'ดีอีเอส' เร่งสรุปโมเดลบริหาร ‘เอ็นที’

'ดีอีเอส' เร่งสรุปโมเดลบริหาร ‘เอ็นที’

แบ่งควบรวมออกเป็น 3 เฟสก่อนสมบูรณ์

ดีอีเอสดีเดย์ 7 ม.ค.ปีหน้า ได้เห็น “เอ็นที” แน่นอนตามกรอบครม.ให้ดำเนินการ เล็งสรรหาบอร์ดนั่งบริหารหลังหารือคลัง-สคร.วางเก้าอี้ 5-11 คน เอาไว้เลือกซีอีโอตัวจริงกุมบังเหียน หลังซีอีโอเดิมจากกสทฯ-ทีโอทียังเขย่าไม่ลงตัว วางเป้าดำเนินการเป็น 3 เฟสก่อนเสร็จสิ้นหลังจากนี้อีก 1 ปี 

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบการขยายระยะเวลาการควบรวมกิจการระหว่าง บมจ.ทีโอทีกับบมจ.กสท โทรคมนาคม เป็น บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือเอ็นที

จากเดิมที่ต้องแล้วเสร็จในวันที่ 14 ก.ค. 2563 เป็นวันที่ 7 ม.ค. 2564 นั้น ยืนยันว่าขั้นตอนการดำเนินการงานมีความคืบหน้าอย่างมาก และทันตามกรอบเวลาอย่างแน่นอน ซึ่งภายในสัปดาห์นี้ ตนจะหารือร่วมกับกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของทีโอทีและกสทฯ รวมทั้งสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เพื่อให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมการ (บอร์ด) เอ็นทีจำนวน 5-11 คน มาดำรงตำแหน่งและรับผิดชอบในการสรรหากรรมการผู้จัดการใหญ่ต่อไป

ทั้งนี้ ตนได้แบ่งระยะเวลาการดำเนินการการควบรวมให้เสร็จสมบูรณ์หลังจากวันที่ 7 ม.ค. 2564 ไปอีก 3 เฟส โดยแบ่งเป็น เฟส 1 ในวันที่ควบรวมดังกล่าวจะต้องมีบางหน่วยธุรกิจที่ดำเนินการร่วมกัน ซึ่งเบื้องต้นมองว่าจะเป็นสายงานบัญชี จากนั้น เฟส 2 คือภายใน 6 เดือนต้องเริ่มนำสายงานที่ยังบริหารคู่ขนานกันในช่วงแรกมาให้เป็นสายธุรกิจเดียว และเฟส 3 หรือทุกกลุ่มธุรกิจจะต้องดำเนินการเป็นหนึ่งเดียวอย่างสมบูรณ์และมีีความเป็นเอกภาพ

“รูปแบบของการบริหารงานตอนนี้ยอมรับว่าจะไม่เรียบร้อย โดยเฉพาะโครงสร้างการบริหาร แต่ส่วนตัวมองว่าน่าจะลงตัวได้ไม่ยาก เพราะก็ต้องมีทั้งขาที่มาจากทีโอทีและกสทฯ ดังนั้น ก็จะต้องหารือเพื่อให้ได้ความเหมาะสมและลงตัว ซึ่งสุดท้ายและอาจจะให้ 2 คนนี้นั่งตำแหน่งร่วมกันและหาบอร์ดหรือคนนอกมานั่งเป็นซีอีโอ เพราะให้เกิดความเท่าเทียม แต่ตรงนี้เป็นแค่ความเห็นผมยังไม่สรุป”

เขา กล่าวอีกว่า ภาพในอนาคตของเอ็นทีหลังจากควบรวมแล้ว จะถือเป็นบริษัทที่มีโครงสร้างพื้นฐานครบวงจรมากที่สุด ซึ่งหลังจากที่ได้เรียกให้ที่ปรึกษามาดำเนินการเรื่องการควบรวมของ 2 องค์กรพบว่า หากเป็นเอ็นทีแล้วบริษัทจะมีมูลค่าสินทรัพย์มากถึง 300,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 1.เสาโทรคมนาคมรวมกันกว่า 25,000 ต้นทั่วประเทศ 2.เคเบิ้ลใต้น้ำระหว่างประเทศ 9 ระบบ 14 POP เชื่อมต่อไปยังทุกทวีป 3.ถือครองคลื่นความถี่หลักเพื่อให้บริการรวม 6 ย่านมีปริมาณ 600 เมกะเฮิรตซ์ 4.ท่อร้อยสายใต้ดินมีระยะทางรวม 4,000 กิโลเมตร 5.สายเคเบิ้ลใยแก้วนำแสง 4 ล้านคอร์กิโลเมตร 6.ดาต้า เซ็นเตอร์ 13 แห่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และ 7.ระบบโทรศัพท์ระหว่างประเทศที่เข้าถึงได้จากทุกเลขหมายในโลก

ดังนั้น ดีอีเอสจะผลักดันอย่างเต็มที่ และจะร่วมวางนโยบาย โดยเฉพาะด้านการพัฒนาทักษะบุคลากรแก่พนักงานเดิมให้สามารถทำงานภายใต้บทบาทและโครงการใหม่ๆ ที่จะเกิดขึ้นให้ได้ โดยต้องให้โอกาสกับคนเดิมที่อยู่ก่อน ประมาณ 1-2 ปี หลังจากเป็นเอ็นทีเพื่อให้ได้ปรับตัวและพัฒนาศักยภาพของตนเอง ซึ่งหลังจากควบรวมเสร็จภายในก.พ.-มี.ค.จะเริ่มเห็นบริการอย่างเป็นรูปธรรมจากเอ็นที ทั้งการนำเอาดิจิทัลมาให้บริการภาคการสาธารณสุข การเกษตร และคมนาคม โดยเอ็นทีจะเป็นผู้รวบรวมบิ๊ก ดาต้าผ่าน 5จีที่ประมูลได้มา ซึ่งจะเริ่มนำมาให้บริการภาคสังคม โดยจะเริ่มที่บริการการรักษาทางไกล (เทเล เมดิซิน) ซึ่งเป็นตามนโยบายของรัฐบาลด้วย