นักรังสรรค์กลิ่นอาหาร อาชีพดาวรุ่งอนาคตไกล

นักรังสรรค์กลิ่นอาหาร อาชีพดาวรุ่งอนาคตไกล

โครงการฟู้ดอินโนโพลิส เปิดการอบรมหลักสูตรวิทยาศาสตร์พื้นฐานของกลิ่นรสเป็นครั้งแรกในประเทศไทย รุ่นนำร่อง 50 คน หวังยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ พัฒนาอัตตลักษณ์กลิ่นอาหารไทยส่งออกในฐานะครัวโลก ด้านเอกชนวอนรัฐปรับปรุงกฎหมายผ่อนปรนมาตรการภาษี

สวทน.ตั้งเป้าปั้นนักเทคโนโลยีกลิ่นรสปีละ 100 คน หลังเปิดหลักสูตร หวังยกระดับอุตสาหกรรมอาหารของประเทศ ปลื้มคนสมัครอบรมครั้งแรกทะลัก ซีอีโอฟู้ดอินโนโพลิส ชี้ไทยสามารถปลี่ยนจากนำเข้าเทคโนโลยีปีละ 1,000 ล้านเป็นผลิตเองให้ได้มากที่สุด พร้อมพัฒนาอัตตลักษณ์กลิ่นอาหารไทยส่งออกในฐานะครัวโลก ด้านเอกชนวอนรัฐปรับปรุงกฎหมายผ่อนปรนมาตรการภาษี เชื่อเป็นเทคโนโลยีดาวรุ่งกู้เศรษฐกิจชาติ

โครงการฟู้ดอินโนโพลิสเปิดการอบรมหลักสูตรวิทยาศาสตร์พื้นฐานของกลิ่นรสเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยความร่วมมือของ 6 มหาวิทยาลัย ประกอบไปด้วย เกษตรศาสตร์ มหิดล สงขลานครินทร์ นเรศวร จุฬาฯและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภายใต้โครงการพัฒนาบุคลากรและความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีกลิ่นรสของประเทศ (Flavor Academy) ระหว่างวันที่ 9-10 พ.ย.นี้ มีผู้เข้าร่วมอบรมรุ่นแรก 50 คน


นายอัครวิทย์ กาญจนโอภาษ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ในฐานะซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส กล่าวว่า การจัดอบรมครั้งนี้สืบเนื่องมาจาก ประเทศไทยขาดแคลนบุคคลากรด้านเทคโนโลยีกลิ่นรส ทำให้ต้องนำเข้าสารแต่งกลิ่น (Flavor) จากต่างประเทศเพื่อนำมาเป็นส่วนประกอบอาหารเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี เพราะไม่สามารถผลิตได้เองอย่างเพียงพอ เนื่องจากการขาดแคลนบุคลากรที่มีพื้นฐานความรู้และทักษะในด้านการวิจัยและพัฒนา และรังสรรค์กลิ่นรส รวมทั้งขาดการบ่มเพาะความรู้และความเชี่ยวชาญในเทคโนโลยีดังกล่าว


"การอบรมครั้งนี้เป็นครั้งแรก มีผู้สนใจสมัครเข้ามามาก จึงจำกัดจำนวนเพียง 50 คน ในรอบแรก และจะเปิดอบรมอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นจังหวะก้าวที่สำคัญของประเทศไทย ที่จะสามารถผลิตเทคโนโลยีกลิ่นรสในประเทศไทย โดยในระยะเริ่มต้นนี้เราได้ร่วมพัฒนาหลักสูตรขึ้นมา โดยมี 6 มหาวิทยาลัยในประเทศไทย และผู้เชี่ยวชาญจากต่างประเทศร่วมกันร่าง ตั้งเป้าผลิตนักเทคโนโลยีกลิ่นรสได้ปีละกว่า 100 คน" ซีอีโอเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวและว่า


"ความท้าทายของการผลิตนักเทคโนโลยีกลิ่นรสคือเป้าหมายปลายทาง เราจะเป็นผู้ผลิตกลิ่นรสในประเทศ จากเดิมที่เป็นผู้นำเข้า นอกจากนี้ยังสามารถพัฒนาและรังสรรค์กลิ่นรสที่เป็นอัตตลักษณ์ของประเทศไทย เช่น ต้มยำกุ้ง แกงเขียวหวาน ซึ่งเป็นที่นิยมของในหลายประเทศทั่วโลก ถ้าเรามีนักเทคโนโลยีกลิ่นรสสัญชาติไทย ซึ่งมีความเข้าใจเรื่องรสชาติอาหารดี เราจะสามารถส่งออกสารให้กลิ่นรส และผลิตภัณฑ์อาหารไทยได้เพิ่มมากขึ้น ในฐานะที่ไทยได้รับการยอมรับจากทั่วโลกว่าเป็น "ครัวโลก"


ด้านนายปิยะ บุญนำกิจสวัสดิ์ วิทยากรผู้บรรยายจากบริษัท สวีทแอนด์อินเวนท์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จัดตั้งอยู่ในเมืองนวัตกรรมอาหาร กล่าวว่า ความท้าทายของนักเทคโลยีกลิ่นรสในประเทศไทยคือ ตลาดของสารให้กลิ่นรสที่ยังมีโอกาสอีกมากในการพัฒนา เนื่องจากเวลานี้เรานำเข้าเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะขาดผู้เชี่ยวชาญและเทคโนโลยีที่เทียบเท่าต่างประเทศ ในส่วนของกฎหมายที่บังคับใช้ในขณะนี้ ยังไม่เอื้อต่อการพัฒนาบุคคลากร ขณะเดียวกันก็อยากขอความกรุณารัฐบาลผ่อนปรนมาตรการทางด้านภาษีเพื่อเปิดโอกาสธุรกิจด้านนี้ได้เกิดและเติบโตในประเทศไทย เพราะเป็นธุรกิจดาวรุ่งที่มีอนาคตสามารถเติบโตได้อีกมาก อีกทั้งยังเป็นเทรนด์โลกที่กำลังได้รับความสนใจ ขณะเดียวกันอาหารไทยเองก็ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติด้วย การพัฒนากลิ่นรสอาหารไทยย่อมเป็นตลาดที่น่าจับตา