เกาหลีใต้ ประกาศส่งอุปกรณ์สำรวจดวงจันทร์ไปกับยานภาคเอกชนสหรัฐฯ

เกาหลีใต้ ประกาศส่งอุปกรณ์สำรวจดวงจันทร์ไปกับยานภาคเอกชนสหรัฐฯ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ประกาศส่งอุปกรณ์สำรวจดวงจันทร์ไปกับยานลงจอดบนดวงจันทร์ของภาคเอกชนสหรัฐฯ

เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม เผยแพร่ผ่านเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า 

อีกหนึ่งข่าวอัปเดตการ สำรวจดวงจันทร์ ของประเทศในเอเชีย เมื่อเกาหลีใต้ประกาศส่งอุปกรณ์สำรวจดวงจันทร์ไปกับยานลงจอดบนดวงจันทร์ของภาคเอกชนสหรัฐฯ

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศ ของรัฐบาลเกาหลีใต้ ประกาศเมื่อวันจันทร์ที่ 4 กันยายน ค.ศ. 2023 ที่ผ่านมาว่าอุปกรณ์ศึกษาทางวิทยาศาสตร์สำหรับใช้ในอวกาศที่เกาหลีใต้ผลิตในประเทศ จะติดตั้งไปกับยานลงจอดบนดวงจันทร์ของบริษัทเอกชนในสหรัฐอเมริกา ที่มีกำหนดขึ้นสู่อวกาศในปีหน้า อาจกล่าวได้ว่า เกาหลีใต้ เองก็กำลังเข้าร่วมการแข่งขันด้านอวกาศครั้งใหม่ที่ทุกคนต่างมุ่งสู่ดวงจันทร์

อุปกรณ์วิทยาศาสตร์ดังกล่าวชื่อว่า Lusem (ย่อมาจาก Lunar Space Environment Monitor) หนัก 10 กิโลกรัม ใช้ศึกษาสภาพแวดล้อมในอวกาศบริเวณดวงจันทร์ มีตัวตรวจวัดอนุภาคพลังงานสูงที่มีพลังงานมากกว่า 50 กิโลอิเล็กตรอนโวลต์ ซึ่งเป็นระดับพลังงานของอนุภาคในอวกาศที่ส่งผลต่อสุขภาพของนักบินอวกาศ รวมถึงการทำงานของระบบอิเล็กทรอนิกส์บนยาน

ตัวอุปกรณ์ Lusem พัฒนาโดยสถาบันดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์อวกาศเกาหลีใต้ (KASI) ภายใต้ความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยคย็องฮี (Kyung Hee University) และผลิตโดย Satrec Initiative บริษัทเอกชนผู้ผลิตและพัฒนาดาวเทียมในเกาหลีใต้

อุปกรณ์ Lusem ตัวนี้ จะติดตั้งบนยาน Nova-C ยานสำรวจหุ่นยนต์ของ Intuitive Machines บริษัทเอกชนด้านการบินอวกาศในสหรัฐฯ จึงถูกขนส่งจากสำนักงานใหญ่ของ KASI ในเมืองแทจ็อน (Daejeon) ทางภาคกลางของเกาหลีใต้ ผ่านสนามบินอินช็อน ไปยังสำนักงานใหญ่ของ Intuitive Machines ในเมืองฮิวสตัน รัฐเท็กซัส ทางใต้ของสหรัฐฯ เมื่อวันจันทร์ที่ 4 กันยายนที่ผ่านมา

ยาน Nova-C ที่บรรทุกอุปกรณ์ Lusem ของเกาหลีใต้ จะขึ้นสู่อวกาศด้วยจรวด Falcon 9 ของ SpaceX บริษัทเอกชนด้านเทคโนโลยีอวกาศอีกแห่งในสหรัฐฯ ในช่วงปลายปี ค.ศ. 2024 และมีพื้นที่เป้าหมายในการลงจอดที่ “พื้นที่เรย์เนอร์ แกมมา” (Reiner Gamma region) บนพื้นผิวดวงจันทร์ด้านใกล้โลก

ยาน Nova-C เป็นส่วนหนึ่งของโครงการ CLPS (Commercial Lunar Payload Services) โครงการอวกาศที่ NASA สนับสนุนและคัดเลือกภาคเอกชนในสหรัฐฯ เข้ามามีส่วนร่วมในการส่งยานสำรวจดวงจันทร์ (ทั้งการสร้างยานสำรวจ และจรวดที่ใช้ส่งยานขึ้นสู่อวกาศ) และยังส่งเสริมการพัฒนาภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรมจากการสำรวจดวงจันทร์

นอกจากอุปกรณ์ Lusem แล้ว ทาง KASI จะพัฒนาและสนับสนุนอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติมอีก 3 ตัว สำหรับภารกิจยานสำรวจดวงจันทร์ครั้งอื่น ๆ ต่อไปในโครงการ CLPS

โครงการ CLPS ยังเป็นโครงการย่อยเพื่อสนับสนุนโครงการอาร์ทีมิส (Artemis program) โครงการอวกาศที่เน้นการสำรวจดวงจันทร์โดยนักบินอวกาศในระยะยาว นำโดยสหรัฐฯ มีเป้าหมายพานักบินอวกาศลงสำรวจบนดวงจันทร์ในปี ค.ศ. 2025 และตั้งสถานีสำรวจบนดวงจันทร์ในปี ค.ศ. 2028 โดยสหรัฐฯ วางแผนงบประมาณสำหรับโครงการอาร์ทีมิส ในช่วง ค.ศ. 2012 - 2025 มากถึง 93,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราว 3.3 ล้านล้านบาท)

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสารสนเทศเกาหลีใต้ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงจะพยายามเพิ่มบทบาทของเกาหลีใต้ในโครงการอาร์ทีมิสที่นำโดยสหรัฐฯ ซึ่งการส่งอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ของเกาหลีใต้ไปติดตั้งบนยานสำรวจดวงจันทร์ของภาคเอกชนสหรัฐฯ เป็นความร่วมมือด้านการสำรวจดวงจันทร์ครั้งแรก ระหว่างสหรัฐฯ-เกาหลีใต้ นับตั้งแต่รัฐบาลเกาหลีใต้ลงนามใน “ข้อตกลงอาร์ทีมิส” (Artemis Accords)

“ข้อตกลงอาร์ทีมิส” เป็นข้อตกลงในระดับนานาชาติที่นำโดยสหรัฐฯ เพื่อความร่วมมือเชิงสันติในการสำรวจดวงจันทร์ ระหว่างชาติต่าง ๆ ที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกในโครงการอาร์ทีมิส ซึ่งในปัจจุบัน (ค.ศ.2023) มีประเทศและพื้นที่สมาชิกที่ร่วมลงนามข้อตกลงแล้ว 28 แห่ง รวมถึงญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินเดีย ซาอุดีอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และออสเตรเลีย

แปลและเรียบเรียง : พิสิฏฐ นิธิยานันท์ - เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์ สดร.

อ้างอิง :Korean space payload to head to moon on U.S. lander - Korea JoonAng Daily

เกาหลีใต้ ประกาศส่งอุปกรณ์สำรวจดวงจันทร์ไปกับยานภาคเอกชนสหรัฐฯ