ซื้อขายไฟด้วย Blockchain ความฝันน่าจะเป็นจริง

ซื้อขายไฟด้วย Blockchain ความฝันน่าจะเป็นจริง

ดร.อดิสรนำเสนออีกหนึ่งแง่มุมของเทคโนโลยี Blockchain ในธุรกรรมการซื้อขายกระแสไฟฟ้าโดยไม่ต้องมีคนกลาง ริเริ่มแล้วในสหรัฐอเมริกาและคาดหวังว่าจะแพร่กระจายสู่ประเทศต่างๆ ในอนาคตอันใกล้นี้ จุดความหวังการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าโดยไม่ต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม

เมื่อครั้งที่แล้วผมเล่าให้ฟังเกี่ยวกับ Google ได้เปิดตัวโครงการที่มีชื่อว่า Sunroof เป็นโปรแกรมคล้ายกับ Google Earth ที่เราสามารถมองลงมาจากอวกาศแล้วดูปริมาณความเข้มแสงที่มีผลต่อความสามารถในการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ที่ตกลงบนหลังคาบ้านเราได้อย่างแม่นยำ และมีข้อมูลที่เก็บเฉลี่ยตลอดปี สามารถคำนวณข้อมูลขนาดของแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่เหมาะสมกับหลังคาบ้านท่าน และยังบอกข้อมูลเงินที่ท่านต้องลงทุนและระยะเวลาการคืนทุนในการลงทุนติดตั้งให้เสร็จสรรพ ถ้าเราสามารถผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในบ้านเราแล้วสามารถเก็บไว้ใช้ในตอนกลางคืนโดยอาศัยแบตเตอรี่ และสามารถกลายเป็นผู้ผลิตพลังงานเพื่อจ่ายให้กับโครงข่ายไฟฟ้า สร้างรายได้ได้ก็ยิ่งดี

ภาพนี้คงเป็นเพียงแค่ภาพฝันในบ้านเมืองเรา เพราะนโยบายรัฐบาลและกฎหมายยังไม่เอื้ออำนวย แต่ในหลายประเทศเริ่มมีโครงการในฝันแบบนี้เกิดขึ้นและทดลองทำจริง ตัวอย่างเช่น ในสหรัฐอเมริกา ได้มีโครงการ Brooklyn Microgrid เป็นโครงการนำร่องในเขตพื่นที่บางส่วนของเขตบรูคลิน มลรัฐนิวยอร์ค ที่บริษัท LO3 Energy เข้าไปติดตั้งระบบมิเตอร์อัจฉริยะ (Smart Meter) และวางระบบการธุรกรรมแบบตัวต่อตัว (Peer-to-peer Transaction System) ทำให้บ้านที่ผลิตไฟฟ้าจากแผงเซลล์แสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคาบ้านตน สามารถจ่ายพลังงานไฟฟ้าไปให้บ้านที่ต้องการที่อยู่ในโครงข่ายไฟฟ้าเดียวกันได้โดยตรง เกิดการซื้อขายไฟฟ้ากันได้อย่างอิสระ

เทคโนโลยีที่สำคัญที่ทำให้ฝันนี้เป็นจริง คือ เทคโนโลยี Blockchain ซึ่งเป็นเทคโนโลยีเดียวกันกับเทคโนโลยีที่ใช้กับ Bitcoin สกุลเงินอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดัง (ซึ่งธนาคารแห่งประเทศไทยยังไม่รับรองว่าเป็นเงินที่ขำระหนี้ได้ตามกฏหมายในไทย) เทคโนโลยี Blockchain เป็นนวัตกรรมการจัดการฐานข้อมูลและขั้นตอนการทำธุรกรรมให้มีประสิทธิภาพและที่สำคัญปลอดภัยมากที่สุดด้วย ระบบ Blockchain ใช้บัญชีธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (Ledger) จัดเก็บข้อมูลทางธุรกรรมและมีการกระจายตัวไปไว้ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์เซิร์ฟเวอร์ที่อยู่ในระบบ เรียกว่า โหนด (node) โดยที่แต่ละโหนดมีสำเนาบัญชีธุรกรรมของตัวเอง เป็นการเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ (Distributed) แทนที่การใช้ตัวกลาง จึงไม่ต้องพึ่งพาธนาคารหรือการไฟฟ้า และเมื่อมีข้อมูลใหม่ก็จะอัพเดทพร้อมกันตลอดเวลาและแชร์ข้อมูลไปยังทุกโหนด และบันทึกธุรกรรมทุกรายการต่อๆ กันตั้งแต่บัญชีถือกำเนิดมาจึงมีความโปร่งใส ไม่สามารถเข้าไปแฮกค์ข้อมูลได้

โครงการ Brooklyn Microgrid นี้ก็ได้นำเทคโนโลยี Blockchain มาเป็นระบบธุรกรรมการซื้อขายไฟฟ้ากันเองภายในโครงข่ายไฟฟ้าได้เป็นผลสำเร็จ โดยเริ่มต้นที่ 50 โหนดในปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะได้ผลและขยายผลออกไปเป็นวงกว้างทั่วสหรัฐอเมริกาในอนาคต พวกเราได้แต่หวังว่า ความฝันนี้น่าจะเป็นจริงในบ้านเรา ไม่ต้องเสียเงินสร้างโรงไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สร้างมลพิษและทำลายสุขภาพของพวกเราทุกคน

*บทความโดย ดร.อดิสร เตือนตรานนท์ ที่ปรึกษาสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ และผู้อำนวยการ ศูนย์นวัตกรรมการพิมพ์อิเล็กทรอนิกส์และอิเล็กทรอนิกส์อินทรีย์ เนคเทค