‘เอไอ’ ไต่กระแสฮิต อุปกรณ์ใช้ในครัวเรือน

‘เอไอ’ ไต่กระแสฮิต อุปกรณ์ใช้ในครัวเรือน

มีอิทธิพลอย่างรวดเร็วต่อผู้บริโภคและธุรกิจค้าปลีก

ผลสำรวจโดย “พีดับเบิลยูซี” ระบุว่าผู้บริโภคเกือบ 1 ใน 3 จากทั่วโลก มีแผนที่จะซื้ออุปกรณ์ประเภทปัญญาประดิษฐ์(เอไอ) มาไว้ใช้ประจำบ้านเพิ่มขึ้น อีกประเด็นน่าสนใจขณะนี้ธุรกิจค้าปลีกกำลังจับตาเทรนด์ของการซื้อสินค้าและบริการผ่านการใช้คำสั่งเสียง หรือ วอยซ์ คอมเมิร์ซ(Voice commerce) อย่างใกล้ชิดด้วย

วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานที่ปรึกษา บริษัท พีดับเบิลยูซี ประเทศไทย กล่าวถึงผลสำรวจ “โกลบอล คอนซูมเมอร์ อินไซต์ส” ที่ทำการประเมินพฤติกรรมในการใช้จ่าย และความคาดหวังของผู้บริโภคจำนวนกว่า 2.2 หมื่นคนใน 27 ประเทศทั่วโลกว่า 32% ของผู้ที่ตอบแบบสำรวจมีแผนที่จะซื้ออุปกรณ์เอไอ เช่น หุ่นยนต์ หรือ ผู้ช่วยอัจฉริยะ มาไว้ใช้ในอนาคต

ปัจจุบัน 10% ของผู้ตอบแบบสำรวจเป็นเจ้าของอุปกรณ์เอไอ ไม่ว่าจะเป็น หุ่นยนต์ หรือ ผู้ช่วยอัจฉริยะ อย่าง อเมซอน เอคโค่ หรือ กูเกิล โฮม เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ทั้งนี้ทั้งผู้บริโภคและร้านค้าปลีกยังคงต้องใช้เวลาในการปรับรูปแบบสินค้าและบริการ รวมทั้งพฤติกรรมในการใช้จ่ายผ่านช่องทางการชอปปิงรูปแบบใหม่ต่างๆ

แรงสุดในตลาดเกิดใหม่

รายงานระบุว่า ความสนใจในการครอบครองอุปกรณ์เอไอพบมากที่สุดในกลุ่มผู้บริโภคจากกลุ่มประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีน เวียดนาม อินโดนีเซีย และ ไทย เปรียบเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้วที่มีความต้องการโดยรวมน้อยกว่า เช่น ผู้บริโภคในบราซิล และจีน มีแนวโน้มที่จะซื้ออุปกรณ์เอไอสูงเป็น 2 เท่า สัดส่วน 59% และ 52% ตามลำดับ เทียบกับผู้บริโภคชาวอเมริกัน 25% สหราชอาณาจักร 24% และ ฝรั่งเศส 25% ส่วนผู้บริโภคในอิตาลีและโปแลนด์ราว 40%

นอกจากนี้พบว่า ผู้บริโภคที่มีการใช้อุปกรณ์เหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นเพศชายอายุระหว่าง 18-34 ปี และเปิดรับการบริโภคในรูปแบบใหม่ โดยไม่ค่อยกังวลในเรื่องความเสี่ยงด้านความปลอดภัยออนไลน์ การฉ้อโกง และไม่ค่อยสนใจเรื่องราคา

จอห์น แม็กเวล หัวหน้าสายงานตลาดผู้บริโภค พีดับเบิลยูซี โกลบอล กล่าวว่า เอไอเข้ามามีอิทธิพลอย่างรวดเร็วต่อตัวผู้บริโภคและธุรกิจค้าปลีก โดยพฤติกรรมของผู้บริโภคในวันนี้เปลี่ยนไปมาก เช่น เมื่อไหร่ก็ตามที่พวกเขาต้องการอะไร ก็สามารถสั่งซื้อได้ทันที ไม่ต้องเก็บไปคิดก่อนตัดสินใจไปซื้อที่ร้าน และคาดว่า ภายในอีก 2 ถึง 3 ปีข้างหน้า เอไอจะเข้ามาปฏิวัติรูปแบบการเก็บข้อมูล การจัดแบ่งประเภทสินค้า รวมถึงรูปแบบการให้บริการลูกค้าของร้านค้าปลีกด้วย

นอกเหนือจากความนิยมในการใช้เอไอที่เพิ่มมากขึ้นแล้ว การซื้อสินค้าผ่านโทรศัพท์มือถือ หรือ อุปกรณ์ไร้สายต่างๆ ยังคงได้รับความสนใจจากผู้บริโภคทั่วโลกมากขึ้นด้วยเช่นกัน เห็นได้จากกำลังซื้อผ่านอุปกรณ์ไร้สายที่เพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าตัวภายในระยะเวลา 6 ปีหรือ 17% ของการชอปปิงทั้งหมด และคาดว่าในที่สุดจะแซงหน้าการชอปปิงผ่านคอมพิวเตอร์ ซึ่งปัจจุบันคิดเป็นเพียง 1 ใน 5 หรือราว 20% ของการจับจ่ายที่เกิดขึ้น โดยปัจจัยหลักที่ผลักดันให้กำลังซื้อออนไลน์เติบโตมาจากความสะดวกสบาย

ยุคทองอีคอมเมิร์ซ

ขณะนี้เป็นยุคที่ธุรกิจอีคอมเมิร์ชครองตลาดการชอปปิง เห็นได้จากผลสำรวจที่ระบุว่า 59% ของผู้บริโภคมีการจับจ่ายสินค้ากับร้านค้าปลีกออนไลน์ ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อความคาดหวังในการจัดส่งสินค้าของผู้บริโภคด้วย 41% ของผู้ตอบแบบสำรวจบอกว่า พร้อมที่จะจ่ายมากขึ้นเพื่อให้ได้รับสินค้าภายในวันเดียวกัน หรือเร็วกว่านั้น และ 44% ยอมจ่ายเพื่อให้สามารถเลือกเวลาที่เฉพาะเจาะจงในการรับสินค้า ขณะที่ 38% สนใจวิธีการรับสินค้าด้วยโดรน

แต่แม้ว่าร้านค้าออนไลน์ขนาดใหญ่จะครองตลาดอยู่ในขณะนี้ ร้านค้าแบบดั้งเดิมก็ยังคงมีแนวโน้มเติบโต โดยจำนวนของผู้ตอบแบบสำรวจที่ซื้อหาสินค้ากับร้านค้าดังเดิมอยู่เป็นประจำทุกสัปดาห์ ยังคงปรับตัวเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ในปีนี้จาก 3% เป็น 44%

แม็กเวลกล่าวว่า ร้านค้าดั้งเดิมยังอาจได้เปรียบจากพฤติกรรมการซื้อสินค้าที่หน้าร้านมากขึ้นด้วย หลังพฤติกรรมการชอปปิงหันมาเน้นในเรื่องของการได้รับประสบการณ์ที่ดี มากกว่าการซื้อของทั่วๆ ไป

“พนักงานขายที่มีประสบการณ์ และสามารถนำเสนอสินค้าได้ตรงตามไลฟ์สไตล์ของลูกค้า จะช่วยทำให้ร้านค้าสามารถสรรหาสินค้าที่ตรงกับความต้องการของนักช้อปได้มากขึ้น ปัจจุบันหน้าร้านมีลักษณะของการเป็นโชว์รูมแสดงสินค้ามากกว่า ร้านค้าธรรมดาๆ”

ทั้งนี้ เครือข่ายสังคมออนไลน์ ยังคงมีอิทธิพลต่อการสร้างแรงบันดาลใจในการซื้อสินค้าของผู้บริโภคมากที่สุดทั้งทางออนไลน์และหน้าร้าน แม้ว่าเปอร์เซ็นต์จะปรับตัวลดลงเล็กน้อยจาก 39% เป็น 37% โดยเครือข่ายสังคมออนไลน์มีอิทธิพลสูงที่สุดต่อผู้บริโภคในกลุ่มประเทศตะวันออกกลาง 70% อินโดนีเซีย 58% มาเลเซีย 58% และจีน 52%

ไทยติดอันดับท็อป 5

ส่วนประเด็นของความเป็นส่วนตัวของข้อมูล(Data Privacy) ผลสำรวจได้สะท้อนให้เห็นถึงความท้าทายในการเก็บข้อมูลลูกค้าของผู้ประกอบการค้าปลีก โดยในมุมหนึ่งพบว่า 41% ของผู้บริโภคไม่มีปัญหากับการที่ร้านค้าติดตามพฤติกรรมการซื้อสินค้าของตน เพื่อให้สามารถนำเสนอข้อเสนอพิเศษได้ตรงจุด แต่ในทางกลับกันมากกว่า 1 ใน 3 ของผู้บริโภค หรือ 37% ก็ต้องการปกป้องความเป็นส่วนตัว และไม่ต้องการให้ร้านค้าติดตามหรือส่งข้อเสนอใดๆ ให้

อย่างไรก็ดี ความเชื่อมั่นของผู้บริโภคโดยรวมยังคงเติบโต แม้จะมีปัจจัยเรื่องความกังวลในการใช้จ่ายและบรรยากาศการลงทุนที่ซบเซา ผู้บริโภคทั่วโลกส่วนใหญ่ยังคงวางแผนการใช้จ่ายในระดับเท่าเดิม หรือมากขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดย 38% ยังคงมีแผนที่จะใช้จ่ายเท่ากับปีที่แล้ว และ 37% วางแผนการใช้จ่ายมากขึ้น

เป็นที่น่าสนใจว่า ปัจจุบันผู้บริโภคในแถบเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริโภคชาวไทย ก็นิยมการชอปปิงผ่านอุปกรณ์เอไอเป็นจำนวนมาก โดยผลสำรวจพบว่า ไทยติดอันดับ 5 ของประเทศที่ผู้บริโภคเป็นเจ้าของและมีแผนจะซื้ออุปกรณ์เอไอมาไว้ครอบครองมากที่สุด 

ขณะที่ จีนนำมาเป็นอันดับที่ 1 ตามด้วย เวียดนาม อินโดนีเซีย และ สหรัฐอเมริกา สะท้อนให้เห็นว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคชาวไทยเน้นความสะดวกสบายและต้องการช่องทางในการจับจ่ายสินค้าที่หลากหลาย รวมทั้งได้รับประสบการณ์ที่ดีในการเลือกซื้อสินค้าไม่แพ้ผู้บริโภคประเทศอื่นๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ ผู้ประกอบการค้าปลีกไทย ก็ต้องเร่งปรับกลยุทธ์ในการจำหน่ายสินค้า โดยนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ในการเพิ่มช่องทางการขาย รวมถึงสร้างประสบการณ์ในการซื้อสินค้าที่แปลกใหม่ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังชะลอตัวในปัจจุบัน