Smart City เหนือกว่า High Tech คือ High Touch | สุพจน์ เธียรวุฒิ

“สมาร์ทซิตี้” หรือ “เมืองอัจฉริยะ” หมายถึง เมืองที่ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยและชาญฉลาด เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการบริหารและจัดการเมือง (นิยามของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล)

 ในขณะที่สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ITU) นิยาม “สมาร์ทซิตี้” คือ เมืองที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิต ประสิทธิภาพของการบริหารจัดการเมือง และขีดความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจ

ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทันสมัย มาพัฒนาเมืองต่างๆ ของไทยให้มีความทันสมัย น่าอยู่ และตอบโจทย์การพัฒนาเศรษฐกิจของเมืองอย่างเข้มข้นตลอดหลายปี 

เราได้เห็นตัวอย่างของเมืองที่นำฐานข้อมูลเมืองมาใช้วางแผนพัฒนาเมือง นำเทคโนโลยีรถไฟฟ้าสะอาดมาใช้ นำเทคโนโลยีสื่อสารทันสมัยมาแก้ปัญหาทางการเกษตร การแพทย์และนวัตกรรมอื่น ๆ อีกมากมาย 

ปัญหาที่แท้จริงของเมือง มาจาก การขยายตัวของเมือง (Urbanization) มีการประมาณการณ์กันว่า จะมีเมืองขนาดใหญ่ที่มีประชากรมากกว่า 10 ล้านคนเพิ่มจาก 29 เมืองในปี 2015 เป็น 41 เมืองในปี 2030 

โดยที่ผ่านมา เมืองขนาดใหญ่ เช่น เซี่ยงไฮ้ มีจำนวนประชากรเฉลี่ยเพิ่มขึ้นจาก 10 ล้านคน เป็น 28 ล้านคน ปัญหาที่ตามมาจากการขยายตัวของเมือง จึงเป็นความท้าทายของการบริหารจัดการเมืองขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นการขนส่งจราจร และสิ่งแวดล้อม 

การจัดอันดับสมาร์ทซิตี้ ปี 2024 ซึ่งเป็นปีล่าสุด โดยสถาบัน IMD ประเทศสิงคโปร์ได้รับการจัดอันดับเป็นที่ 5 ของโลก และเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียน รองลงมาคือกรุงกัวลาลัมเปอร์ของมาเลเซีย เป็นอันดับที่ 73 ของโลก ในขณะที่กรุงเทพมหานคร เป็นเพียงเมืองเดียวของประเทศไทยที่ถูกจัดอยู่ในอันดับที่ 84 จาก 142 เมืองทั่วโลก

วิธีการจัดอันดับของ IMD นั้นใช้การประเมินจาก “การรับรู้” ของผู้อาศัยอยู่ในเมืองที่มีต่อประเด็นปัญหาต่างๆในสองมิติคือ มิติด้านโครงสร้างพื้นฐานและมิติด้านเทคโนโลยีในการจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น 

ในแต่ละมิติ จะประเมินจาก 5 ประเด็นสำคัญ ได้แก่ ด้านสุขภาพและความปลอดภัย ความสะดวกในการเดินทาง (Mobility) กิจกรรม โอกาส และการบริหารจัดการ 

หลังจากนั้น แต่ละเมืองจะถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีค่าดัชนีการพัฒนาทุนมนุษย์ (Human Development Index) ที่มีระดับใกล้เคียงกัน แล้วให้เกรดโดยเปรียบเทียบกับเมืองอื่นๆที่อยู่ในกลุ่ม HDI เดียวกัน 

จะเห็นได้ว่า การเปรียบเทียบความเป็นอัจฉริยะระหว่างเมืองนั้นไม่ใช่เรื่องง่าย และถึงที่สุดแล้ว การวัดความเป็นเมืองอัจฉริยะ อยู่ที่การรับรู้ของประชาชนผู้อยู่อาศัย ว่า “เมือง” มีความพร้อมและความสามารถในการจัดการกับปัญหาต่างๆของเมืองเพื่อตอบสนองผู้อยู่อาศัยได้ดีเพียงใด 

ในกรณีของกรุงเทพมหานคร เราได้รับการจัดระดับความเป็นเมืองอัจฉริยะที่ CCC นอกจากนี้ ผู้ถูกสำรวจให้ข้อมูลว่า ปัญหาที่ควรให้ความสำคัญที่สุดคือ ปัญหามลพิษทางอากาศ มาเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยปัญหาความปลอดภัย คอร์รัปชัน และการจราจรติดขัด 

นี่แสดงให้เห็นว่า หากเราต้องการพัฒนาให้กรุงเทพมหานครของเราได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น ควรจะต้องทุ่มเททรัพยากรไปแก้ไขปัญหาเหล่านี้ก่อนเป็นอันดับแรก ๆ

เราลองมาดู สิงคโปร์ ซึ่งถือเป็นต้นแบบหนึ่งของโลกในด้านความเป็นเมืองอัจฉริยะ เริ่มต้นจากการยอมรับสภาพปัญหาสำคัญของเมือง ซึ่งมีความหนาแน่นของประชากรสูงกว่าฮ่องกง กรุงโตเกียว และลอนดอน ทำให้รัฐบาลสิงคโปร์ให้ความสำคัญกับการวางแผนการใช้ประโยชน์จากที่ดินมากที่สุด มีการวางแผนพัฒนาประเทศให้เป็น “เกาะอัจฉริยะ” 

โดยเริ่มตั้งแต่แผนการปรับภาครัฐให้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 1980 ครั้นถึงปี 2000 ก็วางวิสัยทัศน์ประเทศไปสู่ ประเทศอัจฉริยะ 

ปี 2015 มีการวางโครงสร้างพื้นฐานให้มีสายใยแก้วนำแสงเชื่อมต่อกับทุกครัวเรือน เพื่อให้เข้าถึงบริการสื่อสารความเร็วสูงได้ นอกจากนี้ ยังให้เชื่อมเข้ากับสมาร์ท กริด เพื่อติดตามและกำกับการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ  

หัวใจคือการแก้ปัญหาสำคัญของเมือง เช่น การแก้ปัญหาจราจร สิงคโปร์มีนโยบายจำกัดการใช้รถยนต์ส่วนตัว โดยส่งเสริมให้ใช้ระบบขนส่งมวลชนแทนการใช้รถยนต์ และใช้มาตรการจำกัดรถยนต์ที่จะวิ่งเข้าเขตใจกลางเมือง มีการคิดค่าผ่านทางเข้าสู่บริเวณใจกลางเมืองที่มีการจรจรติดขัด ด้วยระบบ Area Licensing Scheme (ALS) 

ซึ่งต่อมาได้พัฒนามาเป็นระบบ Electronic Road Pricing (ERP) มีการนำทรานส์ปอนเดอร์มาติดกับรถยนต์ทุกคัน ทำให้สามารถตรวจจับรถที่ผ่านเขตพื้นที่ต่างๆได้ และที่สำคัญคือ สามารถกำหนดอัตราค่าผ่านทางได้อย่างยืดหยุ่น เช่น การกำหนดราคาช่วงที่มีการจราจรหนาแน่นหรือเบาบางให้แตกต่างกันได้ โดยหักจากเงินในบัตรโดยอัตโนมัติ 

ผลจากมาตรการเหล่านี้ ทำให้มีการเพิ่มการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในช่วงเดินทางหนาแน่น (Peak Hours) เป็นหลัก ในขณะที่การเดินทางโดยรถยนต์ในช่วงเดียวกัน ก็ยังเคลื่อนตัวได้ที่ความเร็ว 27 กม. ต่อ ชม. ซึ่งเร็วกว่าของกรุงลอนดอนที่ 16 กม.ต่อ ชม. หรือ กรุงโตเกียวที่ 11 กม. ต่อ ชม. เท่านั้น โมเดลนี้ ได้กลายเป็นต้นแบบที่ถูกนำไปใช้ในเมืองอื่นเช่น ที่กรุงลอนดอน และสต็อกโฮล์ม เป็นต้น

จะเห็นได้ว่า แม้เทคโนโลยีจะเป็นคำตอบในการแก้ปัญหา แต่จุดมุ่งเน้นที่แท้จริงคือ “การแก้ปัญหาให้สำเร็จ” ไม่ใช่อยู่ที่ความทันสมัยของเทคโนโลยีที่นำมาใช้แต่อย่างใด ระบบ ERP ของสิงคโปร์จะได้รับการพัฒนาให้ใช้สัญญาณจากดาวเทียมในรุ่นต่อไป โดยไม่ต้องใช้เสาโครงติดตัวอ่านสัญญาณจากทรานสปอนเดอร์ในรถยนต์อีกต่อไป แต่ปัญหาที่แก้ก็ยังคงเป็นปัญหาเดิมนั่นเอง

หันมามองสมาร์ทซิตี้ ของไทย เราควรเริ่มต้นจากการตั้งคำถามว่า ประชาชนต้องการให้แก้ “ปัญหา” อะไรก่อนเป็นอันดับแรก แล้ว เราได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลหรืออื่นๆมาใช้ในการแก้ปัญหาเหล่านั้นได้ “สำเร็จ” จริงหรือไม่

หากเมืองไหน สามารถทำได้ทั้งสองข้อนี้และประชาชนได้เห็นจริงยอมรับแล้ว ความเป็น “เมืองอัจฉริยะ” ที่แท้จะปรากฏออกมาเอง ไม่ต้องรอให้ใครมาประกาศแล้วละครับ.