได้ตามความจำเป็นและการใช้งานจริง

 

  • ดึงจุดแข็ง สร้างจุดต่าง

วีรวัฒน์ องค์วาสิฏฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท วีรันดา รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การรับมืออันดับแรกคือลดต้นทุน เมื่อคลายล็อกดาวน์ เร่ิมเปิดเมือง ได้ปรับตัวมาโฟกัสไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ ของลูกค้า เพื่อจับกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศ

สำหรับวิธีการตลาดที่จัดทำเช่น การจัดทำคูปองส่วนลดราคาพิเศษต่างๆ ซึ่งขายโดยโรงแรมเองไม่ผ่านคนกลาง ด้วยราคาที่ไม่แพง พร้อมตัวเลือกที่ยืดหยุ่น สามารถเลือกห้องพักภายหลังได้ ทำให้ลูกค้ากล้าตัดสินใจ เข้าถึงได้ง่าย และต่อมาเมื่อเกิดความประทับใจ พอใจ ลูกค้าก็กลับมาใช้บริการต่อในภายหลัง

นอกจากนี้ ใช้ทรัพยากรทุกอย่างที่มีให้เป็นประโยชน์ เพื่อต่อยอดธุรกิจ มองหาพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญมาร่วมมือ บริษัทมีแนวคิดว่าการหาลูกค้าใหม่นั้นยาก สู้ทำให้คนเดิมกลับมาใช้บริการหรือลูกค้าเดิมเข้ามาซื้อเพิ่มจะดีกว่า

ขณะนี้ ได้เริ่มคิดถึงโหมดการออกจากโควิด มองสิ่งที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มได้ พร้อมคิดหาโมเดลใหม่ๆ มาพัฒนาให้เกิดแหล่งรายได้ใหม่ๆ ใช้จุดแข็งด้านแบรนด์ดิ้งและฐานลูกค้าที่แข็งแรง พร้อมร่วมมือกับนักลงทุนที่มองหาโอกาสในการลงทุน และขณะนี้เริ่มมองไปข้างหน้า 6 เดือน 9 เดือนว่าควรจะเป็นอย่างไร

 

  • ลดต้นทุน เพิ่มโฟกัสออนไลน์

ณัฐวงศ์ มารควัฒน์ รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท นิซเซอิ เทรดดิ้ง (ไทยแลนด์) จำกัด เล่าว่า การปรับตัวของธุรกิจอาหารเพื่อรับมือกับสถานการณ์หลักๆ ใช้วิธีการลดค่าใช้จ่าย เข้าไปต่อรองค่าเช่า บริหารจัดการต้นทุน ไม่รับพนักงานใหม่ และเพิ่มการขายบนออนไลน์มากขึ้น แม้จะไม่ได้ขายดีเท่าแต่ก่อน ทว่าเป็นตัวเลขที่พอรับได้ 

นอกจากนั้น จากแต่ก่อนลูกค้าเป็นชาวต่างชาติขณะนี้กลายเป็นผู้บริโภคในประเทศ ทั้งมีการทำคลาวด์คิทเช่นตอบโจทย์ดิลิเวอรี โดยภาพรวมขณะนี้การขายหน้าร้านกลับมาแล้วประมาณ 70-80% ยังไม่มากเท่าเดิม ขณะที่รายได้จากการดิลิเวอรีทำสัดส่วน 30% ของรายได้ทั้งหมด