ไขรหัส 'เวิร์คเพลส ทรานส์ฟอร์เมชั่น' พลิกองค์กรรับการทำงานยุคใหม่

ไขรหัส 'เวิร์คเพลส ทรานส์ฟอร์เมชั่น' พลิกองค์กรรับการทำงานยุคใหม่

ต้องสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้ตอบโจทย์ทุกรูปแบบการทำงาน

การปรับตัว เปลี่ยนวิถีการทำงานสู่รูปแบบโมบาย รวมถึงการทำงานจากที่บ้าน “เวิร์ค ฟรอม โฮม” ของภาคธุรกิจกำลังกลายเป็นกระแสที่แพร่หลายไปในหลากหลายอุตสาหกรรม

วัตสัน ถิรภัทรพงศ์ กรรมการผู้จัดการ ซิสโก้ ประเทศไทยและภูมิภาคอินโดจีน กล่าวว่า มนุษย์เงินเดือนในศตวรรษที่ 21 หลายๆ คนทำงานผ่านโมบาย เชี่ยวชาญด้านการใช้เทคโนโลยี ขณะเดียวกันการจัดสรรบุคลากรหลายฝ่ายให้มาทำงานร่วมกันในลักษณะโปรเจ็คกลายเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน

ดังนั้นการปรับเปลี่ยนพื้นที่ทำงานเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ หรือ เวิร์คเพลส ทรานส์ฟอร์เมชั่น (Workplace Transformation)” จำต้องทำไปกับการดีไซน์เวิร์คสเปซที่เหมาะสม การติดตั้งเทคโนโลยีทันสมัยที่รองรับการทำงาน และมีข้อตกลงร่วมกันของทีมงานในการสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานรูปแบบใหม่ 

ทุกวันนี้พนักงานอาศัยเครื่องมือดิจิทัลในการติดต่อสื่อสารมากขึ้น ภายใต้ความแตกต่างหลากหลายของวัฒนธรรม ต้องการความยืดหยุ่น และความสมดุล แต่ละคนล้วนมองหาโอกาส ความสำเร็จ และการมีส่วนร่วม 

พร้อมๆ ไปกับยังต้องการทำงานได้อย่างเต็มศักยภาพ ไร้ขีดจำกัด ฉะนั้นจำเป็นต้องสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานให้ตอบโจทย์ทุกรูปแบบการทำงาน ความแตกต่างของบุคลากร และการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้นกว่าแต่ก่อน

ทุกหน่วยธุรกิจต้องร่วมมือ

ซิสโก้เผยว่า ในการขับเคลื่อนงานนั้นทั้งฝ่ายทรัพยากรบุคคล ฝ่ายบริหารจัดการสถานที่หรือฝ่ายปฏิบัติงาน และฝ่ายไอที จะเป็นผู้รับผิดชอบร่วมกัน เพื่อกำหนดกลยุทธ์แบบองค์รวมสำหรับการสร้างเวิร์คสเปซที่ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามความเหมาะสม และสร้างการมีส่วนร่วมของทุกคนในองค์กร

โดยการออกแบบที่เหมาะสม จำต้องมีเทคโนโลยีมารองรับการทำงาน ข้อตกลงร่วมกันของทีม ทำความเข้าใจปัญหา วิธีจัดการ มีการวางแผนอย่างรอบคอบ รับฟังข้อมูล และความเห็นจากพนักงานทุกคนในองค์กร

เวิร์คเพลส ทรานส์ฟอร์เมชั่น มีความสำคัญอย่างมากต่อการขับเคลื่อนการเติบโตและความสำเร็จของทุกองค์กร ไม่ว่าจะเป็นขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่

นอกจากนี้ ที่สำคัญควรมีการประเมินสถานะในปัจจุบันและกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนสำหรับการปรับเปลี่ยนดีไซน์ของเวิร์คสเปซ และควรกระตุ้นให้พนักงานเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการออกแบบ

บิ๊กดาต้าเสริมแกร่งธุรกิจ

ผู้บริหารซิสโก้บอกว่า มุมของเทคโนโลยีบริษัทต่างๆ กำลังเผชิญกับความท้าทายในการจัดหาแพลตฟอร์มที่จะช่วยเสริมสร้างศักยภาพให้แก่พนักงานสำหรับการสร้างสรรค์นวัตกรรม และเพิ่มรายได้ให้แก่องค์กร ควบคู่ไปกับการลดค่าใช้จ่าย ประเด็นนี้โซลูชั่นด้านการทำงานร่วมกัน(Collaboration) จะช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงาน เพิ่มความรวดเร็วในการทำงานเป็นทีม รองรับการประชุมอย่างมีประสิทธิภาพบนทุกอุปกรณ์และในทุกสถานที่ รวมถึงลดค่าใช้จ่ายด้านการเดินทาง เพิ่มขวัญและกำลังใจให้แก่พนักงาน

เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากข้อมูลบิ๊กดาต้าอย่างเต็มที่ บริษัทจำเป็นต้องใช้โครงสร้างพื้นฐานที่พร้อมรองรับการวิเคราะห์ข้อมูล รวมถึงแพลตฟอร์มด้านข้อมูลที่ผสานรวมเข้าด้วยกัน เพื่อดึงเอาข้อมูลจากหลายๆ แหล่ง กลั่นกรองข้อมูลดังกล่าวโดยใช้แอพพลิเคชั่นวิเคราะห์ข้อมูล และทำให้ข้อมูลพร้อมใช้งานในลักษณะที่ปลอดภัย รวดเร็ว ง่ายต่อการจัดการ และปรับเปลี่ยนได้อย่างเหมาะสมตามความต้องการที่เปลี่ยนไป

ด้วยปัจจุบันการโจมตีทางไซเบอร์มีจำนวนและความซับซ้อนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ระบบรักษาความปลอดภัยแบบเลเยอร์เดียวจึงไม่เพียงพอ บริษัทจำเป็นที่จะต้องใช้โซลูชั่นบิ๊กดาต้าที่สามารถปรับเปลี่ยนตามภัยคุกคามที่ซับซ้อน และช่วยให้ฝ่ายไอทีได้รับทราบข้อมูลเชิงลึกที่จำเป็นสำหรับการแก้ไขปัญหาอย่างทันท่วงทีก่อนที่จะลุกลาม และส่งผลกระทบต่อการดำเนินงาน

“ภัยคุกคามทางไซเบอร์มีความซับซ้อนมากขึ้น ส่งผลให้เกิดปัญหาข้อมูลรั่วไหลครั้งแล้วครั้งเล่า และกลายเป็นเรื่องยากมากในการไล่ตามคนร้าย บริษัทจึงจำเป็นต้องใช้ระบบเครือข่ายที่รู้ว่าเมื่อไรควรจะเป็นฝ่ายรุก และเมื่อไรควรจะเป็นฝ่ายตั้งรับ สามารถคุ้มครองเครือข่ายได้อย่างทั่วถึง รวมถึงส่วนขอบของเครือข่าย และอุปกรณ์ลูกข่าย”

ยกเครื่องเน็ตเวิร์ค-ซิเคียวริตี้

วัตสันชี้ว่า องค์กรทุกขนาดจำเป็นต้องใช้ระบบประมวลผลข้อมูลส่วนกลาง การเชื่อมต่อที่มีเสถียรภาพ เพื่อรองรับการจัดการข้อมูลและการติดต่อสื่อสาร รวมถึงกำหนดกลยุทธ์ด้านโมบิลิตี้เพื่อให้พนักงานเชื่อมต่อกับเครือข่ายได้อย่างต่อเนื่อง ทั้งที่ทำงาน ที่บ้าน และในขณะเดินทาง

ขณะเดียวกันเพื่อให้สามารถตรวจจับภัยคุกคามอย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพมากขึ้น และสกัดกั้นภัยคุกคามได้อย่างทันท่วงทีภายในเวลาไม่กี่ชั่วโมง แทนที่จะต้องใช้เวลาหลายวันหรือหลายสัปดาห์ จำเป็นที่จะต้องใช้สถาปัตยกรรมที่ครอบคลุมเครือข่ายและอุปกรณ์ทั้งหมด รวมไปถึงระบบคลาวด์

“ทุกองค์ประกอบจะต้องได้รับการออกแบบเป็นพิเศษเพื่อให้ทำงานร่วมกันได้อย่างเหมาะสม มีการแบ่งปันข้อมูล และใช้ประโยชน์จากข้อมูลข่าวกรองด้านภัยคุกคามและระบบงานอัตโนมัติ เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับทีมงาน รอดพ้นจากมัลแวร์เรียกค่าไถ่ มัลแวร์ขั้นสูง ฟิชชิ่ง สแปม และการโจรกรรมข้อมูลต่างๆ”