‘แผ่นแปะไฟฟ้า’รองรับสังคมสูงวัย

‘แผ่นแปะไฟฟ้า’รองรับสังคมสูงวัย

ยกระดับแผ่นกอเอี๊ยะแก้ปวดด้วยเทคโนโลยีให้กลายเป็นแผ่นแปะติดขั้วไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการนำส่งยาทะลุทะลวงผิวหนังชั้นไขมันเข้าสู่กล้ามเนื้อโดยตรง

ยกระดับแผ่นกอเอี๊ยะแก้ปวดด้วยเทคโนโลยีให้กลายเป็นแผ่นแปะติดขั้วไฟฟ้า เพิ่มประสิทธิภาพการนำส่งยาทะลุทะลวงผิวหนังชั้นไขมันเข้าสู่กล้ามเนื้อโดยตรง เพิ่มทางเลือกให้กับผู้ที่มีอาการปวด แถมยังมีส่วนช่วยเพิ่มมูลค่าน้ำยางพารา เมื่อนักวิจัยจุฬาฯ คิดสูตรผลิตแผ่นแปะไฟฟ้าจากวัตถุดิบน้ำยาง


แก้ปวดด้วยแผ่นยางพารา
นพวรรณ ปาระดี นักวิจัยสาขาปิโตรเคมี วิทยาลัยปิโตรเลียมและปิโตรเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า การพัฒนาแผ่นอิเล็กโทรแพทช์ (ElectroPatch) หรือแผ่นแปะติดขั้วไฟฟ้า ได้ไอเดียมาจากกอเอี๊ยะแก้ปวดและพลาสเตอร์บรรเทาปวดทั้งร้อนและเย็น ที่ให้ประสิทธิภาพในการปลดปล่อยยาไม่ดีเท่าที่ควร โดยซึมผ่านกล้ามเนื้อได้ไม่มากเพราะมีชั้นไขมันขวางอยู่ จึงประยุกต์ใช้กระแสไฟฟ้าเป็นตัวช่วยผลักยาเข้าสู่ผิวหนังไปยังบริเวณที่มีอาการเจ็บปวด


แผ่นผลิตภัณฑ์สำเร็จรูปอิเล็กโทรแพทช์ ประกอบด้วย แผ่นบรรจุยาและแผ่นอิเล็กโทรดแปรรูปที่ทำจากยางธรรมชาติ ซึ่งตอบสนองความต้องการการปลดปล่อยยาที่เหมาะสมภายใต้การใช้กระแสไฟฟ้า เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพการรักษาอาการปวดกล้ามเนื้อ ส่วนการพัฒนาแผ่นอิเล็กโทรดฯ มุ่งให้มีความสามารถในการนำไฟฟ้าและมีความยืดหยุ่นสูงด้วยการผสมสารเติมแต่ง คือ ท่อนาโนคาร์บอนและสารประกอบคลอไรด์ของโลหะ รองรับการทำหน้าที่เป็นขั้วไฟฟ้าจ่ายกระแสไฟฟ้าเข้าสู่แผ่นบรรจุยา เพื่อช่วยนวดบรรเทาอาการปวดตามความต้องการได้


“ต้นแบบที่ใช้เพื่อนำส่งยาที่มีความสามารถในการควบคุมอัตรา ปริมาณและระยะเวลาในการปลดปล่อยยาได้เหมาะสมกับความต้องการของผู้ป่วย ซึ่งในประเทศไทยยังไม่มีใครทำมาก่อน แต่ในต่างประเทศมีใช้แล้วในราคาต่อแผ่นสูง 400-500 บาท บางยี่ห้อ 1,000 บาท ขณะที่ระบบการทำงานคล้ายกันแต่ของไทยที่มีต้นทุนต่ำกว่า หรือประมาณแผ่นละ 100 บาทไม่รวมสารออกฤทธิ์ทางยา”


อย่างไรก็ตาม จากการทดสอบพบว่า แผ่นอิเล็กโทรแพทช์สามารถช่วยผลักยาผ่านผิวหนังได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยปลดปล่อยยาสู่ผิวหนังได้ 80% ของยาที่บรรจุอยู่ จึงสามารถตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย และเมื่อเทียบกับการนวดด้วยครีม ถึงแม้ว่าผู้ใช้จะรู้สึกว่าหลังทาครีมแล้วดีขึ้น แต่ในเชิงปริมาณการซึมเข้าสู่ผิวหนังของยาจะไม่ได้ปริมาณยาตามที่ต้องการ เมื่อเทียบกับแผ่นอิเล็กโทรแพทช์ที่สามารถควบคุมอัตรา ปริมาณและเวลาปลดปล่อยยา โดยผ่านกระแสไฟฟ้าที่ผลักเข้าไป หากเทียบกับการนวด พบว่า ยานวดซึมเข้าไปได้แค่ 30-40% ซึ่งน้อยมากเพราะไม่สามารถผ่านเข้าชั้นไขมัน


“ขณะนี้การวิจัยอยู่ระหว่างการพัฒนาแผ่นบรรจุยา ให้มีความสามารถในการใช้ยาได้หลากหลายไม่ใช่แค่ยาแก้ปวด แต่ยังรวมถึงยาแก้ปวดจากโรคมะเร็ง (มอร์ฟีน) เบาหวาน(อินซูลิน) แทนการกินหรือฉีด เพราะยากินและยาฉีดจะให้โดสที่แรงในช่วงแรก ยาบางชนิดอาจจะไปทำลายบริเวณข้างเคียงของระบบทางเดินอาหาร ทำให้ประสิทธิภาพการรักษาลดลง ขณะที่แผ่นอิเล็กโทรแพทช์จะมีประสิทธิภาพการให้ยาระดับคงที่ จนกว่าช่วงเวลาหรือระยะเวลาในการตอบสนองของการรักษาสมบูรณ์”


ต่อยอดรองรับสุขภาพสูงวัย


ในอนาคตจะพัฒนาให้สามารถเปลี่ยนที่บรรจุยาสามารถลอกออกได้ แล้วเปลี่ยนยาที่ต้องการใช้อีกประเภทมาแทนได้ หรืออาจสามารถใช้ได้มากกว่า 1 ครั้งในอนาคต โครงการนี้วิจัยนี้กำลังอยู่ในเฟสสอง เน้นการพัฒนาแผ่นบรรจุยา ส่วนตัวขั้วไฟฟ้าถือว่าประสบความสำเร็จแล้วและมีประสิทธิภาพทัดเทียมกับสินค้านำเข้า


ต่อไปนักวิจัยจะพยายาพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ด้วยการทำให้รูปแบบการใช้งานหลากหลายขึ้น ทั้งนี้เพื่อรองรับกับการเข้าสู่สังคมสูงวัยซึ่งมีปัญหาทางสุขภาพเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอาการปวดเมื่อยตามวัยหรือเกิดจากโรค ฉะนั้น แทนที่จะรับประทานยาหรือทายา สามารถใช้วิธีการนี้ในการบรรเทาอาการปวดได้และอีกกลุ่มเป้าหมายหนึ่งคือ กลุ่มนักกีฬา


“แผ่นอิเล็กโทรแพทช์ง่ายต่อการใช้งาน สามารถหลีกเลี่ยงการถูกทำลายของยาบริเวณระบบทางเดินอาหารจากความเป็นกรดของกระเพาะอาหารหรือเอนไซม์ต่างๆ ควบคุมการปลด ปล่อยยาได้และดึงแผ่นแปะออกจากผิวหนังเมื่อต้องการหยุดยา” นพวรรณ กล่าว