อินวิเดียมีคู่แข่ง ‘หัวเว่ย’ เปิดตัว CloudMatrix 384 ระบบประมวลผลเอไอสเกลใหญ่

อินวิเดียมีคู่แข่ง ‘หัวเว่ย’ เปิดตัว CloudMatrix 384 ระบบประมวลผลเอไอสเกลใหญ่

หัวเว่ยเพิ่มทางเลือกให้ตลาดเอไอด้วย ‘CloudMatrix 384 Supernode’ ระบบประมวลผลสเกลใหญ่ มีพลังประมวลผล 300 เพตาฟล็อปส์ เหนือกว่า Nvidia GB200 ของอินวิเดีย 1.6 เท่า แม้จะใช้พลังงานมากกว่า

หัวเว่ย เทคโนโลยีส์ (Huawei Technology) บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีจากประเทศจีน เปิดตัวสถาปัตยกรรมโครงสร้างพื้นฐานสำหรับปัญญาประดิษฐ์ (AI) รุ่นใหม่ชื่อว่า “CloudMatrix 384 Supernode” หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า CM384 ในงาน Huawei Cloud Ecosystem Conference 2025

ระบบนี้ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาคอขวดด้านการคำนวณในศูนย์ข้อมูลเอไอ และกำลังได้รับการจับตามองให้เป็นคู่แข่งที่สำคัญของระบบ Nvidia GB200 หรือ NVL72 จากอินวิเดีย ผู้นำด้านชิปเอไอของสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม ระบบที่ว่า ไม่ใช่แค่ “ชิป” ตัวเดียว แต่เป็นเหมือน “คอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์” ที่เอาชิปหลายตัวมาต่อรวมกันทำให้สามารถประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่มากๆ ได้ โดยเฉพาะพวกเอไอหรือโมเดลภาษาแบบ ChatGPT ที่ต้องใช้พลังงานสูง โดยหัวเว่ยเรียกระบบนี้ว่า CM384 ส่วนอินวิเดียเรียกว่า NVL72

การทำงานของระบบ CloudMatrix 384 Supernode

ตามรายงานของสำนักข่าว STAR Market Daily แหล่งข่าวภายในจีน ระบบ CloudMatrix 384 นี้ประกอบด้วยชิปประมวลผล Ascend 910C จำนวน 384 ชิ้น ซึ่งถูกออกแบบให้เชื่อมต่อกันในรูปแบบ all-to-all topology ทำให้ชิปทุกตัวสามารถสื่อสารกันได้โดยตรงแบบไร้คอขวด โครงสร้างทั้งหมดถูกจัดวางกระจายอยู่ใน 16 ตู้แร็ก โดย 12 ตู้ทำหน้าที่เป็นหน่วยประมวลผลหลักที่มี GPU 32 ตัวต่อแร็ก และอีก 4 ตู้ทำหน้าที่เป็นสวิตช์สำหรับการเชื่อมต่อภายในระบบ

ระบบยังใช้เทคโนโลยีใยแก้วนำแสง (optics) 100% โดยไม่พึ่งพาสายทองแดงแบบดั้งเดิมเลย ระบบนี้ต้องการตัวรับส่งสัญญาณแสงจำนวนมากถึง 6,912 ชิ้น ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงจุดแข็งของอุตสาหกรรมจีนในการผลิตอุปกรณ์เครือข่ายภายในประเทศได้เอง

ปัจจุบัน หัวเว่ยติดตั้งระบบ CM384 เสร็จสมบูรณ์แล้วที่ศูนย์ข้อมูลในเมืองอูหู มณฑลอันฮุยของจีน ซึ่งเป็นศูนย์กลางการประมวลผลเอไอขนาดใหญ่ของบริษัท

อินวิเดียมีคู่แข่ง ‘หัวเว่ย’ เปิดตัว CloudMatrix 384 ระบบประมวลผลเอไอสเกลใหญ่

(ภาพจากบัญชีผู้ใช้ X ชื่อ @zephyr_z9)

เอาชนะด้วยกลยุทธ์จำนวนมากกว่าคุณภาพ

เมื่อพิจารณาด้านประสิทธิภาพ CloudMatrix มีกำลังประมวลผลสูงถึง 300 เพตาฟล็อปส์ (1 เพตาฟล็อปส์คือความสามารถในการคำนวณ 1 ล้านล้านครั้งต่อวินาที) ในขณะที่ระบบ NVL72 ของอินวิเดียทำได้เพียง 180 เพตาฟล็อปส์

ระบบของหัวเว่ยยังมีความจุหน่วยความจำมากกว่า 3.6 เท่า และมีแบนด์วิธหน่วยความจำ (ความเร็วในการอ่านและเขียนข้อมูล) มากกว่า 2.1 เท่าเมื่อเทียบกับระบบของอินวิเดีย ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการประมวลผลโมเดลเอไอขนาดใหญ่

วิธีที่หัวเว่ยใช้แก้ปัญหาข้อจำกัดด้านเทคโนโลยี ซึ่งชิป Ascend 910C ถูกผลิตด้วยเทคโนโลยี 7 นาโนเมตร ไม่ใช่เทคโนโลยีล่าสุดในตลาดโลก แน่นอนว่ามีประสิทธิภาพด้อยกว่าชิป Blackwell ของอินวิเดียประมาณ 3 เท่า แต่หัวเว่ยแก้ปัญหานี้ด้วยการใช้ชิปจำนวนมากกว่าถึง 5 เท่า (384 ชิปเทียบกับแค่ 72 ชิป) ผลลัพธ์คือ ระบบโดยรวมทำงานได้เร็วกว่าคู่แข่งได้ แม้ว่าชิปแต่ละตัวจะด้อยกว่าก็ตาม

ทั้งนี้ ควรกล่าวถึงระบบ NVL72 ของอินวิเดียที่เปิดตัวในเดือนมีนาคม 2567 ซึ่งใช้เทคโนโลยี NVLink ที่ช่วยให้หน่วยประมวลผลกราฟิก (GPU) จำนวน 72 ตัวทำงานประสานกันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เทคโนโลยีนี้ช่วยเพิ่มความเร็วในการประมวลผลเอไอได้มากกว่าการ์ดรุ่นก่อนหน้านี้ถึง 30 เท่า 

ข้อจำกัดของระบบ CloudMatrix

แม้ CloudMatrix จะมีความสามารถในการประมวลผลที่สูงกว่า แต่ข้อเสียที่สำคัญของระบบ CM384 คือ การใช้พลังงานที่มากกว่าระบบ NVL72 ถึง 3.9 เท่า มีประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อหน่วยการประมวลผลที่ด้อยกว่า 2.3 เท่า และมีประสิทธิภาพการใช้พลังงานต่อแบนด์วิธหน่วยความจำที่แย่กว่าถึง 1.8 เท่า 

อย่างไรก็ตาม จีนมีข้อได้เปรียบด้านการผลิตพลังงานที่อาจช่วยบรรเทาปัญหานี้ เนื่องจากในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จีนได้เพิ่มกำลังการผลิตพลังงานอย่างมหาศาลเท่ากับกำลังการผลิตทั้งหมดของสหรัฐ

ทั้งจากแหล่งพลังงานหลากหลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นถ่านหิน พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานนิวเคลียร์ ด้วยเหตุนี้ การที่ระบบใช้พลังงานมากขึ้นจึงไม่ใช่อุปสรรคใหญ่สำหรับการใช้งานในประเทศจีน แต่อาจเป็นข้อจำกัดสำคัญสำหรับลูกค้าในหลายประเทศที่มีต้นทุนพลังงานสูงหรือมีข้อจำกัดด้านการจัดหาพลังงาน

การพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศ

แม้หัวเว่ยจะสามารถออกแบบชิป Ascend 910C ได้เองภายในประเทศจีน แต่กระบวนการผลิตยังคงต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศอยู่มาก ทั้งในส่วนของหน่วยความจำ HBM จากซัมซุงของเกาหลีใต้ แผ่นซิลิคอนคุณภาพสูงจาก TSMC ของไต้หวัน รวมถึงอุปกรณ์การผลิตจากสหรัฐ เนเธอร์แลนด์ และญี่ปุ่น

ชิป Ascend 910C ส่วนใหญ่ยังคงผลิตโดย TSMC ด้วยกระบวนการ 7 นาโนเมตร แม้ว่าจีนจะมีบริษัท SMIC ที่สามารถผลิตชิปด้วยเทคโนโลยี 7 นาโนเมตรได้แล้วก็ตาม แต่หัวเว่ยก็ยังพยายามหาวิธีแก้ปัญหาการคว่ำบาตรจากสหรัฐที่ห้าม TSMC ผลิตชิปให้กับบริษัทได้ โดยการซื้อแผ่นซิลิคอนมูลค่าประมาณ 500 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 18,000 ล้านบาท) ผ่านบริษัทตัวกลางชื่อ Sophgo เพื่อให้สามารถผลิตชิป Ascend 910C ต่อไปได้ในสภาวะที่มีมาตรการจำกัดการผลิตจากผู้ผลิตต่างประเทศ

พัฒนาการของหัวเว่ยภายใต้มาตรการคว่ำบาตรของสหรัฐ

หัวเว่ยถูกจำกัดโดยมาตรการคว่ำบาตรจากสหรัฐ ทำให้บริษัทต้องเร่งพัฒนาความสามารถด้านเทคโนโลยีด้วยตัวเอง โดยในช่วงหลายปีที่ผ่านมา หัวเว่ยได้เปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศแทนชิ้นส่วนนำเข้าจากต่างชาติกว่า 13,000 รายการ

ความพยายามดังกล่าวส่งผลต่อผลประกอบการของบริษัท โดยในปี 2566 หัวเว่ยมียอดขายเพิ่มขึ้น 10% เป็น 704,200 ล้านหยวน (ประมาณ 3.61 ล้านล้านบาท) และกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นกว่าเท่าตัวอยู่ที่ 87,000 ล้านหยวน (ประมาณ 446,000 ล้านบาท)

ความต้องการระบบเอไอทั่วโลกกำลังเพิ่มสูงขึ้น หัวเว่ยเคยคาดการณ์ไว้ว่า ภายในปี 2568 ตลาดเอไอจะขยายตัวถึง 86% การเข้ามาของระบบอย่าง CloudMatrix อาจส่งผลต่อการตัดสินใจของบริษัทต่างๆ สำหรับการเลือกใช้เทคโนโลยีในอนาคต

อ้างอิง: South China Morning PostTech in AsiaSemiAnalysis