‘เทสบัด’ เสิร์ฟอาหารอนาคต สร้างบริบทการกินปกป้องโลก

‘เทสบัด’ เสิร์ฟอาหารอนาคต สร้างบริบทการกินปกป้องโลก

เมื่อวิถีชีวิตผู้บริโภคยุคใหม่เปลี่ยนไป เหตุไฉน “การกิน” จึงจะไม่เปลี่ยน? สร้างโหมดการกินแบบอนาคตบนเส้นทาง “TasteBud” โค้ชสตาร์ทอัพด้านฟู้ดเทคโนโลยี กับการเปิดโลกทัศน์แห่งอาหารในบริบทใหม่ ที่จะทำให้รู้ว่า “อาหารแห่งอนาคต” เป็นเรื่องใกล้ตัวเรา

สร้างระบบนิเวศฟิวเจอร์ฟู้ด

ข้อมูลจาก สถาบันอาหาร ระบุว่า อาหารแห่งอนาคตในปีที่ผ่านมามีมูลค่า 1.96 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.3% จากปี 2561 และมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยอาหารฟังก์ชันนัล คือกลุ่มหลักที่มีส่วนแบ่งตลาดกว่า 60% รองลงมาคือกลุ่มผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติที่ดีต่อสุขภาพ กลุ่มอาหาร free-from เช่น ปราศจากเนื้อสัตว์ ปราศจากกลูเตน และอาหารอินทรีย์ แนวโน้มการเติบโตของอาหารแห่งอนาคตในตลาดส่งออกที่มีศักยภาพสูงในหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น และจีน ก็มีทิศทางเดียวกัน

ข้อมูลดังกล่าวเป็นเทรนด์ที่ทุกคนในอุตสาหกรรมเห็นภาพชัดเจนอยู่แล้ว แต่เทสบัดสนใจที่จะผนึกพันธมิตรทุกหน่วยงานเพื่อสร้างเส้นทางการพัฒนาให้ตอบโจทย์ร่วมกันในภาพที่ชัดเจนเชื่อมโยงตลอดห่วงโซ่อุปทาน จึงออกแบบโมเดลธุรกิจเหมือน Incubator&Accelerator สร้างรายได้ที่นอกจากเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ และบ่มเพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ ทั้งยังเป็นการทำงานในลักษณะช่วยเกษตรกร เอสเอ็มอีและสตาร์ทอัพให้สามารถแนะนำสินค้าหรือร่วมพัฒนาสินค้าออกสู่ตลาด มีทั้งรูปแบบไม่เก็บค่าใช้จ่ายในบางโปรเจคที่อยากจะผลักดัน หรือบางโปรเจคที่ผู้ประกอบการเสนอให้ทำโจทย์เฉพาะก็จะพัฒนาเป็นสินค้าจำหน่ายและสร้างผลประโยชน์ร่วมกัน"

160199464218


“ขณะนี้ที่เริ่มไปแล้วคือ การร่วมกับเอสเอ็มอีพัฒนาสินค้า อีกทั้งเรากำลังพูดคุยกับกลุ่มผู้ประกอบการ 10-15 ราย จัดกิจกรรมสัมมนาออนไลน์ (Webinar) ตั้งเป้ารายได้ 200 ล้านภายในปีหน้าโดยรายได้หลักตอนนี้มาจากการมีอีโคซิสเต็มที่พัฒนาขึ้นมา และผลักดันตัวปลายน้ำในส่วนของอาหารแห่งอนาคต ไม่ต้องพึ่งพารัฐ หรือกลุ่มทุน แต่ในส่วนของโครงการที่ใหญ่ขึ้นอาจจะต้องมีการพึ่งพากัน นอกเหนือจากรายได้แล้ว เรายังจัดตั้งฟิวเจอร์ฟู้ดเน็ตเวิร์กและตั้งเป้าดึงผู้ประกอบการเข้าร่วมกลุ่มให้ได้มากกว่า 500 คนภายในปีหน้า” 

เทสบัดเป็นภาคเอกชนตัวเล็กกลุ่มหนึ่งที่ทำงานเชื่อมต่อและมีแนวคิดในการตั้งโจทย์เชิงรุก จากความต้องการด้านอาหารอนาคตในระดับสากล เพื่อให้มีการทำงานร่วมกัน เชื่อมโยงกันให้ครบรอบได้จนถึงที่ต้นนํ้า ดังนั้น “แพลตฟอร์มอาหารแห่งอนาคต” ก็เปรียบเสมือน “เชฟ” ที่ควบคุมวงออร์เคสตราในครัว ถ้าเข้าใจส่วนผสมและผสมผสานความร่วมมือ การผลักดันที่เปรียบเสมือนวัตถุดิบของอุตสาหกรรมนี้ได้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน หรือเป็นใคร ก็สามารถสร้างสรรค์ผลงานศิลปะที่เรียกว่า “เมนูอาหารแห่งอนาคต” ได้เป็นอย่างดีเลยทีเดียว

3 เมกะเทรนด์ในอนาคต 10 ปี

เทรนด์ของอุตสาหกรรมอาหารในบริบทใหม่หลังโควิดและอาหารในอนาคต ในมุมมองของซีอีโอเทสบัดได้สรุปเป็น “3 เทรนด์หลัก" หรือ เมกะเทรนด์ ที่จะเกิดขึ้นภายใน 2573 ดังนี้

1.“เปลี่ยน” เพื่อห่วงโซ่อาหารและโลก ผู้ประกอบการต้องฟังเสียงผู้บริโภคในแนวทางการเปลี่ยนแปลงของโลก และพร้อมที่จะเปลี่ยนเท่านั้น จึงจะประสบความสำเร็จในระดับโลกได้ เช่น การมองถึงความยั่งยืนด้านการผลิตเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น AMAZON ประกาศจะใช้แหล่งพลังงานทดแทน 100% ในปี 2573 จะเห็นได้ว่า นโยบายขององค์กรระดับโลกมีการเปลี่ยนรูปแบบการทำงานเพื่อห่วงโซ่อาหารที่ชัดเจนมากขึ้น

160199466627

2.ตอบความต้องการ “เฉพาะบุคคล” ปัจจุบันเราสวมใส่อุปกรณ์ช่วยติดตามข้อมูลสุขภาพกันมาก เช่น ชาวจีนกว่า 88% สนใจติดตามข้อมูลการเผาผลาญพลังงานของตนเอง ขณะที่ชาวอังกฤษกว่า 49% สนใจติดตามข้อมูลด้านการกิน การออกกําลังกายเพื่อนํามาปรับเสริมสุขภาพ 

จากตัวอย่างเหล่านี้เอง ข้อมูลบิ๊กดาต้าของผู้บริโภค การจัดเก็บ การเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับชีววิทยาและการที่ผู้บริโภคกับผู้ผลิตจะสามารถเข้าใจถึงความต้องการเชิงลึก เพื่อมาพัฒนาสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม รูปแบบการบริการ ตลอดจนสมาร์ทโฮมโซลูชั่นและเครื่องครัว ที่จะมาตอบสนองตนเองและผู้บริโภคได้เฉพาะเจาะจง เช่น เครื่องพิมพ์อาหารสามมิติ ที่ผลิตอาหารตรงต่อความต้องการทางชีววิทยาหรือข้อมูลด้านสุขภาพส่วนบุคคล

3.“การเปิดรับ และ ปรับมุมมอง” วิทยาการด้านอาหารและเกษตรจะเป็นที่ยอมรับจากผู้บริโภคมากขึ้น โดยเฉพาะเทคโนโลยีการเกษตรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตอบความต้องการและสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป อาทิ สมาร์ทฟาร์มระบบปิด ระบบติดตามด้านอาหารเพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค และเนื้อสัตว์ที่เพาะจากเซลล์ของสัตว์แทนการทำปศุสัตว์

160199470058