เรกูเลเตอร์อาเซียน ลงมติ 10 ประเทศ รีดเงิน โอทีที

เรกูเลเตอร์อาเซียน ลงมติ 10 ประเทศ รีดเงิน โอทีที

ที่ประชุมเรกูเลเตอร์อาเซียน (ATRC) ลงมติ 10 ประเทศรีดเงินโอทีทีที่ประชุมเรกูเลเตอร์อาเซียน (ATRC) ลงมติ 10 ประเทศรีดเงินโอทีที กสทช.เตรียมหาโมเดลจัดเก็บ อาจต้องดูปริมาณการใช้แบนด์วิธที่วิ่งบนโครงข่ายโทรคม

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ว่า วานนี้ (22 ส.ค.) การประชุมผู้นำองค์กรกำกับดูแลด้านโทรคมนาคมในภูมิภาคอาเซียน หรือ การประชุม ASEAN Telecommunication Regulator’s Council : ATRC ครั้งที่ 25 ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพนั้นเสร็จสิ้นแล้ว

โดยที่ประชุมได้มติร่วมกันในหลักการจากประเทศเพื่อนสมาชิก 10 ประเทศ ในการจัดเก็บรายได้ (ไม่ใช่ภาษี) จากผู้ให้บริการโอเวอร์ เดอะ ท๊อป (โอทีที) ตามที่มีการเสนอแนวทางในการจัดเก็บไป 3 ประเด็นก่อนหน้านี้ โดยหลังจากนี้ให้ประเทศเพื่อนสมาชิกนำมติกลับไปพิจารณาหารือกับผู้นำประเทศและรัฐบาลของตัวเอง จากนั้นหากต้องการเพิ่มเติมถ้อยคำหรือแก้ไขในรายละเอียดก็ให้ส่งกลับมาภายใน 1 เดือน ซึ่งสุดท้ายแล้วจะบันทึกลงไปเป็นมติผลการประชุมที้เกิดขึ้นในปีนี้อย่างเป็นทางการ

ในส่วนของประเทศไทยนั้น เลขาธิการกสทช.ระบุว่า ผลจากการหารือและมติที่ได้กำลังรวบรวมและเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) กสทช.ต่อไป และเมื่อได้เป็นแนวทางหรือรูปแบบในการจัดเก็บรายได้จากโอทีทีแล้วจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมของคณะรัฐมนตรี (ครม.)

ทั้งนี้ การกำหนดการเก็บค่าบริการ โอทีทีนั้น จะเป็นการกำหนดกรอบกว้าง เพื่อให้แต่ละประเทศลงรายละเอียดที่เหมาะสมกับแต่ละประเทศเอง ซึ่งประเทศไทยได้เสนอเงื่อนไขในการเก็บค่าบริการโอทีทีใน  3 เรื่อง  ได้แก่ 1.ต้องไม่ส่งผลกระทบต่อค่าบริการของประชาชน 2.ต้องมีรายได้เข้าประเทศ และ3.ขอให้โอทีทีให้ความร่วมมือ ไม่เช่นนั้นจะไม่สามารถดำเนินการได้ อย่างไรก็ดี ตัวแทนจากสิงคโปร์และมาเลเซียได้กล่าวในที่ประชุมว่าการเก็บรายได้จากโอทีทีของประเทศเขานั้น จะกำหนดเป็นการเก็บรายได้จากการดำเนินการและเก็บภาษีเลย เพราะมีผู้ให้บริการโอทีทีมาตั้งสำนักงานใหญ่อยู่หลายบริษัท ซึ่งรูปแบบเป็นภาษีนิติบุคคล

"กสทช.เองก็ต้องหาโมเดลในการตัดเก็บรายได้เข้าประเทศต่อไป แต่ยืนยันว่าจะไม่ได้อยู่รูปแบบของภาษี เพราะเราไม่ใช่กรมสรรพาสามิต หรือสรรพากร แต่คงต้องดูปริมาณการใช้แบนด์วิธที่มาวิ่งบนโครงข่ายโทรคมนาคม ซึ่งเรื่องนี้จะนำเข้าที่ประชุมบอร์ดกสทช.อีกครั้ง"

การขยายตัวของบริการ OTT วันนี้สร้างความท้าทายให้กับผู้กำกับดูแลทั่วโลก เพราะมีประเด็นเชิงนโยบายมากมายตั้งแต่เรื่องการจัดเก็บภาษีของรัฐ ไปจนถึงเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม อาทิเช่นการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล การป้องกันการเผยแพร่ข้อมูลและการกระทำที่ขัดต่อกฎหมาย การจัดให้มีอภิปรายและการร่วมมือของผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้องซึ่งได้แก่ ภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ผู้ให้บริการเครือข่าย ผู้ให้บริการ OTT และผู้บริโภค จึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง ในการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ” นายฐากร กล่าว

อย่างไรก็ตาม มีการเสนอแนวทางในการจัดเก็บรายได้โอทีที ได้แก่ แนวทางแรกคือการให้บริษัทผู้ให้บริการโซเชี่ยลมีเดีย และกิจการโอทีที มาลงทุนเปิดบริษัทในประเทศไทยโดยถือหุ้นในอัตรา 51%  แนวคิดที่สอง ถูกเสนอโดยกสทช.ที่ให้จัดเก็บรายได้โดยคำนวณจากปริมาณข้อมูลที่วิ่งผ่านอินเทอร์เน็ตเกตเวย์ โดยทั้งสองแนวคิดไม่ได้รับการยอมรับแต่อย่างใด เนื่องจากผู้ประกอบการเห็นว่าเป็นแนวทางที่ปฎิบัติได้ยาก  ขณะที่ แนวคิดล่าสุดที่เสนอโดยกระทรวงการคลัง ด้วยการตั้งเกตเวย์กลางร่วมระหว่างทุกประเทศในอาเซียน เมื่อผู้ใช้บริการต้องการชำระค่าบริการให้ผู้ให้บริการโซเชียลมีเดียหรือผู้ให้บริการโอทีที จะต้องมาชำระผ่านเกตเวย์กลาง โดยเกตเวย์จะทำหน้าที่ในการบันทึกข้อมูล และหักรายได้ที่ผู้ให้บริการเรียกเก็บส่วนหนึ่งเป็นรายได้เข้ารัฐของแต่ละประเทศ