‘เพย์พาล’ชูแพลตฟอร์มใหม่รับ'โซเชียลคอมเมิร์ช'

‘เพย์พาล’ชูแพลตฟอร์มใหม่รับ'โซเชียลคอมเมิร์ช'

‘เพย์พาล’ โชว์ฟีเจอร์ล่าสุด เจาะธุรกิจหลังประกาศเปิดตัวได้เกือบปี มียอดบัญชีสมัครในไทยแล้วกว่า 54,000 แอคเคาท์

‘เพย์พาล’ โชว์ฟีเจอร์ล่าสุด เจาะธุรกิจหลังประกาศเปิดตัวได้เกือบปี มียอดบัญชีสมัครในไทยแล้วกว่า 54,000 แอคเคาท์ ระบุพร้อมโตไปทุกภาคธุรกิจทุกขนาด เน้นชำระเงินแบบดิจิทัลที่สะดวก รวดเร็ว เป็นส่วนตัว เหมาะสำหรับผู้ประกอบอาชีพอิสระ ร้านค้ารายย่อย รวมถึงบีทูบี หนุนกระแสโซเชียล คอมเมิร์ซบูม

นายสมหวัง เหลืองไพบูลย์ศรี ผู้จัดการ เพย์พาล ประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความนิยมที่เพิ่มขึ้นของอีคอมเมิร์ซ และการเพิ่มขึ้นของการใช้สมาร์ทโฟน ทำให้รูปแบบการค้าปัจจุบันเปลี่ยนไป ส่งผลให้ผู้บริโภคมีการใช้จ่ายซื้อสินค้าผ่านทางโซเชียลเน็ตเวิร์คมากขึ้น

ทั้งนี้ เพย์พาลมุ่งเรื่องการเปิดใช้การชำระเงินแบบดิจิทัลที่มีความปลอดภัยสูง ล่าสุดได้เปิดตัวเพย์พาลดอทมี (PayPal.Me) สำหรับธุรกิจ โดยเป็นการชำระเงินในรูปแบบดิจิทัลที่สะดวกและรวดเร็ว สำหรับผู้ค้าในการรับชำระไม่ว่าจะเป็น บนช่องทางไลน์ เฟซบุ๊ค แมสเซนเจอร์ หรือแม้แต่โปรแกรมส่งข้อความอื่นๆ บนโซเชียลมีเดีย ช่วยเพิ่มศักยภาพให้ร้านค้าบนโซเชียลเน็ตเวิร์คในไทยได้อย่างเต็มที่ นับเป็นการนำเสนอช่องทางการชำระเงินโดยตรงบนแพลตฟอร์ม

บริการเพย์พาลดอทมีสำหรับธุรกิจนี้ จะช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพอิสระหรือผู้ค้า สามารถรับชำระเงินจากผู้ซื้อหรือลูกค้าในต่างประเทศได้มากกว่า 203 ล้านราย ในสกุลเงินต่างๆมากกว่า 100 สกุลเงิน โดยทุกๆ วินาทีจะมียอดการทำทรานเซคชั่นคิดเป็นมูลค่า 11,000 ดอลลาร์ หรือ 340,000 บาท นอกจากนี้ยังช่วยตรวจสอบธุรกรรมที่ไม่น่าเชื่อถือโดยอัตโนมัติ ด้วยระบบการตรวจสอบทันทีที่รายการทำธุรกรรมเกิดขึ้น และนโยบายการป้องกันที่มีประสิทธิภาพ โดยในไทยเองเปิดตัวแพลตฟอร์มนี้ เมื่อเดือน ก.ค.ปีที่ผ่านมา ล่าสุดมียอดผู้สมัครแล้ว 54,000 บัญชี คิดเป็น 26% ของยอดผู้สมัครรวมในเอเชียตะวันตกเฉียงใต้ที่ยอดสมัคร 200,000 บัญชี

นายสมหวัง กล่าวเสริมว่า เพย์พาลดอทมี คือ ฟีเจอร์ที่สนับสนุนการเติบโตของธุรกิจโซเซียลคอมเมิร์ซทั่วโลก สะท้อนหนึ่งในวิสัยทัศน์หลักของเพย์พาล ที่ต้องการนำเสนอบริการที่มีความปลอดภัย และสะดวกรวดเร็ว แก่ผู้คนในการทำชำระเงินและบริหารจัดการเงินผ่านช่องทางออนไลน์ ปัจจุบันโซเชียลคอมเมิร์ซกลายเป็นช่องทางการขายที่สำคัญของผู้ค้ารายย่อยในไทย ผู้ค้ารายย่อยจำนวนมากเปลี่ยนจากการขายของหน้าร้านค้าแบบดั้งเดิมมาเป็นการขายของบนโซเชียลมีเดียมากขึ้น

ขณะที่ บริษัท ที่ปรึกษา Brain & Co. คาดการณ์ว่า ราว 30% ของยอดขายออนไลน์ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาจากร้านค้าบนโซเชียลเน็ตเวิร์ค และมีแนวโน้มว่าจะเป็นไปในทิศทางบวก อย่างไรก็ตามแม้ว่าความนิยมทางด้านการค้าบนโลกโซเชียลจะเพิ่มขึ้น แต่ยังมีผู้ค้าหลายรายที่ยังคงกังวลกับขั้นตอนการทำธุรกรรมออนไลน์ที่ยุ่งยากหลายขั้นตอน

โดยส่วนใหญ่จะเริ่มต้นจากการเลือกซื้อสินค้าจากร้านค้าในโซเชียลแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่พอถึงขั้นตอนการชำระเงิน กลับต้องย้ายไปใช้อีกแพลตฟอร์มหนึ่ง แต่อย่างไรก็ดี ปัจจุบันโซเชียลมีเดียต่างๆ ได้ทำการเพิ่มเครื่องมือในการชำระเงิน เพื่อรองรับอีคอมเมิร์ซมากขึ้น ซึ่งหากผู้ค้าออนไลน์ในประเทศไทยต้องการขยายตลาด หรือเพิ่มการเติบโตของธุรกิจ ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเรียนรู้หรือเปิดรับระบบรับชำระเงินที่เป็นสากล สามารถช่วยสนับสนุนให้ผู้ค้าสามารถรับชำระเงินผ่านโซเชียลมีเดียได้อย่างสะดวกขึ้น

อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ เพย์พาล และอิปซอสส์ (Ipsos) นำเสนอรายงานการวิจัยพฤติกรรมผู้บริโภคทั่วโลก พบว่า นักช้อปออนไลน์ในไทยจำนวน 55% ระบุว่าพวกเขามีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายออนไลน์มากขึ้นในปี 2560 และจากกลุ่มนักช้อปเหล่านั้น ราว 82% เห็นว่า ความสะดวกสบายของการช้อปออนไลน์เป็นปัจจัยสำคัญ

ขณะที่ การสำรวจในหลายประเทศ พบว่า ประเทศจีนและประเทศไทย เป็นนักช้อปข้ามประเทศที่นิยมซื้อสินค้าผ่านอุปกรณ์มือถือมากที่สุด โดยเหล่านักช้อปจากไทยถึง 46% นิยมซื้อสินค้าข้ามประเทศผ่านอุปกรณ์มือถือ

เหตุผลดังกล่าวเนื่องมาจากจำนวนผู้ใช้สมาร์ทโฟนที่เพิ่มขึ้นอย่างมากในไทย และคาดการณ์ว่าในปี 2560 นี้ ยอดการซื้อขายออนไลน์ผ่านอุปกรณ์มือถือ จะเพิ่มเป็นจาก 141.7 พันล้านบาทในปี 2559 เป็น 173.6 พันล้านบาท และมีแนวโน้มว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง