สวทช.ผนึก 3 พันธมิตรหนุนผู้ประกอบการไทย ผ่าน 'RDIMS'

สวทช.ผนึก 3 พันธมิตรหนุนผู้ประกอบการไทย ผ่าน 'RDIMS'

สวทช. ผนึกกำลังพันธมิตร 3 หน่วยงาน สร้างความสามารถในการดำเนินการด้านระบบบริหารการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม (RDIMS) สำหรับผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม

เป็นที่ทราบกันดีว่า เมื่อปี 2544 สวทช.ได้เข้าร่วมกับกรมสรรพากรโดยมีบทบาทหน้าที่ในการดำเนินการตรวจสอบและให้การรับรองโครงการวิจัยเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถนำค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไปใช้เป็นสิทธิประโยชน์ลดหย่อนทางภาษีกับกรมสรรพากรได้ ซึ่งเกือบ 2 ทศวรรษที่ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง จากผลการดำเนินงานจนถึงปี 2563 มีผู้ประกอบการรวมแล้วกว่า 444 ราย มีโครงการที่ได้รับการรอบรองแล้วกว่า 4,776 โครงการ  รวมมูลค่ากว่า 18,332 ล้านบาท

ทั้งหมดนี้เพื่อเป็นการส่งเสริมภาคเอกชนให้เกิดการวิจัย พัฒนาและนวัตกรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศสู่นวัตกรรมเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนที่จะนำไปสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน และพัฒนาสู่เป้าหมายการเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว ที่จะช่วยสร้างองค์ความรู้และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ 

161115498610

โดยผลงานวิจัยที่เกิดขึ้นได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคม เฉพาะในปี 2563 ที่ผ่านมาคิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 8,800 ล้านบาท และในปัจจุบันกระทรวงการคลังโดยกรมสรรพากรกำหนดให้ผู้ประกอบการ สามารถใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีด้วยวิธี Self Declaration เพิ่มอีกหนึ่งช่องทางนอกหนือจาก Pre-approval หรือวิธีการตรวจสอบรับรองโครงการวิจัย โดยผู้ประกอบการจะใช้สิทธิ์ยกเว้นภาษีเองได้หากมีระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมหรือ RDIMS ที่ได้รับการรับรองและขึ้นทะเบียนรายชื่อจาก สวทช. สำหรับโครงการวิจัยที่มีมูลค่าโครงการไม่เกิน 3 ล้านบาท

และเพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับระบบ RDIMS เพิ่มมากขึ้น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) จึงร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.), สถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ อุตสาหกรรมพัฒนามูลนิธิ (สรอ.) และสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ (สพช.) ในการผลักดันและส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ได้มีการประยุกต์ใช้ รวมถึงได้รับการตรวจประเมินและรับรองความสอดคล้องตามข้อกำหนดระบบบริหารการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม (Research, Technology Development and Innovation Management System : RDIMS)

โดยในปีงบประมาณ 2564 นี้ สวทช. วว. และ สรอ. จะทำหน้าที่ตรวจประเมินและรับรองมาตรฐานระบบ RDIMS ตามข้อกำหนดที่พัฒนาขึ้น ส่วน สพช. จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำการจัดให้มีมาตรฐานดังกล่าว ซึ่งจะเป็นการช่วยพัฒนาระบบบริหารจัดการงานวิจัยฯ ของผู้ประกอบการเอกชน โดยเฉพาะของวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ให้เป็นไปอย่างมีระบบและมีความต่อเนื่อง เพื่อพัฒนาผลงานวิจัยด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ทั้งนี้ กิจการที่ผ่านการรับรองมาตรฐานระบบ RDIMS ยังจะสามารถยื่นขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการยกเว้นภาษี สำหรับรายจ่ายการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม ด้วยวิธีการ Self-Declaration ได้อีกด้วย โดยเป็นความร่วมมือภายใต้หนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2563 ที่ผ่านมา

161115510216

ณรงค์ ศิริเลิศวรกุล  ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของภาวะเศรษฐกิจและสภาพแวดล้อมในการดำเนินธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อยังคงความสามารถในการแข่งขันและการอยู่รอดแบบยั่งยืน ปัจจัยที่สำคัญอย่างหนึ่งคือ การลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงการดำเนินกิจกรรมต่อยอดผลงานวิจัยให้เกิดเป็นนวัตกรรมสู่เชิงพาณิชย์มากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการและวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถตอบสนองต่อโอกาสภายนอกและภายในได้อย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตาม การมีระบบบริหารจัดการงานวิจัยที่เป็นระบบและเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ในการสร้างองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อพัฒนาเป็นสินค้าหรือบริการนวัตกรรม  จะเป็นรากฐานสำคัญในการขับเคลื่อนของระบบเศรษฐกิจของประเทศในอนาคต

ขณะเดียวกัน ผอ.สวทช.ยังได้กล่าวเสริม ในเสวนาแลกเปลี่ยนความรู้ที่จัดขึ้นในหัวข้อ “การสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้องค์กรภารัฐและเอกชนดำเนินการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเชิงระบบ” ว่า  ในแง่ของการประกอบธุรกิจปัจจุบันการประกอบธุรกิจมีการแข่งขันสูง ทั้งในมิติของตลาด หรือความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป อีกทั้งโลจิสติกส์ เพราะทุกวันนี้สามารถสั่งซื้อสินค้าข้ามประเทศได้อย่างรวดเร็ว และการแข่งขันเรื่องราคา ดังนั้นบริบทต่างๆเปลี่ยนไปเยอะมากเพราะวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพราะฉะนั้นเมื่อบริบทการใช้ชีวิตของผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป หากผู้ประกอบการยังคงอยู่กับเทคโนโลยีเดิม รูปแบบการจัดการแบบเดิม รูปแบบการค้าแบบเดิม จะส่งผลให้ความสามารถในการแข่งขันนั้นถดถอยลง

ดังนั้นเมื่อตลาด และความต้องการของลูกค้ามีการเคลื่อนตัวคู่แข่งเคลื่อนตัวไป และการแข่งขันเกิดขึ้นพร้อมกับทั่วโลก เพราะฉะนั้นเราจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงภาพรวมระบบไปพร้อมๆกับกลไกการขับเคลื่อนของประเทศ มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการจัดการ และผู้ประกอบการจะต้องนำเทคโนโลยี และนวัตกรรมมาเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมในเรื่องกระบวนการ ธุรกิจ ล้วนแต่มีความเสี่ยง ดังนั้นภาครัฐจึงจำเป็นต้องเข้าไปสนับสนุนกลไกภายใต้ RDIMS ซึ่งจะช่วยให้การขับเคลื่อนการวิจัยและพัฒนามีรูปแบบ มีแบบแผนที่ไปในทิศทางที่เหมาะสม เพื่อให้ได้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่ดี พร้อมกับ การที่ภาครัฐเกื้อหนุนด้านภาษี 300% ดังนั้นค่าใช้จ่ายที่ลงไปจะทำให้ส่งผลต่อภาพรวมของบริษัท ที่ช่วยให้ภาคเอกชนมีความเสี่ยงลดลง และทำวิจัยได้เร็วขึ้น และมีผลต่อการลงทุนที่คุ้มค่าในระยะยาว

"ดังนั้นผู้ประกอบการเมื่อจะลงมือดำเนินการ ส่วนแรกต้องเริ่มจากการทบทวนบริษัทว่าประกอบธุรกิจอะไร มีความสามารถอะไร กำลังเครื่องจักรเป็นอย่างไร บุคลากรเป็นอย่างไร อีกทั้งในแง่ของบัญชี สามารถขยับขยายได้มากน้อยแค่ไหน และทิศทางในอนาคตเป็นอย่างไร ซึ่งต้องมีการทบทวน แต่เมื่อทบทวนเสร็จแล้วนั้นจะทำให้สามารถกำหนดนโยบายและเป้าหมายการดำเนินงานได้ ว่าจะมีการขับเคลื่อนธุรกิจไปในทิศทางใด และจะสร้างนวัตกรรมอะไรให้อยู่ภายใต้ความสามารถที่มี หากดูบริบท และกำหนดทิศทางได้จะเป็นสิ่งที่ทำให้การวิจัยสอดรับกับบริบทเหล่านั้นได้มากกว่าการทำตามบุคคลอื่น ในขั้นตอนถัดไปจะนำไปสู่การวางแผนทรัพยากร ซึ่งภายใต้ทรัพยากรที่มีจะเพิ่มพูนได้อย่างไรบ้าง จากพันธมิตรหรือแหล่งอื่นๆ  และวางสู่การวิจัยได้อย่างไรบ้าง เพราะการวิจัยจะนำไปสู่การผลิตและใช้งานในเชิงพาณิชย์ โดยการลงทุนตอนนั้นจะเป็นการลงทุนด้านสมมติฐาน ดังนั้นจะต้องมีการวางแผนและจัดสรรทรัพยากรให้ดีตั้งแต่เริ่มต้นที่สำคัญ"

และจากนั้นเริ่มพัฒนาลงมือทำจริง พร้อมกับสื่อสารออกไปให้กับบุคลากรในองค์กรถึงแผนการพัฒนา และขณะเดียวกันก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่าโครงการเหล่านั้นดำเนินการตามที่วางไว้ได้หรือไม่ ใช้ทรัพยากรตรงตามที่ต้องการหรือไม่ ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นได้รับการตรวจสอบแล้วผลออกมาเป็นอย่างไร ก่อนจะดำเนินการในขั้นตอนถัดไป ดังนั้นการดำเนินการเหล่านี้ต้องอาศัยการวางแผนอย่างเป็นระบบ ขณะเดียวกันในกระบวนการทำงานสิ่งสำคัญที่จะถูกพิจารณาค่อนข้างเยอะในระบบคือ “สิ่งที่กำลังทำมีความเสี่ยงทางเทคนิคหรือไม่” ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของ RDIMS ที่จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษี

161115535885

ส่วนทางด้านนางสาว อัจฉรา ปู่มี  กรรมการผู้จัดการ บริษัท แพค คอร์ปอเรชั่น (ประเทศไทย) จำกัด หนึ่งในผู้ประกอบการ กล่าวว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้บริษัทตัดสินใจลงทุนทำวิจัย คือ การที่ต้องการจะมีผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมที่จะให้บริการลูกค้ามีคุณภาพดี แตกต่างจากคู่แข่ง  ดังนั้นการวิจัยและพัฒนาจะช่วยส่งเสริมให้บริษัทมีความสามารถในการแข่งขัน ในตลาดได้ และมีความมั่นคงในการทำธุรกิจ นอกจากนั้นจะมีในเรื่องของที่จะได้สิทธิประโยชน์ในเรื่องของภาษี โดยสามารถลดหย่อนภาษีได้ถึง 200% และในบางปีงบประมาณสามารถลดหย่อนภาษีได้ถึง 300% ดังนั้นตรงจุดนี้จึงมีความน่าสนใจเป็นอย่างมาก และถือเป็นแรงจูงใจให้ธุรกิจหรือบริษัทต่างๆมีการทำวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเพื่อที่จะสามารถช่วยให้งานวิจัยมีมูลค่าที่ลดลงจากที่ลงทุนในตอนต้น

ส่วนในมุมมองของผู้ประกอบการ ความคาดหวังในการประยุกต์ใช้ระบบ RDIMS ในองค์กร มองว่า การที่จะมีระบบต่างๆเข้ามาช่วยในการทำให้ธุรกิจทำงานอย่างเป็นระบบมากขึ้น และมีมาตรฐานในการทำงานที่ดีขึ้น และสิ่งที่คาดหวังคือต้องการที่จะให้การทำงานของบริษัทมีความถูกต้อง มีความชัดเจน เพื่อให้องค์กรได้รับการรับรองในการทำวิจัยและนวัตกรรมอย่างมีมาตรฐาน ซึ่ง “มาตรฐาน” เป็นสิ่งที่ธุรกิจแทบทุกธุรกิจต้องการเป็นอย่างมาก