ซีอีโอเทคเข้าร่วมงานทรัมป์ ขณะที่ ‘เจนเซน หวง’ ฉลองตรุษจีนกับพนักงานในไต้หวัน

ต่างขั้วผู้นำเทค: เจนเซน หวง ปลุกปรากฏการณ์ Jensanity ฉลองตรุษจีนกับพนักงานในไต้หวัน ด้านซีอีโออย่าง ‘ซัคเคอร์เบิร์ก-มัสก์’ นำทีมร่วมงานทรัมป์พร้อมบริจาคหลักล้าน
ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงของบริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ระดับโลกต่างพากันเดินทางไปร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ของ “โดนัลด์ ทรัมป์” กลับมีเพียง “เจนเซน หวง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบริษัทอินวิเดีย (Nvidia) ผู้ผลิตชิปปัญญาประดิษฐ์ (AI) ชั้นนำของโลก ที่ไม่ได้ร่วมงานประวัติศาสตร์ครั้งสำคัญนี้
เจนเซน หวง เลือกที่จะอยู่ร่วมเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีนในเอเชียกับพนักงานและผู้นำวงการเทคโนโลยีในไต้หวัน โดยให้เหตุผลว่างานเลี้ยงส่งท้ายปีถือเป็นโอกาสอันดีที่เขาจะได้กล่าวขอบคุณพนักงานที่ทุ่มเทการทำงานมาตลอดทั้งปี ซึ่งเทศกาลตรุษจีนปี 2568 นี้จะเริ่มขึ้นในวันที่ 29 ม.ค.
ปรากฏการณ์ ‘Jensanity’ กระแสคลั่งไคล้ซีอีโอชาวไต้หวัน
กระแสความคลั่งไคล้เจนเซนในไต้หวันสะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลของซีอีโออินวิเดียที่มีต่อชาวไต้หวันอย่างชัดเจน จนเกิดคำเฉพาะเรียกปรากฏการณ์นี้ว่า “เจนแซนิตี้” (Jensanity) หรือ “ความบ้าคลั่งเจนเซน”
เขาปรากฏตัวเพียง 55 ชั่วโมงก็สามารถสร้างความตื่นเต้นให้กับผู้คนได้อย่างมาก มีแฟนคลับแห่ตามขอลายเซ็นไม่ขาดสาย พร้อมด้วยสื่อมวลชนที่ติดตามทำข่าวทุกย่างก้าว
ความนิยมของเจนเซนในไต้หวันนั้นไม่ใช่เรื่องบังเอิญ เนื่องจากเขาเป็นชาวไต้หวันโดยกำเนิดที่ประสบความสำเร็จในระดับโลก จนกลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับคนรุ่นใหม่ ดังจะเห็นได้จากในเทศกาลฮาโลวีนที่ผ่านมา มีเด็กไต้หวันแต่งกายเลียนแบบเขา โดยคุณแม่ของเด็กชายวัย 5 ขวบรายหนึ่งเล่าว่า ลูกชายรู้ดีว่ากำลังแต่งตัวเป็น “บุคคลที่น่าจดจำ” สะท้อนให้เห็นว่าแม้แต่เด็กเล็กๆ ก็ยังรู้จักและชื่นชมในตัวเขา
ในการเยือนไต้หวันครั้งก่อน เจนเซนได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นราวกับซูเปอร์สตาร์ มีแฟนคลับขอให้เซ็นชื่อบนเสื้อผ้า และมีสาวคนหนึ่งถึงกับขอให้เขาเซ็นชื่อบนหน้าอก ภาพลักษณ์ของเขาจึงไม่ใช่เพียงผู้บริหารธรรมดา แต่กลายเป็นไอคอนทางวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อสังคมไต้หวัน ทั้งในแง่ของความสำเร็จทางธุรกิจ บุคลิกภาพ รูปแบบการเขียนบันทึก ตลอดจนแฟชั่นการแต่งกาย ที่กลายเป็นประเด็นให้ผู้คนพูดถึงและเลียนแบบ
(Jensen Huang at an Nvidia staff event in Taiwan cr. Taiwan News)
โดยระหว่างการเยือนไต้หวันครั้งนี้ เขาได้พบปะกับผู้นำด้านเทคโนโลยีคนสำคัญเช่น ซีซี เหวย ประธาน TSMC บริษัทผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก และ หยัง หลิว ประธานบริษัทฟ็อกซ์คอนน์ เจนเซนได้แวะไปตัดผมที่ร้านประจำ เดินเที่ยวตลาดกลางคืน และมีกำหนดการรับประทานอาหารที่บ้านของมอร์ริส จาง ผู้ก่อตั้ง TSMC ก่อนจะเดินทางต่อไปยังประเทศจีน
ผู้นำเทคโนโลยีในสหรัฐ เตรียมพร้อมรับมือยุคทรัมป์ 2.0
ในทางกลับกัน บรรดาซีอีโอเทคโนโลยีคนสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเจฟฟ์ เบโซส จากอเมซอน, มาร์ก ซัคเคอร์เบิร์ก จากเมตา, อีลอน มัสก์ จากเทสลา, ซุนดาร์ พิชัย จากกูเกิล และโชว์ จื่อ ชิว จากติ๊กต็อก ต่างเดินทางไปร่วมงานสาบานตนของทรัมป์ซึ่งจัดขึ้นเป็นเวลา 4 วัน โดยบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างกูเกิลและเมตาถึงขั้นบริจาคเงินสนับสนุนงานบริษัทละ 1 ล้านดอลลาร์ (ราว 34 ล้านบาท)
ซีอีโอเหล่านี้ต่างแสดงความยินดีผ่านสื่อสังคมออนไลน์ โดยมัสก์โพสต์ข้อความว่า “การกลับมาของราชา” พร้อมแชร์ภาพโปรไฟล์ของทรัมป์บนแพลตฟอร์ม X (อดีตทวิตเตอร์) ด้านซุนดาร์ พิชัยจากกูเกิลกล่าวว่า พร้อมร่วมงานกับรัฐบาลชุดใหม่เพื่อนำพาเทคโนโลยีและเอไอมาสร้างประโยชน์ให้ชาวอเมริกัน ส่วนเบโซสเน้นย้ำถึงความสำคัญของการส่งมอบอำนาจอย่างสันติในฐานะเอกลักษณ์ของอเมริกา
ปัจจุบัน บริษัทอินวิเดียมีมูลค่าตลาดสูงถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์ และตัวของเจนเซนเองก็ติดอันดับมหาเศรษฐีที่ร่ำรวยที่สุดในโลกอันดับที่ 12 ด้วยทรัพย์สินมูลค่า 117,000 ล้านดอลลาร์ ราคาหุ้นของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้น 3.1% ในวันศุกร์ที่ผ่านมา (21 ม.ค.) และเพิ่มขึ้น 2.6% นับตั้งแต่ต้นปี ขณะที่ในรอบปีที่ผ่านมาราคาหุ้นพุ่งสูงขึ้นถึง 131%
แม้จะไม่ได้ไปร่วมงานสาบานตน แต่ซีอีโออินวิเดียก็กล่าวว่าเขายินดีที่จะแสดงความยินดีกับคณะบริหารชุดใหม่ของทรัมป์ และหากได้รับเชิญให้ไปเยือนมาร์-อา-ลาโก รีสอร์ทของทรัมป์ในปาล์มบีช เขาก็จะรู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่ง
อย่างไรก็ตาม พิธีสาบานตนของทรัมป์ในครั้งนี้ยังจัดขึ้นพร้อมกับ “การประชุมดาวอส” ในสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งเป็นเวทีที่รวมผู้นำธุรกิจและผู้นำประเทศจากทั่วโลก
อ้างอิง: taiwan news businessinsider และ finance yahoo