จากฟางข้าวสู่ฉนวนกันไฟ แชมป์นวัตกรรมข้าวไทย

จากฟางข้าวสู่ฉนวนกันไฟ แชมป์นวัตกรรมข้าวไทย

ฉนวนกันความร้อนและดูดซับเสียงจากฟางและข้าวเม่าแห้งกึ่งสำเร็จรูป เป็น 2 ใน 7 ผลงานรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยปี 2560 จากการนำข้าวและวัสดุเหลือใช้มาวิจัยและพัฒนาให้เป็นนวัตกรรม

ฉนวนกันความร้อนและดูดซับเสียงจากฟางและข้าวเม่าแห้งกึ่งสำเร็จรูป เป็น 2 ใน 7 ผลงานรางวัลนวัตกรรมข้าวไทยปี 2560 จากการนำข้าวและวัสดุเหลือใช้มาวิจัยและพัฒนาให้เป็นนวัตกรรมตอบโจทย์ผู้บริโภค เข้ารับรางวัลใน “วันนวัตกรรมแห่งชาติ” ซึ่งตรงกับวันที่ 5 ต.ค.ของทุกปี โดยในปีนี้จะจัดอยู่ในงาน อินโนเวชัน ไทยแลนด์ วีค ระหว่างวันที่ 5-8 ต.ค.นี้ ณ ภิรัชฮอลล์ ไบเทค บางนา


นางสาวกรรจิต นาถไตรภพ ผู้จัดการ หจก.เจริญไตรภพ ผู้พัฒนาฉนวนฟางข้าว เปิดเผยถึงผลงาน ganfai (กันไฟ) ที่ทำวิจัยร่วมกับ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งวิจัยพบว่า ฟางข้าวสามารถกันไฟและลดความร้อนได้ถึง 20 องศาเซลเซียส จึงนำมาพัฒนาเป็นฉนวนโดยใช้ฟางข้าวและเยื่อกระดาษ ทดแทนการใช้ใยแก้วหรือใยหินที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ขณะที่ฉนวนชนิดอื่นๆ ก็ทำจากพลาสติกซึ่งไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำต้นแบบไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ในราคา 140 บาทต่อตารางเมตร สร้างมูลค่าให้กับฟางข้าวได้ 70% คาดว่าในอนาคตจะประยุกต์เป็นผลิตภัณฑ์ตกแต่งบ้านและเฟอร์นิเจอร์


ด้านผลงาน “ข้าวเม่าแห้งกึ่งสำเร็จรูป” ผศ.วิริยา พรมกอง อาจารย์ประจำสาขาวิชาอุตสาหกรรมเกษตร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ข้าวเม่ามีอายุการเก็บรักษาสั้น และมีเฉพาะต้นฤดูกาลเก็บเกี่ยวเท่านั้น จึงนำมาสู่แนวคิดการพัฒนาข้าวเม่าแห้งกึ่งสำเร็จรูป เพื่อยืดอายุการเก็บรักษาให้ได้มากกว่า 4 เดือนที่อุณหภูมิห้อง อีกทั้งสามารถหุงสุกคืนรูปพร้อมรับประทานเช่นเดียวกับข้าวสารทั่วไป จะมีความนุ่ม เป็นสีเขียว รสหวานเล็กน้อยและกลิ่นเหมือนข้าวเม่าสด หรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่น มีคุณค่าทางโภชนาการสูงทั้งเบต้าแคโรทีน วิตามินอี ไนอะซิน กรดโฟลิก ทองแดงและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพต่างๆ เช่น ฟีโนลิก คลอโรฟิลล์ และสารกาบาเข้มข้น 10 มิลลิกรัมต่อ 100 กรัม


“จากต้นทุนการผลิต 70 บาทต่อกิโลกรัม สามารถจำหน่าย 120 บาท สร้างมูลค่าเพิ่ม 2.5 เท่า เกษตรกรมีรายได้เพิ่มรวมทั้งกระตุ้นให้เกิดความตื่นตัวในการใช้เทคโนโลยีเสริมกับภูมิปัญญาท้องถิ่น ปัจจุบันได้ถ่ายทอดความรู้จากงานวิจัยให้กับกลุ่มประชารัฐของอุบลราชธานีแล้ว ซึ่งจะรวบรวมตั้งกลุ่มเกษตรกรผลิตข้าวเม่า ทั้งยังมีผู้ประกอบการมาดูตัวอย่างงานวิจัยแล้วนำไปทดลองตลาดที่ประเทศจีนอีกด้วย” ผศ.วิริยา กล่าว
ส่วนผลงานรางวัลนวัตกรรมข้าวอื่นๆ ระดับอุตสาหกรรม ได้แก่ Facial Cleansing Powder Set ผลิตภัณฑ์ผงทำความสะอาดผิวหน้ามีส่วนผสมหลักเป็นข้าวพื้นเมือง บริษัท สกินอินเตอร์โปรดักส์ จำกัด, ผลิตภัณฑ์รักษาผมร่วงและกระตุ้นผมงอกใหม่จากสารประกอบเชิงซ้อนข้าวเหนียวดำ บริษัท คอสเมเฮลท์ แชนแนล จำกัด, Dr.O Anti-Aging Skin Essence ผลิตภัณฑ์ในกลุ่มชะลอวัยที่เพิ่มคุณสมบัติระงับกลิ่นกายเข้ามาไว้ในผลิตภัณฑ์ บริษัท สยาม เนเชอรัล โปรดักซ์ จำกัด


รางวัลระดับวิสาหกิจชุมชน ได้แก่ เซรั่มบำรุงผิวพิเศษ วิสาหกิจชุมชนพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจากทรัพยากรชีวภาพในชุมชน ที่นำข้าวไรซ์เบอร์รี่มาหมักด้วยเชื้อรา ทำให้ได้สารออกฤทธิ์ทางชีวภาพในกลุ่มสารประกอบฟีนอลจากข้าวในปริมาณเพิ่มขึ้นจากการสกัดสารแบบทั่วไป แล้วนำสารสกัดที่ได้มาพัฒนาสูตรพื้นฐานตำรับเซรั่ม, ผลิตภัณฑ์จากกระดาษฟางข้าว วิสาหกิจชุมชนชาข้าวก่ำ (ข้าวลืมผัว) เป็นการนำของเหลือทิ้งจากกระบวนการแปรรูปข้าวมาสร้างมูลค่าเพิ่ม ทั้งยังลดปัญหาการเผาฟางข้าว ซึ่งเป็นปัญหาหมอกควันในพื้นที่ และเกษตรกรมีรายได้เพิ่มในช่วงพักการทำนา