ส่องวิสัยทัศน์ 'กิติพงค์ พร้อมวงค์' คัมแบ็คนั่ง 'ผอ.สอวช.' สมัยสอง

ส่องวิสัยทัศน์ 'กิติพงค์ พร้อมวงค์' คัมแบ็คนั่ง 'ผอ.สอวช.' สมัยสอง

'กิติพงค์ พร้อมวงค์' หลังคัมแบ็คนั่ง 'ผอ.สอวช.' สมัยสอง ชูใช้ 'อุดมศึกษา-วิจัย-นวัตกรรม' แก้ปัญหาปากท้อง ดึงพลังมหาวิทยาลัยลงช่วยชุมชน เพิ่มมูลค่าผลผลิตการเกษตรแบบทำน้อยได้มาก หนุนสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มสัญชาติไทย ปลดล็อคกฎหมายอุปสรรคการพัฒนา

ภายหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ลงนามในคำสั่งแต่งตั้ง “ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์” เป็นผู้อำนวยการสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ สอวช. เป็นสมัยที่ 2 ระยะเวลา 4 ปี ตั้งแต่ 31 พฤษภาคมนี้ เป็นต้นไป โดยได้แถลงถึงนโยบายที่จะดำเนินการตลอดช่วง 4 ปีต่อจากนี้ว่า สิ่งที่ต้องดำเนินการเร่งด่วนคือ นโยบายแก้ปัญหาปากท้องของประชาชน ซึ่งรัฐบาลมีมาตรการให้ยาแรง โดยมีวิกฤติโควิด-19 เป็นตัวเร่งไปแล้วในหลายรายการ 

ในส่วนของ สอวช. ได้เร่งวางนโยบายเพื่อตอบโจทย์วิกฤติประเทศในขณะนี้ และเพื่อเตรียมรับภาวะปกติใหม่ หรือ นิวนอร์มอล โดยแบ่งการจัดการออกเป็น 4 ระยะ เริ่มตั้งแต่มีการแพร่ระบาดในเดือน พ.ย.2562  คือ ระยะที่ 1 Restriction (เดือนที่ 1-6) ระยะพยายามควบคุมการแพร่ระบาด สอวช.ได้ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) จัดทำโปรแกรมการแก้ปัญหาวิกฤตของประเทศ เพิ่มเป็นโปรแกรมที่ 17 ภายใต้แผนยุทธศาสตร์ด้านการพัฒนาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (แผนด้าน ววน.) โดยมีเป้าประสงค์ในการใช้ความรู้ การวิจัยและนวัตกรรมเพื่อคาดการณ์ปัญหา จัดการกับภาวะวิกฤติได้อย่างทันท่วงที เพื่อลดความเสียหายและบรรเทาความเสียหายในระยะสั้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ อาทิ การใช้ ววน.พัฒนาอุปกรณ์การแพทย์ เวชภัณฑ์ ระบบการติดตามการระบาด การให้ความรู้แก่ประชาชน มีมาตรการทางการแพทย์ สาธารรณสุขและฟื้นฟูเศรษฐกิจสังคม ทั้งในระดับอุตสาหกรรมและระดับพื้นที่ ตลอดจนประเทศสามารถปรับตัว มีความมั่นคงในด้านอาหาร สุขภาพและสังคม เป็นต้น 

159127220848

ระยะที่ 2 Reopening (เดือนที่ 7-12) เป็นระยะผ่อนคลายการควบคุมและเริ่มกลับสู่การประกอบกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นระยะที่ต้องช่วยให้คนมีงานทำ สอวช. มีนโยบายพัฒนากำลังคนเพื่อช่วยให้คนมีงานทำ โดยการรีสกิล/อัพสกิลที่ไม่ได้มีเป้าหมายเพียงแค่ฝึกอบรม แต่มุ่งเป้าให้สามารถนำไปต่อยอดใช้จริงได้ กลุ่มเป้าหมายคือ คนตกงาน คนที่ยังมีงานทำแต่มีความเสี่ยงที่จะตกงาน และนักศึกษาจบใหม่ที่มีโอกาสหางานได้ยากขึ้น นอกจากนี้ต้องเร่งช่วยเอสเอ็มอีกับผู้ประกอบการ โดยใช้กลไกผ่านหน่วยบริหารและจัดการทุน ทั้งหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ที่อยู่ภายใต้ร่มนิติบุคคลของ สอวช. ในการจัดสรรทุนวิจัยและสร้างนวัตกรรมไปยังผู้ประกอบการอย่างตรงจุด ทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยี การสร้างตลาด การพัฒนาเชิงพื้นที่ 

ระยะที่ 3 หรือ Recovery (เดือนที่ 13-18) ระยะการฟื้นตัวและปรับตัวภายหลังจากสถานการณ์คลี่คลาย โดย สอวช. อยู่ระหว่างการจัดทำข้อเสนอนโยบายที่จะใช้ อววน. เป็นเครื่องมือสำคัญในการเสริมความแข็งแกร่งให้กับทุกภาคส่วนทั้งภาคส่วนท่องเที่ยว การผลิต SMEs บริการภาครัฐ การศึกษา สุขภาพ เศรษฐกิจฐานราก เกษตรต้นน้ำ อาหาร รวมถึงศิลปวัฒนธรรมและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ผ่านการนำ อววน. ไปช่วยฟื้นฟูใน 7 ด้าน คือ 1. บรรเทาผลกระทบ ให้การช่วยเหลือฟื้นฟู เยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบ และการปรับตัว 2. ปรับเปลี่ยนทักษะ ยกระดับทักษะแรงงาน พัฒนาทุนมนุษย์ในสาขาต่างๆ 3. เปลี่ยนผ่านธุรกิจและกิจกรรมสู่ดิจิทัลเพื่อลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และตอบโจทย์พฤติกรรมใหม่ที่ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยและความปลอดภัย 4. บูรณาการข้อมูลขนาดใหญ่เพื่อการจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ 5. ลงทุนวิจัยและพัฒนาเพื่อสร้างสรรค์มูลค่า ลดความเหลื่อมล้ำ และส่งเสริมคุณค่าความเป็นมนุษย์ ส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยี การนำนวัตกรรมสู่การพาณิชย์ ผู้ประกอบการใหม่ นวัตกรรมสังคมและชุมชน 6. สนับสนุนให้เกิด Circular Economy และภูมิคุ้มกันประชาชนและธุรกิจสู่ความยั่งยืน และ 7. ปลดล็อคกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรค และพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ซึ่งเมื่อจัดทำข้อเสนอนโยบายดังกล่าวแล้วเสร็จจะนำเสนอต่อสภานโยบายเพื่อพิจารณาเสนอ ครม. ต่อไป

159127238531

ระยะที่ 4  Restructuring (เดือนที่ 19 – อนาคต 5 ปีข้างหน้า) คาดว่าจะมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจและสังคม จากมุมของการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือ อววน. เช่น การขายสินค้าภาคเกษตร จากเกษตรตามยถากรรมไปสู่เกษตรแบบแม่นยำหรือเกษตรที่มีมูลค่าสูง กำหนดราคาเองได้ โดยใช้นวัตกรรมผลิตพืชแนวใหม่ สร้างขีดความสามารถของผู้ประกอบการด้านอาหาร โดยใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีไปสู่อาหารเพื่ออนาคต สร้างจุดขายภาคการท่องเที่ยวบนฐานความแข็งแกร่งทางสาธารณสุขและวัฒนธรรม ชูเมืองรองควบคู่ไปกับการพัฒนามาตรฐาน การเชื่อมโยงและความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยว โดยในระยะนี้ก็จะใช้กลไกหน่วยบริหารและจัดการทุนเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการนำการวิจัยและนวัตกรรมสู่ภาคการผลิตและภาคบริการ จะไม่ใช่แค่การวิจัยพัฒนาแล้วจบไป แต่ต้องนำไปสู่เชิงพาณิชย์ได้จริงเพื่อให้เกิดเทคโนโลยี และบริษัทเทคโนโลยีสัญชาติไทย โดยไทยมีศักยภาพทั้งด้านยาชีววัตถุ เครื่องมือการแพทย์ อาหาร เกษตร พลังงาน นอกจากนี้ จะดำเนินการควบคู่ไปกับการใช้กลไกจากการดึงพลังนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ลงไปทำงานร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ และสร้างรายได้ สร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน ผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษา เช่น ส่งเสริมให้เกิด 1 บริษัท 1 อำเภอ, การสร้างเกิดแพลตฟอร์มการค้าออนไลน์สัญชาติไทย, พัฒนาการศึกษาออนไลน์และระบบการศึกษาแบบผสม เป็นต้น  

“สอวช. โดยหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (บพข.) ร่วมกับ บีโอไอ สนับสนุนงบประมาณมหาวิทยาลัยและเอกชน ทำการวิจัยและพัฒนา โดยเน้นโครงการสำคัญที่ตอบโจทย์ประเทศในอนาคต เพื่อให้เรามีเทคโนโลยีเป็นของตนเอง เช่น โครงการผลิตยาชีววัตถุ เพื่อที่ประเทศไทยจะสามารถผลิตวัคซีนป้องกันโรคระบาดในอนาคตได้ เนื่องจากเรามีมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพหลายแห่ง เช่น มหิดล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฯลฯ, พัฒนาต้นแบบรถไฟฟ้า เพื่อใช้ในเมืองอัจฉริยะ ขณะนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน วิทยาเขตขอนแก่น ก็มีศักยภาพในการดำเนินการ เป็นต้น

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญต่อการพัฒนา คือการปลดล็อคกฎหมายที่ยังเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดนวัตกรรม โดย สอวช. อยู่ระหว่างดำเนินการรวบรวมประเด็นการวิจัยและนวัตกรรม เพื่อเป็นกรณีศึกษานำร่องจัดตั้งโครงการ Innovation Sandbox โดยจะจัดลำดับความสำคัญของประเด็นที่เป็นข้อจำกัดเพื่อหาแนวทางปลดล็อคทั้งในเชิงกฎหมาย ระเบียบ ขั้นตอนการดำเนินงาน รวมถึงกลไกการดำเนินงานของคณะกรรมการพิเศษเฉพาะเรื่อง (Innovation Sandbox) โดยกระบวนการมีส่วนร่วมของผู้มีส่วนได้เสีย อาทิ ผู้ประกอบการ นักวิจัย หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลเป็นรูปธรรมต่อไป ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่จะทำให้ประเทศไทยเพื่อไปต่อได้แบบยั่งยืน” 

159127269962

ภาพ:ดาวน์โหลดข้อมูลได้ที่ http://www.ones.or.th/th/report/2350/

นอกจากนี้ ดร.กิติพงค์ ยังย้ำด้วยว่า ประเทศไทยมีศักยภาพและขีดความสามารถด้านการผลิตและบริการในหลายสาขาที่สำคัญ ได้แก่ เกษตร เกษตรอาหาร สุขภาพ ท่องเที่ยว พลังงานชีวภาพ (BCG) ก่อสร้าง โลจิสติกส์ ดิจิทัล และ AI เป็นต้น สอวช. มีบทบาทสำคัญในการผลักดันการพัฒนาขีดความสามารถของสาขาเหล่านี้ผ่านทางการจัดลำดับความสำคัญ กำหนดโจทย์ประเทศ และการออกแบบกลไกและมาตรการส่งเสริมและสนับสนุน ทั้งด้านการพัฒนากำลังคนทักษะสูงจากทั้งระบบผลิตบัณฑิตโดยสถาบันอุดมศึกษา และระบบ Reskilling และ Upskilling รวมทั้งการส่งเสริมให้เกิด Brain Circulation ของ Talent จากทั่วโลกเข้ามาร่วมพัฒนาโดยไม่จำเป็นต้องมาอยู่ประจำในประเทศไทย และด้านวิจัยและนวัตกรรมซึ่งครอบคลุมทั้งวิจัยพื้นฐาน วิจัยประยุกต์ การวิจัยขั้นแนวหน้า การสร้างนวัตกรรม การถ่ายทอดเทคโนโลยี และการส่งเสริมการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น 

“เชื่อว่า การออกแบบนโยบายดี การจัดสรรงบประมาณที่เหมาะสม และการบริหารจัดการที่ดี จะสามารถนำพาประเทศก้าวพ้นวิกฤติ และยืนได้ด้วยขาของตนเอง แน่นอนว่า วิกฤตการณ์โควิดครั้งนี้ คือ บทเรียนครั้งสำคัญ ที่ทำให้ทั่วโลกหันมาปรับเปลี่ยนนโยบายกันครั้งใหญ่ ประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน แต่เราต้องไม่จมกับปัญหา เราต้องนำบทเรียนครั้งนี้ไปสู่โอกาสผ่านการขับเคลื่อนตั้งแต่ระดับนโยบาย” ดร.กิติพงค์ กล่าวทิ้งท้าย