แอพฯรัก(ษ์)โลก ‘ยินดี’ เชื่อมผู้ขาย-ผู้ซื้อ ต่อชีวิตอาหารส่วนเกิน!

แอพฯรัก(ษ์)โลก ‘ยินดี’ เชื่อมผู้ขาย-ผู้ซื้อ ต่อชีวิตอาหารส่วนเกิน!

เชื่อว่าหลายคนคงไม่คาดไม่ถึงว่า หนึ่งในตัวการก่อภาวะโลกร้อนคือ “ขยะอาหาร” ที่มาได้จากหลายทิศทาง มีปลายทางอยู่ที่ถังขยะ แม้ว่าอาหารเหล่านั้นจะยังมีคุณภาพดีก็ตาม จึงมักจะเห็นกลยุทธ์ลดราคา “ฉลากป้ายเหลือง” ถูกนำมาเป็นทางออกในการระบายอาหารในวินาทีสุดท้าย

ซึ่ง "ฉลากป้ายเหลือง" อาจไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุด เพราะผู้บริโภคจำนวนมากไม่ได้เดินทางมาจับจ่ายใช้สอย และส่วนใหญ่ก็มักจะสั่งผ่านฟู้ดดิลิเวอรี่

161580877111

จึงเป็นความท้าทายที่ทำให้ "ชวิน อัศวเสตกุล" และ "หลุยส์ อัลบาน บาทาด ดูเปร" พัฒนาแอพพลิเคชั่น “ยินดี (Yindii)” ขึ้น โดยเป็นการสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาเมืองในประเด็นเรื่องการจัดการ Food Waste ผ่านการซื้อขายอาหารคุณภาพดี ที่เหลือจากการขายหน้าร้านของโรงแรม ร้านอาหาร หรือซูเปอร์มาร์เก็ต ทั้งอาหารสด เบเกอรี่ หรือบุฟเฟต์ จัดส่งเป็นราคาถูก 50-80% ในรูปแบบ happy hour sale 

เปลี่ยนขยะไร้ค่าสู่ ‘อาหาร’

161580875443

ชวิน Co-founder & VP of partnership and sales ดีกรีนิสิตปีหนึ่งจากมหาวิทยาลัย Standford ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าวว่า จุดเริ่มต้นเกิดขึ้นช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ต.ค.ที่ผ่านมา ร้านอาหารถูกล็อกดาวน์ทำให้ต้องโยนอาหารทิ้งลงถังขยะจำนวนมาก ซึ่ง 6-14% ของอาหารที่ทิ้งไปนั้นคือรายได้ที่สูญเสียไป และในอีกมุมหนึ่งคือผู้บริโภคเผชิญกับความยากลำบากทางด้านอาหารการกิน จึงเป็นแรงผลักดันให้เสาะหาวิธีบริหารจัดการเพื่อแก้ปัญหาเรื่อง “อาหารเหลือ” 

ขยะอาหารเป็นปัญหาที่ถูกซ่อนในระบบอุตสาหกรรมอาหารทั่วโลก โดย 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 33% ของอาหารที่ผลิตขึ้นมาไม่ได้ถูกนำไปบริโภคจึงกลายเป็นขยะ ในประเทศไทยเองมีขยะอาหารมากถึง 17.6 ล้านตันต่อปี ประกอบกับขยะอาหารในแต่ละปีทั่วโลกปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงถึง 3.3 พันล้านตัน หรือ 4 เท่าของมลภาวะที่ถูกปล่อยจากอุตสาหกรรมการบิน

 

ร้านขายได้ ลูกค้าอิ่มท้อง 

161580881934

โมเดลธุรกิจของ “ยินดี” คือ B2B2C ระหว่างเจ้าของธุรกิจสู่เจ้าของธุรกิจ และเอื้อให้เจ้าของธุรกิจขายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค เป็นการรวมผู้ซื้อและผู้ขายเข้ามาไว้ในแพลตฟอร์มเดียวกัน ส่วนวิธีการใช้งานก็ง่ายเหมือนสั่งผ่านแอพพลิเคชั่นฟู้ดดิลิเวอรี่ได้จากทั้งระบบปฏิบัติการไอโอเอสและแอนดรอยด์ 

“จากการดำเนินการได้ระยะหนึ่งพบว่า ผลตอบรับค่อนข้างดี ปัจจุบันมีฐานลูกค้าประมาณ 7 พันคน ส่วนร้านอาหารที่เข้าร่วมประมาณ 70 แห่ง ทั้งแบรนด์ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ ส่วนประโยชน์ที่ร้านค้าได้รับคือใช้เวลาดำเนินการเพียง 3 นาที มีรายได้เพิ่มเติมสูงสุด 5% ทั้งยังเป็นการเพิ่มฐานลูกค้าใหม่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีการสั่งซื้อไปแล้วกว่า 3.6 พันกล่อง ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ไปแล้วกว่า 8.8 ตัน ส่วนรายได้จะมาจากการเก็บค่าจีพี 25% กับทางร้านอาหาร ขณะที่ฝั่งลูกค้าจะเป็นการใช้งานฟรี เหมือนกับฟู้ดดิลิเวอรี่ทั่วไป”

ดันเครือข่ายกู้ชีพสู่ 1 แสนราย

161580883264

มิชชั่นของยินดีคือ ต้องการลดขยะโดยเฉพาะขยะอาหารและสร้างคอมมูนิตี้รักษ์โลก ขณะที่แผนดำเนินการที่ตั้งเป้าไว้คือ ภายในปลายปีนี้จะเพิ่มลูกค้าในระบบเป็น 1 แสนราย และก้าวสู่การเป็นที่ 1 ในเครือโรงแรม กลุ่มซูเปอร์มาร์เก็ต อีกทั้งจะเปิดระดมทุนเพื่อพัฒนาธุรกิจ โดยภายใน 1-2 เดือนนี้จะอัพเกรดเป็นแอพพลิเคชั่นรูปแบบใหม่ ที่ทำงานง่ายขึ้นและฟีเจอร์เพิ่มขึ้น 

ภายในปลายปีนี้ยังวางเป้าหมายที่จะรุกตลาดทั่วกรุงเทพฯ พร้อมๆ กับขยายสู่หัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ อาทิ ภูเก็ต เชียงใหม่ ฯลฯ และคาดว่าในอนาคตจะขยายสู่อาเซียน อย่างสิงคโปร์ ไต้หวัน ซึ่งเป็นเป้าหมาย แรกๆ

ไม่เสียไป โดยเปล่าประโยชน์

ชวิน มองว่า อาหารส่วนเกินเป็นปัญหาท้าทายที่ไม่สิ้นสุด ทั้งด้านการขนส่ง อายุของผลิตภัณฑ์และการขาดจัดหาตลาดที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้จึงเป็นสิ่งที่ “ยินดี” ต้องการเข้าไปแก้ไข โดยการใช้ระบบง่ายๆ ที่เชื่อมต่อผู้คนและร้านอาหาร เพื่อให้ทางร้านสามารถขายอาหารที่เหลือได้โดยตรงผ่านแพลตฟอร์ม จึงเป็นทางออกที่ดีที่จะขายสินค้าให้หมดได้ในแต่ละวัน ช่วยลดขยะอาหารได้เกือบ 90% เพราะแค่ในกรุงเทพฯ ขยะอาหารเพียง 2% เท่านั้น ที่สามารถนำมารีไซเคิลได้จึงไม่ช่วยลดขยะอาหารเท่าไรนัก

161580885017

ความท้าทายหลักของยินดี คือ การพยายามอธิบายให้สังคมเข้าใจว่ากำลังสู้อยู่กับปัญหาจากอาหารส่วนเกิน การเริ่มเปลี่ยนความคิดและเข้าใจว่าการที่จะปกป้องโลกใบนี้จะต้องลดปริมาณขยะ ไม่ใช่เพียงแค่ร้านอาหารแต่รวมไปถึงองค์กรหรือบริษัทต่างๆ เช่นกัน 

'ยินดี' เจาะตลาดบลูโอเชี่ยน

ภาพใหญ่ระดับนโยบาย รัฐบาลจะต้องเข้ามามีส่วนร่วมโดยจะต้องมีมาตรการเชิงรุกเกี่ยวกับขยะอาหาร อย่างไรก็ตาม ทุกอย่างควรเริ่มจากล่างขึ้นบน โดยเริ่มจากภายในครัวเรือน และสิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็จะส่งผลกระทบต่อการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ให้กับประเทศไทย

"ส่วนภาพรวมการเติบโตของเทรนด์ food service platform ค่อนข้างบูม ยิ่งช่วงโควิดมีการเกิดใหม่ และใช้งานจำนวนมาก และยิ่งไปกว่านั้นคือ เทรนด์ที่คนไทยสนใจเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และให้ความสำคัญกับอาหารเหลือมากขึ้น จึงถือได้ว่าตลาดนี้เป็น "บลูโอเชี่ยน" ที่แอพยินดีต้องการที่จะเข้าไปทำตลาด"

161580888669

ทั้งนี้ ยินดี (Yindii) ยังเป็นหนึ่งในสตาร์ทอัพที่เข้าร่วมโครงการสเปซเอฟ รุ่นที่ 2 ได้รับการสนับสนุนจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) มหาวิทยาลัยมหิดล และ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ในการปลุกปั้นฟู้ดเทคสตาร์ทอัพไทยและระดับอินเตอร์ โดยให้คำปรึกษาและเชื่อมต่อกับบริษัทอื่นๆ 

 “เส้นทางธุรกิจสตาร์ทอัพไม่กว้างมาก การบุกตลาดจึงยาก หากมีคอนเนคชั่นจะทำให้มีเส้นทางที่จะไปต่อได้กับร้านอาหารที่เป็นเครือใหญ่ และจะสามารถเติบโตได้ทั้งในประเทศและในอนาคตจะสามารถขยายสู่ตลาดต่างประเทศได้อีกด้วย” ชวิน กล่าว