‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น’ ดันจีดีพี 2.82 แสนล้านใน 3 ปี

‘ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น’   ดันจีดีพี 2.82 แสนล้านใน 3 ปี

การปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็นมูลค่ากว่า 2.82 แสนล้านบาท ภายในปี 2564

รายงานวิจัย  "ปลดล็อคโลกเศรษฐกิจในยุคแห่งการปฏิรูปด้วยดิจิทัล" ที่จัดทำขึ้นโดยไมโครซอฟท์และบริษัทวิจัยไอดีซี เอเชียแปซิฟิก เผยว่า การปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล (Digital Transformation) จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นเป็นมูลค่ากว่า 9 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 2.82 แสนล้านบาท ภายในปี 2564 ขณะเดียวกันขับเคลื่อนให้อัตราการเติบโตของจีดีพีเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยราว 0.4% ต่อปี

รายงานฉบับดังกล่าวยังคาดการณ์ว่า กระบวนการการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะดำเนินไปอย่างรวดเร็วขึ้นมากในอนาคต จากปัจจุบันผลิตภัณฑ์และบริการที่ต่อยอดจากเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งในด้านอุปกรณ์พกพา คลาวด์ อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์(ไอโอที) และปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) สามารถสร้างมูลค่าจีดีพีให้กับประเทศไทยคิดเป็นอัตราส่วนราว 4% เท่านั้น

ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยกำลังเร่งเครื่องเพื่อเดินหน้าต่อไปบนเส้นทาง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น อย่างรวดเร็ว โดยภายในช่วง 4 ปีข้างหน้า คาดว่ามูลค่าจีพีพีจากผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัลจะพุ่งสูงขึ้นเป็นราว 40%

นอกจากนี้ องค์กรทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกต่างก็นำเทคโนโลยีล่าสุดอย่างเอไอมาใช้งานเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การปฏิรูปธุรกิจ ซึ่งจะมีผลให้การเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลยิ่งรวดเร็วขึ้นไปอีก

ชิงธงโอกาสเศรษฐกิจ

รายงานวิจัยของไมโครซอฟท์และไอดีซี ได้รวบรวมความคิดเห็นจากผู้บริหารในองค์กรขนาดกลางและใหญ่จำนวน 1,560 ท่าน ใน 15 ประเทศทั่วภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก เพื่อเผยถึงผลกระทบและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล สำหรับในประเทศไทยผู้บริหารรวม 100 รายได้ระบุถึง 5 ประโยชน์หลักที่องค์กรได้รับจากการปฏิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัล ได้แก่ เพิ่มผลกำไร ผลผลิต ความสัมพันธ์ลูกค้า รายได้จากฐานธุรกิจเดิม รวมถึงรายได้จากโมเดลธุรกิจใหม่ๆ

ที่น่าสนใจ ผู้นำทั่วเอเชียแปซิฟิก พร้อมชิงชัยคว้าโอกาสเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยรายงานวิจัยฉบับนี้พบว่ากว่า 82% ขององค์กรในประเทศไทยเริ่มเดินหน้าบนเส้นทาง ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชั่น แล้ว แต่หากถอยมามองในภาพรวมระดับภูมิภาค กลับมีองค์กรเพียงแค่ 7% เท่านั้น ที่มีศักยภาพและกลยุทธ์เชิงดิจิทัลอยู่ในระดับผู้นำ 

ทั้งนี้ องค์กรที่เป็นผู้นำด้านดิจิทัลจะต้องมีกลยุทธ์สำหรับการปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และมีสัดส่วนรายได้จากผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัลไม่ต่ำกว่าหนึ่งในสาม โดยขณะนี้เทคโนโลยีดิจิทัลช่วยให้องค์กรในกลุ่มผู้นำนี้สามารถยกระดับประสิทธิภาพและผลงานขององค์กรได้ราว 20-30% ในแต่ละด้าน

เมื่อเปรียบเทียบกับองค์กรในกลุ่มผู้ตามแล้ว ผู้นำเชิงดิจิทัลจะได้รับประโยชน์จากการปฏิรูปธุรกิจมากกว่าองค์กรในกลุ่มผู้ตามราวหนึ่งเท่าตัว และช่องว่างนี้จะยิ่งเพิ่มขึ้นอีกในปี 2563 ปัจจุบันราวครึ่งหนึ่งขององค์กรในกลุ่มผู้นำมีกลยุทธ์ดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเต็มรูปแบบไว้ขับเคลื่อนการทำงานขององค์กร

แนะยกระดับนวัตกรรม

ไมเคิล อะราเน็ตตา รองประธานบริหาร ไอดีซี ไฟแนนเชียล อินไซต์ กล่าวว่า การปฎิรูปธุรกิจด้วยดิจิทัลเป็นกระแสความเคลื่อนไหวที่กำลังขยายตัวอย่างรวดเร็วขึ้นเรื่อยๆ ไอดีซีคาดว่า ปี 2564 กว่า 48% ของจีดีพีของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมีที่มาจากผลิตภัณฑ์และบริการเชิงดิจิทัล 

ขณะที่ประเทศไทยมีอัตราส่วนนี้อยู่ที่ 40% ซึ่งถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับชาติอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่การเติบโตและพัฒนาของทุกภาคอุตสาหกรรมจะขับเคลื่อนด้วยผลิตภัณฑ์ บริการ ระบบงาน และความร่วมมือที่ล้วนผ่านการยกระดับด้วยนวัตกรรมดิจิทัล 

โดยองค์กรในกลุ่มผู้นำจะสามารถสร้างผลประโยชน์ทางธุรกิจได้ดีกว่ากลุ่มผู้ตามถึงหนึ่งเท่าตัว ไม่ว่าจะเป็นในด้านประสิทธิผลการทำงาน การลดค่าใช้จ่าย หรือเสียงสนับสนุนจากฐานลูกค้า องค์กรที่ต้องการจะแข่งขันในตลาดได้อย่างทัดเทียม จะต้องเปลี่ยนระบบการประเมินผลงานขององค์กร ปรับโครงสร้างการทำงาน และออกแบบแพลตฟอร์มเทคโนโลยีที่ใช้งานอยู่ขึ้นมาใหม่ให้เหมาะสม

อย่างไรก็ตาม ข้อแตกต่างหลักๆ ระหว่างองค์กรในระดับผู้นำและผู้ตามเชิงดิจิทัล องค์กรกลุ่มผู้นำจะให้ความสนใจกับคู่แข่งและเทคโนโลยีใหม่ๆ มากกว่า เนื่องจากระบบเศรษฐกิจในยุคดิจิทัลได้เปิดทางให้กับคู่แข่งทางธุรกิจในรูปแบบใหม่ๆ รวมถึงเทคโนโลยีใหม่เช่น เอไอ ที่เข้ามาพลิกโฉมรูปแบบการทำธุรกิจในหลายมิติความคล่องตัวในการทำงานและวัฒนธรรม

นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบกันแล้ว องค์กรในระดับผู้นำมีความสนใจในด้านการใช้ข้อมูลเพื่อเพิ่มรายได้ เสริมประสิทธิภาพการทำงาน และพลิกรูปแบบการทำธุรกิจ มากกว่าองค์กรในกลุ่มผู้ตามเป็นอย่างมาก 

องค์กรในกลุ่มผู้นำเล็งเห็นถึงและเข้าใจในอุปสรรคบนเส้นทางการปฏิรูปธุรกิจมากกว่ากลุ่มผู้ตาม โดยนอกจากประเด็นปัญหาด้านการขาดทักษะและความปลอดภัยเชิงไซเบอร์แล้ว องค์กรระดับผู้นำยังตระหนักดีถึงความจำเป็นในการเสริมศักยภาพด้านการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพื่อเปิดมุมมองใหม่ในการแข่งขันในตลาดองค์กรระดับผู้นำต่างสนใจที่จะลงทุนในเทคโนโลยีเอไอและไอโอทีในปี 2561 และยังมุ่งที่จะลงทุนในด้านศักยภาพการวิเคราะห์ข้อมูลสูงกว่าองค์กรในกลุ่มผู้ตาม