6เดือนไทยละเมิดซอฟต์แวร์ “216คดี” สูญกว่า 200 ล้าน

6เดือนไทยละเมิดซอฟต์แวร์ “216คดี” สูญกว่า 200 ล้าน

กรุงเทพฯ ละเมิดสูงสุด-อุตฯออกแบบ,ผลิต นำโด่ง

บีเอสเอร่วมมือกับบก.ปอศ. และซีอีโอลดการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในการดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังจนถึงสิ้นปี 2562 ผ่านแคมเปญ ‘Clean Up to the Countdown’ เผยตัวเลขละเมิดซอฟต์แวร์ในไทย 6 เดือนแรก 216 คดี มูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท บริษัทคนไทยละเมิดนำโด่ง 80% ขณะที่กลุ่มอุตฯผลิต ออกแบบครองแชมป์ละเมิดสูงสุด

กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) เผยตัวเลขการละเมิดลิขสิทธ์ซอฟต์แวร์ในไทย 6 เดือนแรกของปี 62 ตั้งแต่เดือนมกราคม-มิถุนายน พบการติดตั้งซอฟต์แวร์ที่ไม่มีสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในองค์กรธุรกิจ คิดเป็นมูลค่าความเสียหายกว่า 200 ล้านบาท จากการดำเนินคดีทั้งหมด 216 คดี พื้นที่ที่มีการตรวจค้น และดำเนินคดีสูงสุด คือ กรุงเทพมหานครทั้งหมด 108 คดี รองลงมา คือ สมุทรปราการ 22 คดี และชลบุรี 21 คดี

กลุ่มธุรกิจที่มีการละเมิดซอฟต์แวร์สูงสุดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต และการออกแบบ คิดเป็นสัดส่วน 50% รองลงมาเป็นกลุ่มตกแต่งภายใน ก่อสร้าง วิศวกรรม 27% และกลุ่มค้าปลีก ค้าส่ง 13% ในจำนวนนี้เป็นธุรกิจคนไทยถึง 80% ที่เหลืออีก 20% เป็นธุรกิจต่างชาติ หรือมีต่างชาติร่วมทุน

นายดรุณ ซอว์เนย์ ผู้อำนวยการอาวุโส บีเอสเอ พันธมิตรซอฟต์แวร์ ประจำภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก กล่าวว่า แคมเปญ Clean Up to the Countdown พยายามกระตุ้นให้ซีอีโอปรับเปลี่ยนมาใช้ซอฟต์แวร์ถูกต้องตามกฎหมายในการดำเนินธุรกิจก่อนเที่ยงคืนวันที่ 31 ธันวาคม 2562 แคมเปญนี้ให้องค์กรธุรกิจกว่า 10,000 แห่งทั่วไทยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายรวมถึงในภาคธุรกิจต่างๆ อาทิ อุตสาหกรรมการผลิต ก่อสร้าง การเงินและการธนาคาร วิศวกรรมศาสตร์ สถาปัตยกรรม สื่อมวลชน การออกแบบ ไอที และการดูแลสุขภาพ

อย่างไรก็ตาม บริษัทจำนวนมากเหล่านี้ ต่างเป็นผู้ใช้งานซอฟต์แวร์ แต่เป็นการใช้ที่ปราศจากสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิจากผู้ให้บริการซอฟต์แวร์ ซึ่งบีเอสเอได้ทำงานร่วมกับ บก.ปอศ. เพื่อเพิ่มความเข้มข้นบังคับใช้กฎหมายกับองค์กรเหล่านี้ ซึ่งบีเอสเอช่วยให้เบาะแสเกือบ 10,000 รายใน 10 จังหวัด ที่สงสัยว่ามีการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมาย

157122484355

ทั้งนี้ บก.ปอศ. ต้องการเห็นผู้นำธุรกิจดำเนินการเชิงรุกทำให้สินทรัพย์ซอฟต์แวร์ขององค์กรถูกต้องตามกฎหมาย เพื่อให้พวกเขาเริ่มต้นปีใหม่ในฐานะบริษัทที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ ตั้งแต่วันนี้จนถึงปีใหม่เจ้าหน้าที่ตำรวจบก.ปอศ.จะเดินหน้าตรวจค้นและดำเนินคดีกับองค์กรธุรกิจที่ไม่ปฏิบัติตามกฎหมายการคุ้มครองลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไทยอย่างต่อเนื่อง

โดยจะเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจค้นและดำเนินคดีภายใต้กฎหมายของไทย ในขณะเดียวกันทางบีเอสเอก็กำลังติดต่อกับผู้นำองค์กรธุรกิจหลายพันคนในประเทศไทยเพื่อให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาในการจัดการกับการใช้ซอฟต์แวร์ผิดกฎหมายในสถานที่ทำงานควบคู่กันไปด้วย

‘ซีอีโอบางคนอาจทราบดีว่า บริษัทของพวกเขากำลังใช้ซอฟต์แวร์ที่ผิดกฎหมายอยู่และระมัดระวังเรื่องการลงทุนในซอฟต์แวร์ลิขสิทธิ์ แต่ยังมีซีอีโอของบริษัทอีกจำนวนมาก ที่มีคอมพิวเตอร์หลายร้อยหรือหลายพันเครื่อง และอาจไม่ทราบว่าซอฟต์แวร์ที่ติดตั้งอยู่ในคอมพิวเตอร์ของบริษัทเป็นประเภทไหนและถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่’ นายซอว์เนย์ กล่าว

แคมเปญ Clean Up to the Countdown เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Legalize and Protect ที่เปิดตัวเมื่อต้นปี จนถึงขณะนี้โครงการดังกล่าวได้ช่วยองค์กรธุรกิจกว่า 6,000 แห่งในประเทศไทยปรับเปลี่ยนมาใช้สินทรัพย์ซอฟต์แวร์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย ทั้งยังปกป้องข้อมูลสำคัญๆ จากมัลแวร์และแฮกเกอร์อีกด้วย

ปัจจุบันประเทศไทย มีตัวเลขการละเมิดลิขสิทธิโดยภาพรวม ลดลงอย่างต่อเนื่องโดยปี 2560 ลดลงเหลือ 66% จากปี 2558 ที่มีตัวเลขการละเมิด 69% 157122481698