วว.ส่งวิทยาศาสตร์เพิ่มมูลค่าพืชอัตลักษณ์จังหวัดพะเยา

วว.ส่งวิทยาศาสตร์เพิ่มมูลค่าพืชอัตลักษณ์จังหวัดพะเยา

วว.จับมือ 3 พันธมิตรรัฐ/เอกชน ชูพืชอัตลักษณ์จังหวัดพะเยา สร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตเกษตรด้วยวิทยาศาสตร์ฯ ผ่านโครงการ Thai Cosmetopoeia นำรายได้คืนสู่ชุมชน พัฒนาความร่วมมือการวิจัย บริหารจัดการองค์ความรู้ พัฒนากำลังคน เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ลงนามความร่วมมือว่าด้วย "การใช้เทคโนโลยี ผลงานวิจัยและนวัตกรรมเพื่อการสร้างมูลค่าเพิ่มผลผลิตการเกษตรและพืชอัตลักษณ์ของจังหวัดพะเยา" กับ 3 หน่วยงานพันธมิตรภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ ดังนี้ จังหวัดพะเยา มหาวิทยาลัยพะเยา และหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 ระยะเวลาดำเนินการ 2 ปี มุ่งพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตร/ชีวภาพ อาหาร เวชสำอางไทย ที่เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น พัฒนาวิธีบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่จังหวัดพะเยาให้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า สร้างและรักษาเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติของจังหวัดพะเยา ส่งเสริม/กระตุ้นให้เกิดการนำรายได้คืนสู่การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งชุมชน ท้องถิ่น เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง (Inclusive growth) พัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัย การบริหารจัดการองค์ความรู้ พัฒนากำลังคน เพื่อการเติบโตอย่างอย่างยั่งยืน

159949103679
ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า เจตนารมณ์ของ วว. คือ การนำองค์ความรู้ งานวิจัยต่างๆที่ได้ทำไว้แล้ว หรืออาจจะยังไม่เคยทำ แต่ประเมินแล้วว่าสามารถทำได้ และเป็นศักยภาพที่นำมาสร้างประโยชน์ นำมาต่อยอด เพื่อให้งานวิจัยและองค์ความรู้เหล่านั้น ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนประเทศ ขับเคลื่อนผู้ประกอบการ สร้างความเข็มแข็งให้กับธุรกิจเข้มแข็งขึ้น ดังนั้นในการดำเนินงานของ วว. จึงมุ่งเน้นการยกระดับผู้ประกอบการที่มีความตั้งใจจริง เข็มแข็ง เพื่อให้นำองค์ความรู้กลับไปสร้างธุรกิจให้ขยายและเติบโตขึ้น เกิดธุรกิจต่อเนื่องในพื้นที่

ทั้งนี้ วว. พร้อมที่จะสนับสนุนหรือช่วยเหลือผู้ประกอบการที่เข้มแข็งและมีความพร้อม โดย วว. จะทำงานร่วมกับมิตรในพื้นที่ เพื่อให้การทำงานของเราไปตอบโจทย์การขับเคลื่อนจังหวัด รวมทั้งตอบโจทย์ภาคเอกชนที่จะใช้ประโยชน์ในธุรกิจนั้นต่อไป เมื่อเขาเข็มแข็ง เขาก็จะสามารถกลับเข้าไปช่วยคนอื่นอีกต่อไปได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งวิธีของการคืนกำไรให้กับสังคม เช่น โครงการ Thai cosmetopoeia ที่ วว.พยายามทำงานผลักดันยกระดับความสามารถของผู้ประกอบการฐานราก ซึ่งได้แก่ เกษตรกร ปรับให้เขาเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบหรือเป็นผู้แปรรูปเบื้องต้นโดยใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้มีคุณภาพดี ปลอดภัย มีมาตรฐาน สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ รวมทั้งเป็นอัตลักษณ์ของจังหวัด เพื่อส่งต่อภาคเอกชนรายใหญ่นำไปปรับใช้ในเชิงพาณิชย์ เกิดการใช้ทรัพยากรชีวภาพของประเทศอย่างคุ้มค่าและประโยชน์ต่อประเทศของเรา..." ดร.ชุติมา เอี่ยมโชติชวลิต กล่าว

159949133218
โครงการแรกที่ วว. กับจังหวัดพะเยาทำงานร่วมกัน คือ การไปยกระดับผู้ประกอบการกลุ่มแปรรูปครีมมะขาม (แม่แสงดี) ซึ่งเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์ครีมมะขามรายใหญ่ของจังหวัดพะเยา เราไปยกระดับให้เขาขายดี และขายได้ เมื่อเขาขายดีและขายได้ เขาก็ต้องมาลงทุนระบบการบริหารจัดการวัตถุดิบ ลงทุนระบบการผลิต ลงทุนจ้างงาน ลงทุนซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรด้วยราคาที่เป็นธรรม ซึ่งหมายถึงสิ่งที่ผู้ประกอบการจ่ายไปก็ไปสร้างรายได้ให้กับธุรกิจที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นทอดๆ ในพื้นที่จังหวัดพะเยา เราอยากให้เกิด model แบบนี้ ให้มากๆ และขยายผลออกไปจากจังหวัด จากจังหวัดก็กลายเป็นภาค จากภาคก็กลายเป็นทั่วประเทศ ซึ่งจากการทำงานของเราทั้ง 4 หน่วยงานในวันนี้ จะไม่เพียงแต่เป็นประโยชน์แค่จังหวัดพะเยาเท่านั้น แต่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทยของเราต่อไป

นายกมล เชียงวงค์ ผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา กล่าวว่า จังหวัดพะเยามีแนวทางการพัฒนาจังหวัดโดยยึดหลักการพัฒนาตามบริบทของชุมชน สังคม และทรัพยากรของจังหวัด รวมทั้งนำแผนพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศมาประกอบเป็นแนวทางการพัฒนา ซึ่งมุ่งเน้นให้แต่ละโครงการร่วมสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดช่องว่างและความเหลื่อมล้ำของคนในจังหวัด รวมทั้งร่วมกันขับเคลื่อนการเจริญเติบโตจากการเพิ่มผลิตภาพการผลิตบนฐานทรัพยากรการใช้ภูมิปัญญาและนวัตกรรม นำมาผสมผสานร่วมกันก่อให้เกิดแนวทางการพัฒนาจังหวัดพะเยา

ในวันนี้เราได้มิตรที่ดีที่จะมาร่วมผลักดันจังหวัดพะเยาเพิ่มขึ้น เพื่อร่วมกันขับเคลื่อนฐานทรัพยากรด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรมเพื่อสร้างความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ ความสามารถในการแข่งขันให้กับผู้ประกอบการของจังหวัดพะเยาได้อย่างยั่งยืน และนอกจากการพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัดพะเยาแล้ว เราต้องสร้างทุนมนุษย์ที่ดีให้กับประเทศ รวมทั้งการพัฒนานั้นต้องเกิดประโยชน์ต่อคนทั้งระบบให้ครบ Value chain ที่กระจายลงสู่ฐานราก ไม่กระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่ม สร้างความเป็นธรรมและลดความเหลื่อมล้ำของคนในสังคมร่วมกัน และการพัฒนานั้นต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะทำให้คนในจังหวัดพะเยามีคุณภาพชีวิตและการสร้างรายได้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตหรือรวยขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อการสร้างความสุขของคนพะเยาต่อไป

159949105672

รศ.สุภกร พงศบางโพธิ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยพะเยา กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ นับว่าเป็นประโยชน์ต่อชุมชน และสอดรับกับวิสัยทัศน์ของมหาวิทยาลัยพะเยา คือ "มหาวิทยาลัยสร้างปัญญา เพื่อนวัตกรรมชุมชน สู่สากล" อีกทั้งเป็นการเผยแพร่ผลสำเร็จของการดำเนินงานด้านการวิจัยและนวัตกรรม โดยใช้การพัฒนาพื้นที่ร่วมกับภาคีเครือข่าย ผ่านกระบวนการส่งเสริมบุคลากรและนำองค์ความรู้ที่สามารถแก้ปัญหาและสร้างผลกระทบเชิงบวกในด้านต่างๆ ให้กับชุมชน ตลอดจนสามารถแก้ปัญหาของชุมชนได้ในหลากหลายมิติ ทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน การสร้างรายได้และลดรายจ่ายในครัวเรือน รวมทั้งการยกระดับด้านเกษตรกรรม นอกจากนั้นมหาวิทยาลัยพะเยา ยังมีอาจารย์ นักวิจัย และผลงานวิจัยด้านการเกษตร ตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง ทั้งการผลิตเกษตรปลอดภัย และการแปรรูปเพิ่มมูลค่า ทั้งอาหารและเครื่องสำอางจำนวนมาก รวมถึงมีการต่อยอดผลงานวิจัยสู่เชิงพาณิชย์และการสร้างผู้ประกอบการสตาร์ทอัพด้วย



นายสมบัติ ชินสุขเสริม ประธานหอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 กล่าวว่า หอการค้ากลุ่มจังหวัดภาคเหนือตอนบน 2 รับผิดชอบในพื้นที่จังหวัดเชียงราย น่าน แพร่ และพะเยา ร่วมกับจังหวัดขับเคลื่อนภาคธุรกิจ เพื่อให้เกิดการใช้ประโยชน์ภาคการเกษตรและภาคบริการในพื้นที่ รวมทั้งพัฒนากลุ่มผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดให้เข้มแข็ง ก่อให้เกิดการสร้างรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนภาคเหนือตอนบน ผมในฐานะตัวแทนหอการค้าไทยซึ่งถือเป็นไม้สุดท้ายในการทำงาน ยินดีที่ให้การสนับสนุน ร่วมมือกับทุกภาคส่วน ซึ่งได้แก่ จังหวัดพะเยา มหาวิทยาลัยพะเยา และ วว. ให้งานบรรลุวัตถุประสงค์จะพยายามเชื่อมต่อให้เกิดการนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้อย่างแท้จริงและคุ้มค่ามากที่สุด

159949107623

นายสายันต์ ตันพานิช รองผู้ว่าการวิจัยและพัฒนาด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ วว. กล่าวว่า วว. ได้รับมอบหมายจาก กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม ในการส่งเสริมการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก และผลักดันการทำงานแบบบูรณาการในลักษณะจตุภาคี หรือ Quadruple Helix ระหว่างหน่วยงานการวิจัย การศึกษา จังหวัด และ ชุมชน ทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อให้เกิดการทำงานและขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน จากนโยบายดังกล่าว จึงนำมาสู่การลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ ซึ่งภายใต้ความร่วมมือนั้น วว. ได้เริ่มต้นกิจกรรมการทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยพะเยาและกลุ่มแปรรูปมะขามในพื้นที่จังหวัดพะเยา โดยการส่งมอบต้นพันธุ์มะขามเปรี้ยวยักษ์และมอบตราสัญลักษณ์ผลิตภัณฑ์ ภายใต้ "โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสังคมไทย ด้วยการสร้างสรรค์คุณค่าเครื่องสำอางตามเอกลักษณ์ท้องถิ่น หรือ โครงการ Thai Cosmetopoeia และภายใต้โครงการนี้ วว. มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ในการผลักดันการใช้ประโยชน์ของวัตถุดิบที่มีความเป็นเอกลักษณ์ของพื้นที่หรือชุมชนท้องถิ่น ในการพัฒนาเป็นสารมูลค่าสูงและผลิตภัณฑ์นวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ หรือ creation value product เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากได้อย่างยั่งยืน

159949112543

วัตถุประสงค์ในการลงนามความร่วมมือของทั้ง 4 หน่วยงาน เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) เพื่อใช้เป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาผลิตภัณฑ์เกษตรและชีวภาพ อาหาร เวชสำอางไทย และผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่เพิ่มมูลค่าให้สูงขึ้น เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งพัฒนาวิธีบริหารจัดการทรัพยากรในพื้นที่จังหวัดพะเยาให้มีการใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า สร้างและรักษาเอกลักษณ์หรืออัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติของจังหวัดพะเยา ส่งเสริมและกระตุ้นให้เกิดการนำรายได้คืนสู่การพัฒนาและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้งชุมชน ท้องถิ่น ที่เป็นฐานรากของทรัพยากรนั้นไว้ เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืนและทั่วถึง (Inclusive growth) พัฒนาความร่วมมือด้านการวิจัย การบริหารจัดการองค์ความรู้ และพัฒนากำลังคนด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้านอุตสาหกรรมชีวภาพ และการพัฒนาอย่างยั่งยืนร่วมกัน>><<