อวัยวะเทียมพิมพ์ได้ ‘หาญฯ’พลิกโฉมเมดิคัลไทย

อวัยวะเทียมพิมพ์ได้ ‘หาญฯ’พลิกโฉมเมดิคัลไทย

บมจ.หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จุดประกายความคิดที่จะทรานส์ฟอร์มบริษัทเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศและสามารถต่อยอดโมเดลธุรกิจที่มีอยู่ในมือได้เป็นอย่างดี

“เมดิคัล”หมุดหมายใหม่

ระยะเวลากว่า 54 ปี จากอดีตดำเนินธุรกิจบนเส้นทางผู้นำเข้าและจัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์ในระบบดับเพลิง ระบบปรับอากาศ ระบบการพิมพ์ดิจิทัล รวมทั้งให้คำปรึกษาและออกแบบระบบในโครงการต่างๆ และการให้บริการโซลูชั่นด้านวิศวกรรมครบวงจร แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญกับการดำเนินธุรกิจส่งผลให้อุตสาหกรรมที่ทำเกิดความไม่แข็งแกร่ง

157720007021

บมจ.หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จึงจุดประกายความคิดที่จะทรานส์ฟอร์มบริษัทตบเท้าเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ ซึ่งเป็นจุดแข็งของประเทศและสามารถต่อยอดโมเดลธุรกิจที่มีอยู่ในมือได้เป็นอย่างดี พร้อมทั้งเดินหน้าหาพาร์ทเนอร์ในต่างประเทศที่โดดเด่นด้านไอที

เจน ชาญณรงค์ กรรมการบริหารบริษัท หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จำกัด (มหาชน) นำเสนอโครงการ “3D Med การสร้างแบบจำลองอวัยวะด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติขั้นสูง” เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ โดยร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ เอ็นไอเอ ว่า ในอนาคต 3-5 ปีนับจากนี้จะก้าวสู่การพิมพ์ชีวภาพ ซึ่งเป็นการพิมพ์อวัยวะเทียมที่ไม่ใช่แค่การพิมพ์เป็นพลาสติก โลหะ แต่สามารถพิมพ์อวัยวะมนุษย์ได้ด้วยเซลล์ของผู้ป่วยเอง โดยอาจจะเริ่มจากกระดูกอ่อน และพัฒนาสู่ ไต ตับ แบบเฉพาะเจาะจงสำหรับบุคคลในอนาคตได้ อีกทั้งจะปรับความคงทน และยืดอายุการใช้งานให้ได้นานยิ่งขึ้น

“การโจทย์ที่ได้รับจากการแพทย์นำมาแก้ปัญหาด้วยวิธีการทางวิศวกรรม เพื่อพัฒนาอุปกรณ์ที่มีฟังก์ชันตามความเหมาะสมในทางการแพทย์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ความสำเร็จในครั้งนี้ถือเป็นการสร้างให้เกิดบริการทางพาณิชย์ด้านการพิมพ์สามมิติในไทยเป็นครั้งแรก ช่วยยกระดับความสามารถทางการแพทย์ไทยไปอีกขั้นให้ใกล้เคียงหรือเท่าเทียมกับประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งยังสามารถทำให้คนไทยเข้าถึงได้ในราคาที่เหมาะสมอีกด้วย”

ทั้งนี้ วิสัยทัศน์ของบริษัทต้องการเพิ่มคุณภาพชีวิตคนไทยด้วยวิศวกรรมอย่างยั่งยืน โดยมีบิซิเนสยูนิตที่ทำพรินติ้งสำหรับพิมพ์กล่องบรรจุภัณฑ์ 2 มิติมานานกว่า 20 ปี จึงเริ่มปรับสู่สเกลการพิมพ์ 3 มิติ และนำร่องใช้ทางการแพทย์ด้วยการสร้างแบบจำลองอวัยวะสามมิติ แต่กระนั้นก็ยังไม่ละทิ้งหน่วยธุรกิจเดิม

“อะไรที่ดีอยู่ก็ยังคงเดิมไว้ แต่หาญจะค่อยๆ แตกไลน์สู่ธุรกิจอื่นๆ จึงจำเป็นต้องมีคนรุ่นใหม่และเทคโนโลยีใหม่ๆ เข้ามาสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจ และแน่นอนว่ากว่าที่จะสร้างหน่วยธุรกิจใหม่ได้นั้นต้องใช้เวลาอย่างต่ำ 5 ปี ซึ่งต้นไม้เล็กที่เพิ่งเริ่มต้นอย่างไรก็ยังต้องการต้นไม้ใหญ่ในการหล่อเลี้ยง เพราะต้องใช้ทรัพยากรอย่างมากในการพัฒนาต่อยอดสู่ผลสัมฤทธิ์หน่วยธุรกิจใหม่นี้ เราไม่ได้โยกบุคลากรเดิมมา แต่ได้สร้างฐานขึ้นมาใหม่ เพราะแต่ละสายธุรกิจนั้นแตกต่างกัน จึงจำเป็นที่จะต้องแยกกันอย่างชัดเจน แต่ก็จะไม่ละทิ้งโมเดลใดโมเดลหนึ่งเพื่อให้ธุรกิจทั้งหมดสามารถต่อสู้กับสถานการณ์ดิสรัปชั่นที่เกิดขึ้นได้อย่างครบวงจร”



ผสานวิศวะกับการแพทย์

เจน กล่าวเสริมว่า การสร้างแบบจำลองอวัยวะด้วยเทคโนโลยีการพิมพ์สามมิติขั้นสูงนั้น นับเป็นนวัตกรรมที่จะช่วยแพทย์อย่างมาก ทั้งแก้ปัญหาอวัยวะขาดแคลน พร้อมทั้งสนับสนุนการวินิจฉัยของแพทย์โดยการแสดงให้เห็นถึงความผิดปกติหรือรอยโรคได้อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการรักษาโรคที่มีข้อจำกัดในการสร้างภาพจากซีทีและเอ็มอาร์ไอที่ให้ข้อมูลเป็นลักษณะ 2 มิติ บางครั้งอาจเกิดการสับสนในการวินิจฉัยและจะต้องมาคาดคะเนมิติที่ 3 ด้านความลึกด้วยตนเอง

157720009719

หาญ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ จึงได้นำซอฟต์แวร์ที่มีมาอ่านข้อมูล 2 มิติและนำมาประกอบเป็น 3 มิติเพื่อให้ศัลยแพทย์ง่ายต่อการทำงานและหากต้องการพิมพ์แบบจำลองก็สามารถขึ้นรูปได้ทันที ผ่านความชำนาญการของวิศวกรรมด้าน วิศวกรรมชีวการแพทย์ (Biomedical Engineering) ที่ทำงานร่วมกับแพทย์ โดยใช้ 2 ศาสตร์ผสมผสานกัน เช่น การผ่าตัดเปิดหัวใจเด็กแรกเกิดที่มีภาวะหัวใจวายตั้งแต่กำเนิด เนื่องจากมีขนาดหัวใจที่เล็กและเห็นภาพจากการทำสแกนซีทีและเอ็มอาร์ไอไม่ชัดเจน แบบจำลองอวัยวะสามมิติช่วยให้ศัลยแพทย์สามารถประเมินความเสี่ยงและวางแผนการรักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมถึงการจัดเตรียมวัสดุอุปกรณ์ล่วงหน้า และยังช่วยในการสื่อสารเพื่ออธิบายคนไข้หรือญาติให้เข้าใจได้ง่ายยิ่งขึ้น ผ่านการวางแผนที่ดีจะสามารถส่งผลให้การรักษา หรือผ่าตัดนั้นดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดเวลาปฏิบัติการ ลดความเสี่ยง และลดการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์และบุคลากรอีกด้วย อีกทั้งโมเดลหัวใจของคนไข้ยังสามารถเก็บไว้ใช้ในการเรียนการสอนให้กับนักศึกษาแพทย์ และแพทย์ประจำบ้านในอนาคตได้อีกด้วย


ในต่างประเทศพบว่า การสร้างแบบจำลองอวัยวะนั้นได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก อาทิ กะโหลกศีรษะจำลองช่วยลดเวลาในการผ่าตัดได้ถึง 3-4 ชั่วโมง ลดมูลค่าจากการใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ทั้งห้องผ่าตัดและบุคลากรกว่า 1 แสนบาทต่อการผ่าตัด 1 ครั้ง มีความคุ้มค่ามากหากเทียบกับค่าใช้จ่ายในการสร้างแบบจำลองอวัยวะระดับหลัก 1 พันถึง 1 หมื่นบาท ส่วนการสร้างแบบจำลองอวัยวะในประเทศไทยนับว่า เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ยังมีจำกัดอยู่ในระดับห้องวิจัยและมีผู้เล่นในตลาดประเทศไทยเพียง 3-4 รายเท่านั้น อาทิ Meticuly (เมติคูลี่) สตาร์ทอัพสายดีฟเทคที่ใช้องค์ความรู้ด้านวิศวกรรมโลหการมาผสมผสานกับเทคนิคการพิมพ์ 3 มิติ และองค์ความรู้ด้านการแพทย์พัฒนากระดูกไทเทเนียมเพื่อความต้องการแบบเฉพาะบุคคล

แต่งตัวเข้าตลาดหลักทรัพย์

บริษัทจึงได้ทำงานร่วมกับพันธมิตร มุ่งสร้างให้เกิดการบริการทางพาณิชย์ด้านการพิมพ์สามมิติในประเทศไทยเป็นครั้งแรกผ่านกิจกรรมซีเอสอาร์ โดยตั้งช็อปให้อาจารย์และนักศึกษาพิมพ์ในราคาย่อมเยาว์รวมปริมาณกว่า 3 พันชิ้นต่อปี นอกจากนี้ เมื่อปีที่ผ่านมาได้เข้าร่วมอบรมหลักสูตรการจัดการนวัตกรรมสำหรับผู้ประกอบการที่มีความพร้อมเข้าจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ IDE to IPO ของสถาบันวิทยาการนวัตกรรม NIA Academy โดยมุ่งหวังที่จะสร้างทักษะและพัฒนาแนวความคิดนวัตกรรม พร้อมกับได้รับทุนจากเอ็นไอเอ เพื่อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมขึ้นในประเทศ ผ่านการผลิตแบบจำลองอวัยวะแก่โรงพยาบาลต่างๆ ต่อยอดสู่การนำไปรักษาจริงจำนวนกว่า 50 ชิ้น แก่ศูนย์ศัลยกรรมชั้นนำของประเทศเพื่อทดสอบทางคลินิกนำไปรักษาผู้ป่วยจริง อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ โดยส่งมอบให้กับแพทย์เพื่อใช้ประโยชน์ในการวินิจฉัยและใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้กับนิสิตนักศึกษาแพทย์ โดยมีโรงพยาบาลที่รับแบบจำลองไปใช้แล้ว 7 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ระยอง ชลบุรี อุบลราชธานี ขอนแก่น สงขลา และกรุงเทพฯ

157720015213

กริชผกา บุญเฟื่อง รองผู้อำนวยการด้านระบบนวัตกรรม สนช. กล่าวว่า สนช. เป็นองค์กรหลักที่มีหน้าที่ในการเชื่อมโยงระบบนวัตกรรมของประเทศ ส่งเสริมการสร้างระบบนวัตกรรมแห่งชาติ การสร้างโอกาสในการเข้าถึงและใช้ประโยชน์โครงสร้างพื้นฐานทางนวัตกรรม และการยกระดับทักษะความสามารถทางนวัตกรรมของกลุ่มเป้าหมาย โดยบริษัท หาญฯ เป็นตัวอย่างความสำเร็จของผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม ที่เกิดแนวคิดรูปแบบธุรกิจนวัตกรรมและพัฒนาแนวทางชัดเจนทั้งในด้านเทคโนโลยี ธุรกิจ การเงิน และศักยภาพของผู้ประกอบการ อีกทั้งก่อให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างจึงได้รับทุน open innovation สนับสนุนจาก สนช. ในการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมทางการแพทย์จากการพิมพ์ 3 มิติ เพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพทำให้เกิดผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่ๆ ในด้านนวัตกรรมการแพทย์ที่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้น จึงนับเป็นความสำเร็จที่ส่งผลที่ดีให้กับอุตสาหกรรมทางการแพทย์ของไทยและสร้างแรงบันดาลใจให้กับสตาร์ทอัพ เอสเอ็มอีที่สนใจด้านนี้ได้เป็นอย่างมาก อีกทั้งโปรดักส์นี้ถือเป็นควิกวินที่จะนำไปพัฒนาย่านนวัตกรรมทางการแพทย์ของโยธีและพื้นที่อื่นๆที่เราส่งเสริมเพื่อขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติสู่การปฏิรูปประเทศ