'หัวเว่ย' เท 500ล้าน ผุดศูนย์นวัตกรรมใจกลางกรุงเทพฯ

'หัวเว่ย' เท 500ล้าน ผุดศูนย์นวัตกรรมใจกลางกรุงเทพฯ

“หัวเว่ย” ทุ่มงบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ’หัวเว่ย โอเพ่นแล็ป แบงคอก’ ขนาดใหญ่สุดนอกตลาดจีน-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไทย

“หัวเว่ย” ทุ่มงบลงทุนกว่า 500 ล้านบาท เปิดศูนย์วิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีรูปแบบใหม่ ’หัวเว่ย โอเพ่นแล็ป แบงคอก’ ขนาดใหญ่สุดนอกตลาดจีน-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไทย มุ่งเสิร์ฟไอซีทีครบวงจร หนุนพัฒนาสมาร์ทซิตี้ สมาร์ทกริด สตาร์ทอัพ พร้อมดันไทยเปลี่ยนผ่านสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

นายเดวิด ซุน ประธานกรรมการบริหารและหัวหน้าคณะเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี จำกัด ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า เปิดตัวศูนย์ความร่วมมือและพัฒนานวัตกรรมดิจิทัล “หัวเว่ย โอเพ่นแล็ป แบงคอก (Huawei OpenLab Bangkok)” ในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ

โดยนับเป็นแห่งที่ 7 ของโลก ต่อจากซูโจว เม็กซิโก มิวนิก สิงคโปร์ โจฮันเนสเบิร์ก และดูไบ ตั้งอยู่ ณ อาคารจี ทาวเวอร์ ซึ่งเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ของบริษัทแห่งใหม่ในประเทศไทย มีเนื้อที่ราว 2,000 ตารางเมตร นับว่าใหญ่ที่สุดนอกเหนือจากในประเทศจีนรวมถึงในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใช้งบประมาณการลงทุนกว่า 500 ล้านบาท (15 ล้านดอลลาร์)

กระตุ้นพัฒนานวัตกรรม
โอเพ่นแล็ป ดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคดิจิทัลแก่ลูกค้าและพันธมิตรต่างๆ ในอุตสาหกรรม โดยจะเป็นแพลตฟอร์มแบบเปิดและดาต้าเซ็นเตอร์ช่วยแก้ปัญหาการทดสอบโซลูชั่นการใช้งานต่างๆ กระตุ้นให้เกิดการพัฒนานวัตกรรม ทั้งยังช่วยส่งเสริมการพัฒนาระบบนิเวศอุตสาหกรรม และให้บริการฝึกอบรมด้านไอซีที ที่จะโฟกัสเป็นพิเศษคือ สมาร์ทซิตี้และสมาร์ทกริด

นอกจากนี้ อำนวยความสะดวกในการพัฒนานวัตกรรม ความร่วมมือ และการคิดค้นโซลูชั่นใหม่ร่วมกับลูกค้าและพันธมิตรทางธุรกิจทั้งในประเทศไทยและประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เช่น สมาร์ทซิตี้ ความปลอดภัยสาธารณะ โครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะ (Smart Grid) การเงิน การศึกษา การขนส่ง และผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต

ขณะเดียวกันสนับสนุนนโยบายของรัฐบาล ช่วยขับเคลื่อนและส่งเสริมธุรกิจสตาร์ทอัพ รวมถึงการศึกษาในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที)

“เราเชื่อมั่นว่าด้วยระบบการเมืองที่มีเสถียรภาพ สภาพเศรษฐกิจ นโยบายด้านเศรษฐกิจดิจิทัล สิทธิประโยชน์ด้านการลงทุนจากบีโอไอ และการเชื่อมโยงของเครือข่ายการบิน รวมถึงบุคลากรที่มีความสามารถด้านไอซีที จะทำให้ประเทศไทยเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมมากขึ้นในสายตาขององค์กรธุรกิจในระดับนานาชาติ”

ดันคนไอทีเกิด500คน/ปี
เบื้องต้น โครงการความร่วมมือของศูนย์โอเพ่น แล็ป แบงคอก กับหน่วยงานต่างๆ ในไทยประกอบด้วย โครงการพัฒนานวัตกรรมเกี่ยวกับโซลูชั่นด้านไอซีทีเพื่อพัฒนาระบบพลังงานไฟฟ้าร่วมกับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค โครงการความร่วมมือทางยุทธศาสตร์เมืองแห่งความปลอดภัยของกรมตำรวจ โครงการความร่วมมือกับกลุ่มสตาร์ทอัพด้านเมืองอัจฉริยะของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง

นอกจากนี้ จะมีการประสานความร่วมมือกับพันธมิตรธุรกิจ ทั้งในและต่างประเทศอีกกว่า 30 แห่ง เพื่อให้บริการข้อมูล และสนับสนุนการพัฒนานวัตกรรม และดิจิทัลโซลูชั่น อาทิ เอสเอพี, ไมโครซอฟท์, ฮันนี่เวลล์, บอมบาร์ดิเอร์, ออราเคิล, แอ็กเซนเจอร์ และอินโฟซีส ฯลฯ

บริษัทตั้งเป้าว่า ศูนย์โอเพ่น แล็ป แบงคอก จะสามารถฝึกอบรมบุคลากรด้านไอซีทีไม่ต่ำกว่า 800 คนต่อปี พัฒนาบุคลากรที่ผ่านประกาศนียบัตรรับรองด้านอาชีพ “Huawei Certification” 500 คนต่อปี สามารถรองรับโครงการทดสอบแนวคิด (POC) ราว 150 คนต่อปี และหวังว่าจะสามารถสนับสนุนบริษัทสตาร์ทอัพด้านไอซีทีได้มากกว่า 20 รายทุกปี

จ่อเปิดโอเพ่นแล็ปอีก7แห่ง
ในภาพรวมปี 2560 หัวเว่ยวางแผนเปิดศูนย์โอเพ่น แล็ป ใหม่อีก 7 แห่งทั่วโลก แผนระยะ 3 ปีตั้งแต่ 2560-2562 วางแผนใช้งบลงทุน 200 ล้านดอลลาร์ สำหรับสร้างศูนย์โอเพ่น แล็ป ให้ครบ 20 แห่ง และจะการจ้างบุคลากร 1,000 คน

นายซุนกล่าวว่า ด้วยวิสัยทัศน์ของรัฐบาลไทยที่มุ่งพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศสู่ยุคเศรษฐกิจดิจิทัล ภายใต้ “ไทยแลนด์ 4.0” และโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก ที่จะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางไอซีทีของภูมิภาคมีความชัดเจน ดังนั้น จึงต้องมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคม ผลักดันให้ความเร็วในการเชื่อมต่อโมบายบรอดแบนด์เพิ่มขึ้นจาก 5 เมกะบิตต่อวินาที ไปอยู่ที่ 15 เมกะบิตต่อวินาที พร้อมเชื่อมโยงเครือข่ายการสื่อสารโดยตรงของไทยไปยังประเทศต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้นผ่านเคเบิ้ลใต้น้ำ

ดันแพลตฟอร์มหัวเว่ยลงอีอีซี
นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ขอบคุณหัวเว่ยที่มีน้ำใจและมีความจริงจังในการช่วยเหลือประเทศไทย ศูนย์โอเพ่นแล็ปดังกล่าวเป็นเพียงก้าวแรก ต่อไปจะไปต่อที่อีอีซี ซึ่งจะมีการนำแพลตฟอร์มของหัวเว่ยไปใช้ให้เกิดประโยชน์ และเมื่ออินเทอร์เน็ตหมู่บ้านแล้วเสร็จ หัวเว่ยจะเป็นหนึ่งในพันธมิตรที่เข้ามาช่วยพัฒนาทักษะทางดิจิทัลให้

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดไอเอ็มดี ประกาศว่าขีดความสามารถแข่งขันของประเทศไทยดีขึ้น 1 ลำดับ จาก 28 ไปเป็น 27 ประเมินจากสมรรถนะทางเศรษฐกิจ สมรรถนะรัฐบาล สมรรถนะเอกชน และโครงสร้างพื้นฐาน

ประการแรกด้านสมรรถนะทางเศรษฐกิจเลื่อนขึ้น 3 อันดับ ปัจจัยสำคัญมาจากเศรษฐกิจภายในประเทศดีขึ้นมา 4 อันดับ การค้าขึ้นมา 3 อันดับ ที่กล่าวกันว่าประเทศไทยย่ำแย่ ข้อเท็จจริงที่ต่างประเทศมองได้สะท้อนออกมาอีกอย่าง

ด้านสมรรถนะรัฐบาลขึ้นมา 3 อันดับ จากการยกระดับด้านการบริหารจัดการ การลดขั้นตอนกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนเพื่อเอื้อให้ภาคเอกชนดำเนินธุรกิจได้ง่ายขึ้น
ส่วนเอกชนดีมากเช่นเดิม สุดท้ายด้านโครงสร้างพื้นฐาน คะแนนโดยรวมเท่าเดิมแต่คะแนนภายในพบว่าด้านเทคโนโลยีขึ้นมา 6 อันดับ โครงสร้างพื้นฐานทั่วไปขึ้นมา 1 อันดับจากนี้ยังมีโครงการอื่นๆ ที่กำลังทยอยออกมาต่อเนื่องหากแล้วเสร็จเชื่อว่าคะแนนจะก้าวกระโดดแน่นอน

“ผมเชื่อว่าเรามาถูกทางแล้ว เราจะต้องหนักแน่น ทำให้ดีที่สุด อย่าวอกแวก ขณะเดียวกันออกไปช่วยประชาชนที่ด้อยโอกาส นึกถึงประโยชน์ของประเทศเป็นหลัก ลงมือปฏิบัติจริงจัง ไม่ใช่สักแต่ว่าพูด” นายสมคิด กล่าว