จับตาปรากฏการณ์สะเทือน 'อีคอมเมิร์ซ' ปีนี้

จับตาปรากฏการณ์สะเทือน 'อีคอมเมิร์ซ' ปีนี้

ตลาดอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงไทยกำลังเปลี่ยนแปลงแบบพลิกโฉม

"แม้นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักต่างคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มจะชะลอตัวลงในปี 2562 เนื่องด้วยหลายปัจจัย เช่น สงครามการค้าระหว่างประเทศและการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังมองว่า อีคอมเมิร์ซในอาเซียนจะยังเติบโตได้อย่างแข็งแรง"

สันติธาร เสถียรไทย หัวหน้ากลุ่มนักเศรษฐศาสตร์(Group Chief Economist) ซี กรุ๊ป (Sea Group) กล่าว พร้อมประเมินว่า ปัจจัยบวกมาจากการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตที่มากขึ้นผ่านสมาร์ทโฟน การลงทุนจากภาคเอกชนและรัฐเพื่อพัฒนาอีโคซิสเต็มส์ บวกกับยอดขายบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคมีสัดส่วนเพียง 3-5% ของค้าปลีกทั้งหมด เมื่อเทียบกับประเทศจีนและสหรัฐที่สัดส่วนสูงถึง 20% และ 10% นับว่ายังน้อยมาก

รายงานจากกูเกิลและเทมาเส็กระบุว่า อุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เติบโตเฉลี่ยต่อปีมากกว่า 62% ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา และคาดการณ์ว่าจะขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ผลักดันให้ยอดขายทั้งหมด(GMV) มีมูลค่ามากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ (ประมาณ 3.1ล้านล้านบาท) ภายในปี 2568 

เอไอ-บิ๊กดาต้าเพิ่มแต้มต่อ

เขากล่าวว่า หากเจาะลึกลงไปอีกขั้นจะพบว่าสิ่งที่น่าสนใจยิ่งกว่าอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดดคือ “รูปแบบ” ของการขยายตัวและการพัฒนาของอีคอมเมิร์ซในภูมิภาคนี้ที่กำลังเปลี่ยนแปลงพลิกโฉมอย่างมหาศาล โดยเทรนด์ที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดได้แก่ปรากฎการณ์ “Experiential ecommerce” หรือการที่อีคอมเมิร์ซกลายเป็นเรื่องของคนซื้อ“ประสบการณ์”ไม่ใช่แค่การซื้อสินค้า

ปัจจุบันความต้องการของผู้ใช้ไม่หยุดอยู่เพียงแค่การซื้อสินค้าที่ตนเองต้องการ แต่ยังชอบที่จะค้นพบสินค้าใหม่ที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน มองหาความเพลิดเพลินจากการใช้แพลตฟอร์มและพอใจที่จะมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกับเพื่อนและผู้คนในแวดวงของตนเอง ผู้บริโภคอาจเข้าแอพพลิเคชั่นโดยที่ยังไม่มีสินค้าที่อยากซื้ออยู่ในใจ แต่เข้ามาเพื่อมองหาสินค้าและข้อเสนอที่น่าสนใจจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซและสอบถามข้อมูลจากผู้ขายเมื่อพบสินค้าที่ตนเองสนใจ

นอกจากนี้ การใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) บวกกับบิ๊กดาต้า เพื่อให้รู้จักผู้บริโภค สามารถแนะนำได้รายบุคคล กลายเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ที่น่าสนใจผู้บริโภคนิยมเข้าแอพพลิเคชั่นเล่นมินิเกมเพื่อชิงรางวัล เช่นส่วนลดไปใช้ชอปปิงต่อ 

สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือพรมแดนระหว่างการชอปปิง แวดวงสังคม และความบันเทิงจางหายไป ทำให้ตัวชี้วัดความสำเร็จของอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มก็เปลี่ยนไปเช่นกัน ปัจจัยที่เมื่อก่อนนักวิเคราะห์อาจไม่สนใจเช่น “ระยะเวลา”ที่ผู้คนใช้บนแอพพลิเคชั่นก็ได้กลายเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง

เพื่อนคู่คิดภาคดิจิทัล

อีกเทรนด์น่าสนใจ ต่อไปอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มกลายเป็น “เพื่อนคู่คิดภาคดิจิทัล” สำหรับผู้ขาย “ออฟไลน์” เมื่อพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ กำลังได้รับบทบาทใหม่ทางธุรกิจ ที่มากกว่าแค่ ช่องทางจำหน่ายออนไลน์ แต่ได้กลายเป็นเพื่อนคู่คิดของแบรนด์ออฟไลน์ต่างๆ โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ดาต้า คาดการณ์ความต้องการผู้บริโภค ช่วยนำเสนอแนวทางการโฆษณาและ ทำการตลาด โปรโมชั่น รวมไปถึงแก้ปัญหาเรื่องโลจิสติกส์ การชำระเงิน เพื่อตอบโจทย์ผู้บริโภคมากขึ้น อีกด้วย 

แม้ผู้ค้าปลีกต่างๆ จะเห็นความสำคัญของตลาดออนไลน์มานานแล้ว แต่มีสิ่งที่เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนคือ ร้านและแบรนด์ออฟไลน์ทุกเจ้าไม่จำเป็นต้องเปิดและลงทุนเงินมหาศาลในการสร้างร้านออนไลน์ของตนเองจากศูนย์เพราะสามารถหันมาจับมือใช้บริการของอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านนี่ได้

กล่าวได้ว่า อีคอมเมิร์ซ “เปิดประตู” สู่ผู้บริโภคและผู้ขายใหม่ที่ไม่เคยค้นพบมาก่อน แพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซสามารถช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการรายย่อย หรือ กลุ่ม “micro-entrepreneurs” และเอสเอ็มอีเข้าถึงตลาดใหม่ๆ ที่ไม่ได้กำจัดพื้นที่อยู่แค่ตลาดท้องถิ่นที่ผู้ประกอบการรายย่อยนั้นดำเนินการอยู่ อีกทั้งยังสร้างโอกาสให้กับแบรนด์ชั้นนำต่างๆ ให้เข้าถึงกลุ่มตลาดใหม่ ที่ไม่ใช่แค่ตลาดหลักดั้งเดิมของแบรนด์นั้นๆ 

อย่างไรก็ดี ความสำเร็จไม่ใช่เรื่องที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ยังมีเอสเอ็มอีจำนวนมากที่ไม่คุ้นกับการใช้อีคอมเมิร์ซ การศึกษาของ Bain & Company ชี้ให้เห็นว่าแม้วิสาหกิจขนาดย่อมส่วนใหญ่ของไทยเห็นประโยชน์ของการขายออนไลน์ ทว่ามีไม่ถึง 50% ที่ได้ทำจริง การร่วมมือกันระหว่างอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์มและรัฐบาลในการจัดคอร์สอบรมเพื่อช่วยให้ร้านค้าเหล่านี้ใช้อีคอมเมิร์ซได้เต็มที่อย่างมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง

สุดท้ายไม่ใช่เพียงฝั่งผู้ขายเท่านั้นที่จะเชื่อมเข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น ผู้บริโภคที่อาจอยู่ในถิ่นที่ไม่ค่อยมีร้านค้าปลีกให้เลือกมากนักก็สามารถใช้อีคอมเมิร์ซเพื่อให้ได้สินค้าโดยเฉพาะของจำเป็นที่ต้องการได้ โดยข้อมูลของช้อปปี้ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มลูกค้าที่อาศัยอยู่นอกเขตเมืองหลวง ได้กลายเป็นกลุ่มผู้บริโภคที่มีความสำคัญมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

สรุปคือ อีคอมเมิร์ซในอาเซียนและไทยเปรียบเสมือนยังอยู่ใน “วัยเยาว์” ที่ไม่เพียงเติบโตอย่างรวดเร็วแต่มีการเปลี่ยนแปลงและวิวัฒนาการอยู่ตลอด ต้องลองมาจับตาดูว่าปี 2562 นี้เทรนด์เหล่านี้จะมีผลอย่างไรต่อธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างไรบ้าง