ม.อ.พัฒนา ‘ชุดตรวจโควิด’ หนุนภารกิจเชิงรุกชี้ผู้ติดเชื้อ

ม.อ.พัฒนา ‘ชุดตรวจโควิด’ หนุนภารกิจเชิงรุกชี้ผู้ติดเชื้อ

“ชุดตรวจโควิด-19” รู้ผลเร็ว 15 นาที เครื่องมือล่าสุดจาก ม.สงขลานครินทร์ที่จะทำให้รู้สถานการณ์ที่แท้จริงของโรคและจัดการกับสถานการณ์ได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ ลุ้นเปิดตัวใช้งานล็อตแรก 15 พ.ค.นี้ใน 3 พื้นที่ชายแดนใต้ จากนั้นขยายผลสู่ 14 จังหวัดภาคใต้ตามแผน

1 ใน 3 เทคโนโลยีที่ได้รับการสนับสนุนจาก บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ผ่านทาง “กลุ่มช่วยกัน” ที่ระดมพลังสมอง เทคโนโลยีและทุน เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้คนไทยดำเนินชีวิตได้ปกติสุขหรือใกล้เคียงปกติสุขภายใต้ข้อจำกัดที่ยังไม่มีวัคซีนและยาที่ใช้ได้ผล หลังจากมาตรการล็อกดาวน์ ส่วนอีก 2 เทคโนโลยีคือ แอพพลิเคชั่นหมอชนะ และระบบปลอดเชื้อ/ฆ่าเชื้อในโรงพยาบาล

เลือด 2 หยดตรวจหาผู้ติดเชื้อ

ผศ.ธีรกมล เพ็งสกุล อาจารย์ประจำคณะเทคนิคการแพทย์ หัวหน้าโครงการชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 (PSU COVID-19 Rapid Test) กล่าวว่า ชุดตรวจนี้ใช้หลักการอิมมูโนโครมาโตรกราฟี( Immunochromatography) ตรวจหาภูมิคุ้มกันของร่างกายทั้งที่เป็น IgM และ IgG กล่าวคือ เมื่อร่างกายได้รับเชื้อโรคเข้ามาก็จะสร้างสารภูมิคุ้มกันซึ่งเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อว่า IgM หากใครได้รับเชื้อเข้ามาในร่างกายในระยะแรกก็จะตรวจเจอ IgM นี้ และถ้าใครที่เคยได้รับเชื้อนี้มาแล้ว แต่ปัจจุบันหายแล้ว และร่างกายก็สร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อนี้ได้ ก็จะตรวจเจอสารภูมิคุ้มกันที่ชื่อว่า IgG การตรวจนี้สามารถทำได้อย่างรวดเร็ว 15-20 นาทีก็รู้ผล แสดงผลเป็นแถบสีคล้ายชุดตรวจการตั้งครรภ์ 

158816545746

ชุดตรวจนี้สามารถเก็บรักษาได้ที่อุณหภูมิห้องเป็นเวลาหลายเดือน อีกทั้งตัวอย่างที่ใช้ในการตรวจมีปริมาตรน้อย ประมาณ 15-20 ไมโครลิตร (2-3 หยด) ใช้ได้กับตัวอย่างเลือดที่เจาะจากปลายนิ้ว พลาสมาหรือซีรัมตัวอย่างเหล่านี้มีปริมาณของเชื้อไวรัสที่น้อยมาก จึงลดความเสี่ยงในการติดเชื้อของบุคลากรจากการเก็บตัวอย่างอีกทั้งยังเหมาะกับการตรวจภาคสนามหรือตรวจผู้ที่ถูกกักตัวที่บ้านโดยที่ไม่ต้องเดินทางมาโรงพยาบาล ลดการแพร่เชื้อและการลดภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์ในสถานพยาบาลได้

“เมื่อวิจัยเสร็จสิ้นจะนำร่องใช้ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ และต่อยอดให้ครอบคลุมทั้ง 14 จังหวัดภาคใต้ที่มีเคสจำนวนมาก คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายในวันที่ 15 พ.ค.นี้ และหากโครงการผ่านไปได้ด้วยดีภายหลังจดอนุสิทธิบัตร จะถ่ายทอดนวัตกรรมให้กับภาคเอกชนนำไปขอ อย. สำหรับการพิจารณาขึ้นทะเบียนเป็นเครื่องมือแพทย์เพื่อนำไปผลิตชุดตรวจในเชิงพาณิชย์ในลำดับต่อไป”

158816547335

เปิดแผนหนุน“ปลายด้ามขวาน”

ผศ.นิวัติ แก้วประดับ อธิการบดีมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (ม.อ.) กล่าวว่า ม.อ.มีเครือข่ายอยู่ 5 วิทยาเขตทั่วภาคใต้ที่ตรัง สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต หาดใหญ่ ปัตตานี ทำให้การประสานงานเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงอาสาเป็นกำลังหลักในการดูแลพื้นที่14 จังหวัดภาคใต้ ทั้งในส่วนการสนับสนุนเวชภัณฑ์ การอำนวยความช่วยเหลือการติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มห้องปลอดเชื้อในเขตภาคใต้ และพัฒนานวัตกรรมที่ใช้ได้จริงอย่างต่อเนื่องเพื่อใช้ในประเทศไทย และประเทศเพื่อนบ้าน รวมไปถึงการส่งเสริมและผลักดันการใช้ “แอพพลิเคชั่นหมอชนะ” ในพื้นที่ภาคใต้อีกด้วย

158816549782

ขณะที่การวินิจฉัยการติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ที่ถือเป็นวิธีมาตรฐานคือ RT-PCR เป็นการตรวจหาสารพันธุกรรม (อาร์เอ็นเอ) ของไวรัส โดยตรวจจากสารคัดหลั่งบริเวณทางเดินหายใจ ซึ่งต้องใช้บุคลากรที่มีความชำนาญในการปฏิบัติงาน และแปลผลการตรวจ ใช้ระยะเวลาการตรวจ 2-3 ชั่วโมง เครื่องมือมีราคาสูง จึงไม่เหมาะกับงานภาคสนาม อีกทั้งบุคลากรที่ทำหน้าที่เก็บตัวอย่างจะมีความเสี่ยงสูงในการติดเชื้อไวรัส เนื่องจากต้องสัมผัสกับคนไข้ในระหว่างการเก็บตัวอย่างส่งตรวจจากทางเดินหายใจ ซึ่งมีความเข้มข้นของเชื้อไวรัสในปริมาณสูง

สนับสนุนเชิงรุก

จากสภาพปัญหาดังกล่าว จึงได้เกิดการระดมทีมนักวิจัยข้ามศาสตร์ระหว่างคณะเทคนิคการแพทย์กับคณะเภสัชศาสตร์ ทำการพัฒนาชุดทดสอบเพื่อตรวจคัดกรองการติดเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ดังกล่าวขึ้น เพื่อสนับสนุนการตรวจเชิงรุก และใครที่ตรวจพบว่ามีการสร้างสารภูมิคุ้มกันขึ้นแล้วจะต้องเข้ารับการตรวจ RT-PCR ซ้ำอีกครั้ง 

สิ่งสำคัญคือ ผลการตรวจจะทำให้คนที่มีความเสี่ยงในการแพร่เชื้อได้รับรู้สถานะของตน เมื่อรู้ว่าตนมีเชื้อไวรัสอยู่ก็จะยิ่งให้ความร่วมมือ รวมทั้งปฏิบัติตามวิธีต่างๆ เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อให้กับผู้อื่น

158816552493