ส่องยุทธศาสตร์ 'มิว สเปซ' ลุยสร้าง'ยานลำแรก' ปี64

ส่องยุทธศาสตร์ 'มิว สเปซ' ลุยสร้าง'ยานลำแรก' ปี64

ปี 2563 นับว่าเป็นปีที่กิจกรรมทางอวกาศกลับมาคึกคักอีกครั้ง ทั้งจากการที่ภาครัฐผลักดันให้เกิด พ.ร.บ.กิจการอวกาศและสร้างกลไกเพื่อส่งเสริมและสนับสนุน ซึ่งต่อไปอุตสาหกรรมนี้จะเป็นหนึ่งใน new S-curve ดึงดูดนักลงทุน

อุตสาหกรรมเป้าหมาย new S-curve นั้น ภาครัฐหมายมั่นที่ทำให้ประเทศไทยมีความสามารถในการลงทุน และมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าให้แก่เศรษฐกิจไทย

ดาวเทียมธุรกิจดาวรุ่ง

สำหรับบทบาทของภาคเอกชนเอง นับว่าเป็นหนึ่งในกลไกสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งปีนี้บริษัทด้านดาวเทียมและเทคโนโลยีอวกาศภาคเอกชน บริษัท มิว สเปซ แอนด์ แอดวานซ์ เทคโนโลยี จำกัด แสดงให้เห็นถึงความสามารถในการดึงดูดนักลงทุนเอกชนให้มาลงทุนในอุตสาหกรรมด้านอวกาศ

ล่าสุุดบริษัทจับมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน), ผู้บริหารกลุ่ม Dow Chemical, SCG รวมถึงนักลงทุนปัจจุบันอย่าง Nice Apparal Group ผู้ผลิตเสื้อผ้ากีฬาระดับโลก, B.Grimm Group ,Majuven Fund กลุ่มธุรกิจเอกชน และกลุ่มนักลงทุนรายย่อยอื่นๆ ส่งผลให้มูลค่าบริษัทเพิ่มขึ้นสูงกว่า 3,000ล้านบาท สำหรับการระดมทุนในระดับ Series B

วรายุทธ เย็นบำรุง กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร มิว สเปซ คอร์ป กล่าวว่า ล่าสุด บริษัทเปิดตัวโรงงานการผลิตแห่งแรก เงินลงทุนที่ได้จากการระดมทุนในรอบนี้ จะนำไปใช้สำหรับการเร่งสร้างโรงงานขนาดใหญ่ต่อไป เพื่อผลิตชิ้นส่วนและสร้างยานอวกาศ (Spaceship) ลำแรกของประเทศไทย รวมถึงผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม และยานอวกาศสำหรับใช้ในประเทศเพื่อส่งออก ภารกิจด้านการสื่อสาร, ความมั่นคง, ระบบระบุตำแหน่งบนพื้นโลก (GPS) ทดสอบหุ่นยนต์ และระบบขับเคลื่อนอัตโนมัติสำหรับยานพาหนะไร้คนขับบนดวงจันทร์

พัฒนาฮับดาต้านอกโลก

นอกจากนี้ ยังเร่งพัฒนาบริการ Space IDC หรือ Space Internet Data Center เป็นการดำเนินโครงการที่เกิดจากความร่วมมือระหว่าง มิว สเปซ คอร์ป กับทีโอทีโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการศูนย์กลางข้อมูล (Data Center) ที่อยู่นอกชั้นบรรยากาศของโลก

มิว สเปซ มีเป้าหมายที่จะสร้างสถานีเกตเวย์ อีก 11 แห่งเริ่มที่กรุงเทพมหานคร เพื่อรองรับการใช้งานของดาวเทียมวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit Satellite: LEO) ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต และกำลังเตรียมความพร้อมที่จะเข้าประมูลโครงการอวกาศขององค์การนาซ่า (NASA) อีก 8 โครงการ ในช่วงต้นปี 2564  จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มิว สเปซ มีการความก้าวหน้ามากขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากการร่วมส่งโครงการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศทั้งสิ้น 7 โครงการมาแล้ว

ฝ่าโควิดด้วยเทคโนโลยี

ในท่ามกลางวิกฤติการแพร่ระบาดของโควิด-19 มิว สเปซ มีแผนที่จะเพิ่มการจ้างงานมากกว่า 100 อัตรา โดยเริ่มที่ 50 อัตราแรกภายในต้นปี 2564 เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูง และให้สอดคล้องกับแผนการพัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอวกาศ ที่มีความมุ่งมั่นที่จะพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างนวัตกรรม เพื่อผลักดันให้อุตสากรรมอวกาศสามารถเป็นเศรษฐกิจใหม่ (New economy) ในประเทศไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม

โดยจะนำเทคโนโลยี 5จี มาใช้ภายในโรงงาน รวมถึงจะเป็นพื้นที่สำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี Space IDC ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะทำการทดสอบระบบ Space IDC จำลองภายในไตรมาสแรกของปี 2564 นี้

ดังนั้น แม้ว่าปีหน้าหลายอุตสากรรมยังไม่ซมจากพิษโควิดแต่เราอาจจะได้เห็นเซ็กเตอร์ดาวเทียม ที่ล้วนจะขยายตัวไปสู่นอกโลกเริ่มมีบทบาทมากขึ้น หลังจากที่ไทยเปิดประมูลใบอนุญาตสำหรับกิจการดาวเทียม โดยสำนักงานกสทช.เล็งเปิดประมูล 4 แพคเก็จในอนาคตนี้