'ชะมดเช็ด'โอกาสธุรกิจคนเขาย้อย

'ชะมดเช็ด'โอกาสธุรกิจคนเขาย้อย

วช.ส่งต่องานวิจัยเพาะพันธุ์ชะมดเช็ด ลง พท.ทับคาง – เขาย้อย เสริมแกร่งธุรกิจกาแฟขี้ชะมดของไทย

ชะมดเช็ดเพาะพันธุ์สำเร็จแล้ว

ปัจจุบันชะมดเช็ดกำลังจะเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่น่าจับตามอง เช็ดชะมด หรือไขมันจากชะมดเช็ด เป็นที่ต้องการของตลาดในและต่างประเทศ เพื่อนำไปผลิตยาหอม ยาไทยแผนโบราณ-น้ำอบไทย-น้ำมันระเหยที่ใช้สำหรับสปา นอกจากนี้ยังเลี้ยงให้ผลกาแฟ เพื่อผลิต "กาแฟขี้ชะมด" สร้างรายได้เป็นอย่างดีได้อีก ทำให้อาชีพการเลี้ยงชะมดเช็ดเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่มีรายได้งดงาม

ทุกวันนี้คนยังไม่นิยมมากเนื่องจากชะมดเช็ดเป็นสัตว์ป่าที่เพาะพันธุ์ยาก และนี่จึงเป็นเหตุให้องค์การสวนสัตว์ในพระบรมราชูปถัมภ์ งานวิจัยเชิงประยุกต์ ด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงได้ร่วมมือกับ สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) สนับสนุนการค้นคว้าวิจัยการเพาะพันธุ์ชะมดเช็ดจนประสบความสำเร็จ พร้อมได้นำองค์ความรู้เผยแพร่ไปยังท้องถิ่นที่มีพื้นฐานการเลี้ยงชะมดเช็ดมาอย่างช้านาน ณ ตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จ.เพชรบุรี

ดร.อัมภา ทองภักดี รักษาการหัวหน้าฝ่ายวิจัย สำนักอนุรักษ์วิจัย และการศึกษา บอกว่าคนไทยรู้จักใช้ประโยชน์ของชะมดเช็ดมาตั้งแต่โบราณโดยมากนิยมจับชะมดเช็ดมาจากธรรมชาติเพื่อใช้ประโยชน์จากไขชะมด และไม่นิยมเพาะพันธุ์เอง เนื่องจากไม่มีความรู้ทางด้าน กระบวนการเพาะพันธ์ และส่วนใหญ่มักเกรงว่าชะมดเช็ดเป็นสัตว์ดุร้ายอาจกัดกินลูกตัวเองได้หากถูกรบกวน จึงยิ่งไม่นิยมเลี้ยงเพื่อเพาะพันธุ์มากขึ้น

ฉะนั้นเมื่อมีความพยายามที่จะเพาะพันธุ์ชะมดเช็ดจึงเป็นเหตุให้นักวิจัยต้องลงไปศึกษาวงจรชีวิตของชะมดเช็ด เพื่อสร้างความเข้าใจด้านการเพาะเลี้ยงเพาะพันธุ์อย่างเป็นธรรมชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์ทั้งทาง สังคม เศรษฐกิจ และแนวทางอนุรักษ์ที่จะสามารถลดการจับชะมดเช็ดจากธรรมชาติได้ พร้อมปูทางไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง

“โครงการนี้เริ่มต้นมาจากการความต้องการในการอนุรักษ์พันธุ์ชะมดเช็ด จึงได้กำหนดขั้นตอนของการศึกษาเป็นการสำรวจ และเก็บข้อมูลพร้อมตั้งเป้าไว้ว่า เราอยากได้ชะมดเช็ดที่เชื่องและปลอดโรคเพื่อทำให้เกษตรกรมีเศรษฐกิจที่ดี ไม่ประกอบอาชีพแบบทรมานสัตว์ด้วย

ทีมวิจัยใช้เวลาศึกษาวิจัยและทดลองกันถึงนาน 5 ปีที่สวนสัตว์เชียงใหม่ เพื่อฝังตัวสังเกตการณ์และทำการทดลองเก็บข้อมูล ซึ่งหลักๆพบว่าการเพาะพันธ์ชะมดเช็ดเป็นเรื่องของการปรับตัวจากสัตว์ป่าไปสู่สัตว์เลี้ยง ที่ต้องเข้าใจธรรมชาติของสัตว์อย่างแท้จริง

และจากการทดลองผสมพันธุ์ภายในกรงเราก็พบว่าเราสามารถเพาะพันธุ์ชะมดเช็ดได้ภายใต้กระบวนการของความเข้าใจธรรมชาติของมัน ไม่รบกวนมัน เพราะชะมดเช็ดเป็นสัตว์ป่าที่เกิดความเครียดได้ง่ายและชอบหลบภัยถ้าเข้าใจธรรมชาติของมันจากการทดลองก็พบว่าเราสามารถผสมพันธุ์ชะมดเช็ดในกรงได้

จากนั้นความสำเร็จตรงนี้เราก็ได้เลือกชุมชนเขาย้อยที่มีการเลี้ยงชะมดเช็ดอยู่แล้วเป็นที่เผยแพร่ความรู้ทางด้านหลักสุขาภิบาลไม่ให้เกิดความสกปรกเหมือนการเลี้ยงแนวเดิมแบบวิถีชาวบ้าน ทั้งทางด้านการจัดการ ที่เลี้ยง การกิน และการป้องกันโรค ขณะเดียวกันผู้เลี้ยงก็ควรเก็บข้อมูลพฤติกรรมสัตว์ด้วย เพราะจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรโดยตรง

ดร.อัมภา กล่าวต่ออีกว่า องค์ความรู้ดังกล่าวเป็นการวิจัยและทำงานที่ควบคู่ไปกับเกษตรกรที่ต้องอาศัยการขยายแนวทางกลุ่มตัวอย่างให้สามารถผลิตลูกที่มีคุณภาพชีวิตเพิ่มขึ้น และในอนาคตยังต้องอาศัยงานวิจัยที่เกี่ยวข้องด้านอื่นๆมาพัฒนาต่อ อาทิ ด้านเภสัชกรที่เกี่ยวเนื่องกับชะมดเช็ดเพิ่มขึ้นด้วย

นายสอาด หล้าแหล่ง เกษตรกร วัย 48 ปี ผู้ได้รับความรู้ด้านการเพาะเลี้ยงชะมดเช็ดกลุ่มแรกในหมู่บ้าน เผยว่าตนเคยเพาะเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจนี้มาก่อน แต่มีรายได้ไม่สม่ำเสมอนัก เนื่องจากไม่สามารถเพาะพันธุ์ในกรงได้เอง จึงเปลี่ยนอาชีพไปขับรถสิบล้อเป็นเวลา 20 ปี แต่เมื่อได้รับความรู้จากเจ้าหน้าที่ที่ลงชุมชนเจ้าตัวก็บอกว่าเหมือนพลิกชีวิต เมื่อได้นำเอาองค์ความรู้มาผสมผสานกับภูมิปัญญาเดิม ก็กลับมายึดอาชีพเก่าอย่างมีความสุขพร้อมเตรียมขยายความรู้ให้เพื่อนเกษตรกร

ยอมรับว่าแรกๆเราก็ยังไม่เชื่อว่ามันจะทำได้จริง เนื่องจากคนพื้นที่เขาย้อยรู้กันทุกคนว่า ชะมดเช็ดมันเพาะพันธุ์ไม่ได้มันดุ มันกัดกินลูก เลยไม่มีใครเพาะพันธุ์ได้แค่จับมาเอาไขไปขาย แต่พอได้รับคำแนะนำ บวกกับภูมิปัญญาเดิมของเราก็ทำให้ไปได้สวย

ทีมวิจัยสอนให้ชุมชน ปรับกรง โดยเอาไม้ไผ่ที่มีในท้องถิ่นมาทำ และสลับอาหารสด และสุกให้มันกิน มันก็จะอ้วนขึ้น ตอนผสมพันธุ์ก็ไม่ให้ยุ่งกับมัน หาก 3 - 4 วันผ่านไปถึงจับแยก การเลี้ยงก็เป็นไปได้ดี

ปัจจุบันทีมวิจัยขยายพันธุ์ชะมดเช็ดได้ทั้งหมด 60 ตัว สร้างรายได้ให้เกษตรกรคงที่มากขึ้น โดยมีรายได้ตกอยู่ที่เดือนละ 23,000 บาท ส่วนหน้าหนาวที่มีไขมากก็ได้ผลผลิตสูงได้เกือบ40,000 บาท

"หัวใจหลักของธุรกิจเพาะเลี้ยงชะมดเช็ดคือ ต้องมีใจรัก ต้องสะอาด และเฝ้าสังเกตุ มันอยู่ดีกินดีเราก็มีความสุขกับการเลี้ยงมันแบบไม่ฝืนธรรมชาติ มีการปล่อยให้เป็นสัตว์ และสร้างบรรยากาศธรรมชาติ ไม่ได้ทรมานสัตว์แล้วยังสร้างรายได้ให้กับครอบครัวอีกด้วย”นายสอาด

ด้านนายชาลี แสงต่อ กำนันหมู่บ้านตำบลทับคาง อำเภอเขาย้อย จังหวัดเพชรบุรี กล่าวอีกว่าชุมชนเขาย้อยเป็นพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์เป็นภูเขาและป่าจึงหาชะมดเช็ดได้ง่าย และมีการขายไขชะมดเป็นเวลากว่า 100 ปี แต่ภายหลังมีจำนวนน้อยลง จนเมื่อองค์ความรู้ด้านการเพาะพันธุ์ชะมดเช็ดก้าวเข้ามาในชุมชน ก็ทำให้มีเกษตรกรหันมาเลี้ยงชะมดเช็ดกันเพิ่มมากขึ้น จนเกิดการแข่งขันราคาทำให้ราคาของไขชะมดถูกกดให้ต่ำลง

ในฐานะผู้นำชุมชนจึงอยากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาช่วยเหลือให้ชุมชนมีอำนาจในการตรึงราคาขาย รวมทั้งจัดทำให้ถูกต้อง จัดตั้งสหกรณ์เพื่อตัดวงจรพ่อค้าคนกลาง โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการจัดทำเอกสารอย่างถูกกฎหมาย และพยายามให้ความรู้กับเกษตรกรทุกคนเพื่อชักชวนเข้าสู่ระบบสหกรณ์จะได้มีระบบเงินหมุนเวียนและสร้างให้อาชีพเกษตรกรอยู่ได้อย่างยั่งยืน