เช็กง่ายๆ!! เราถูกใช้ชื่อไปเปิดเบอร์อื่นหรือไม่? ผ่าน ‘แอป 3 ชั้น’ จาก กสทช.

เช็กง่ายๆ!! เราถูกใช้ชื่อไปเปิดเบอร์อื่นหรือไม่? ผ่าน ‘แอป 3 ชั้น’ จาก กสทช.

การ “เปิดเบอร์มือถือ” นั้น จำเป็นต้องใช้ “เลขบัตรประชาชน” ในการลงทะเบียน หากไม่ต้องการให้เลขบัตรประชาชนของเราถูกแอบอ้างไปเปิดเบอร์อื่น เบื้องต้นสามารถล็อกเลขบัตรผ่านแอปพลิเคชัน “3 ชั้น” จาก กสทช. ได้

Key Points:

  • แอปพลิเคชัน 3 ชั้น ของ กสทช. สามารถใช้ล็อกเลขบัตรประชาชนของเราไว้เพื่อไม่ให้มิจฉาชีพนำไปเปิดเบอร์มือถือใหม่ได้
  • เนื่องจากปัจจุบันยังมีแก๊งคอลเซนเตอร์อยู่เป็นจำนวนมาก ดังนั้นผู้ใช้มือถือควรตรวจสอบเบอร์ของตนเองอยู่เสมอว่ามีเบอร์อื่นที่ไม่รู้จักเพิ่มมาในเลขบัตรประชาชนหรือไม่
  • แม้ว่าแอปพลิเคชัน 3 ชั้น จะเป็นตัวช่วยในการตรวจสอบการนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้เปิดเบอร์มือถือ แต่ผู้ใช้เองก็จำเป็นจะต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลา เนื่องจากมิจฉาชีพมักหาข้ออ้างใหม่ๆ มาหลอกลวงเหยื่อ

จากปัญหาผู้ใช้โทรศัพท์มือถือตรวจสอบ “เบอร์มือถือ” จากแอปพลิชันค่ายมือถือที่ใช้บริการอยู่ แล้วพบว่า "เลขบัตรประชาชน"ของตัวเองถูกแอบอ้างนำไปใช้"เปิดเบอร์มือถือ"เบอร์อื่นโดยที่เจ้าตัวไม่ได้อนุญาต และไม่เคยรับรู้มาก่อนนั้น ถือว่าเป็นอันตรายอย่างมาก เพราะนอกจากข้อมูลส่วนตัวจะรั่วไหลแล้ว เบอร์ที่ถูกเปิดใช้งานเหล่านั้นอาจเกิดจาก “มิจฉาชีพ” ที่นำเบอร์ไปใช้ในทางที่ผิด 

โดยเฉพาะการทำธุรกรรมทางการเงิน เช่น ระบบพร้อมเพย์ ที่จำเป็นต้องใช้เบอร์โทรศัพท์ จึงอาจส่งผลเสียต่อเจ้าของเบอร์ตัวจริงได้ แต่ในเบื้องต้นเจ้าของเบอร์สามารถตรวจสอบเบอร์ที่ลงทะเบียนอยู่ในชื่อของเรา และแจ้งล็อกเบอร์เหล่านั้นผ่าน “แอปพลิเคชัน 3 ชั้น” ของ กสทช. ได้

หนึ่งในปัญหาที่ผู้ใช้โทรศัพท์มือถือมักพบเจอบ่อยๆ ก็คือมิจฉาชีพ โดยส่วนมากจะมาในรูปแบบของ “แก๊งคอลเซนเตอร์” ที่มักใช้เบอร์แปลกโทรศัพท์เข้ามาเพื่อล่อลวงให้ผู้เสียหายตายใจและโอนเงินไปโดยไม่รู้ตัว ส่วนหนึ่งที่มิจฉาชีพสามารถโทรไปหลอกลวงเหยื่อได้เรื่อยๆ นั้น เป็นเพราะในบางครั้งมิจฉาชีพ 1 คน สามารถเปิดเบอร์โทรศัพท์ได้หลายเบอร์ และในบางครั้งพวกเขาก็อาจใช้ “เลขบัตรประชาชน” ของคุณไปเปิดเบอร์โดยที่คุณเองไม่ทันรู้ตัว

  • 3 ขั้นตอนง่ายๆ ป้องกันถูกสวมรอยเปิดเบอร์ ด้วยแอป 3 ชั้น

จากปัญหามิจฉาชีพนำเลขบัตรประชาชนของบุคคลทั่วไปไปเปิดเบอร์มือถือโดยที่เจ้าของบัตรไม่ทราบเรื่องนั้น เบื้องต้นทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้เปิดแอปพลิชัน 3 ชั้น ขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถทำการล็อกข้อมูลไม่ให้บุคคลอื่นนำเลขบัตรประชาชนของเราไปเปิดเบอร์ใหม่ได้ รวมถึงตรวจสอบได้ว่าปัจจุบันเลขบัตรประชาชนของเราถูกนำไปเปิดเบอร์ใหม่โดยที่เราไม่รู้ตัวหรือไม่ ซึ่งมี 3 ขั้นตอนง่ายๆ ดังนี้

1. ตรวจ : โดยระบบจะตรวจสอบเลขหมายโทรศัพท์ที่ลงทะเบียนด้วยชื่อ-บัตรประชาชนของเรา ในฐานข้อมูลผู้ให้บริการทุกเครือข่าย

2. แจ้ง : ระงับเบอร์แปลกที่มีการลงทะเบียนในชื่อของเรา รวมถึงกรณีเบอร์ที่เคยลงทะเบียนไว้หายไปด้วย โดยหลังจากนั้นเราสามารถแจ้งไปยังผู้ให้บริการเครือข่ายมือถือ เพื่อดำเนินการตามเงื่อนไขของผู้ให้บริการนั้นๆ ต่อไป

3. ล็อก : เป็นการล็อกไม่ให้นำชื่อหรือบัตรประชาชนของเราไปเปิดเบอร์ใหม่ และถ้าหากเราต้องการเปิดเบอร์ใหม่ก็สามารถปลดล็อกผ่านแอปพลิเคชันได้ด้วยตนเอง โดยจะต้องทำการเปิดเบอร์ใหม่ให้เสร็จภายใน 5 นาที ซึ่งเป็นเวลาที่แอปพลิเคชันกำหนดไว้

  • วิธีการใช้ “แอปพลิเคชัน 3 ชั้น”

สำหรับการใช้งาน “แอปพลิเคชัน 3 ชั้น” นั้น ในขั้นตอนแรกสามารถดาวน์โหลดได้ทั้งระบบปฏิบัติการ iOS และ Andriod (คลิกที่นี่เพื่อดาวน์โหลด)

หลังจากนั้นผู้ใช้งานจะต้องลงทะเบียนโดยการกรอกข้อมูล ดังนี้ 

1) เลขบัตรประชาชน 

2) หมายเลขโทรศัพท์มือถือ 

3) เครือข่ายผู้ให้บริการ

เมื่อกรอกข้อมูลเสร็จระบบจะให้ถ่ายภาพบัตรประชาชนทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รวมถึงใบหน้าของผู้ใช้บริการ ก่อนจะให้ตั้งรหัสผ่านเพื่อใช้ในการล็อกและปลดล็อกเบอร์โทรศัพท์ของตัวเอง เมื่อลงทะเบียนสำเร็จแล้ว ผู้ใช้งานสามารถตรวจสอบได้จากทุกเครือข่ายผู้ให้บริการว่า มีการนำข้อมูลส่วนตัวไปเปิดเบอร์โทรศัพท์อื่นนอกเหนือจากเบอร์ที่ใช้อยู่หรือไม่

เช็กง่ายๆ!! เราถูกใช้ชื่อไปเปิดเบอร์อื่นหรือไม่? ผ่าน ‘แอป 3 ชั้น’ จาก กสทช.

กลโกงยอดฮิตของ “แก๊งคอลเซนเตอร์”

แม้ว่าแอปพลิเคชัน 3 ชั้น จะเป็นหนึ่งในตัวเลือกที่สามารถป้องกันไม่ให้ข้อมูลส่วนตัวของเราถูกนำไปใช้เปิดเบอร์มือถือใหม่ได้ แต่เนื่องจากปัจจุบันยังคงมีแก๊งคอลเซนเตอร์อยู่ และมีการปรับปรุงกลยุทธ์เพื่อใช้หลอกลวงเหยื่อมากขึ้นตามกระแสสังคม ดังนั้นผู้ใช้โทรศัพท์เองก็จำเป็นต้องระมัดระวังเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อ ซึ่งกลโกงที่เหล่าแก๊งคอลเซนเตอร์นิยมใช้ในปัจจุบันมีดังนี้

1. อ้างว่าบัญชีเงินฝากถูกอายัด หรือเป็นหนี้บัตรเครดิต

ถือเป็นข้ออ้างที่มิจฉาชีพนิยมใช้มากที่สุด เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทำให้เหยื่อตกใจได้ง่าย ทำให้ชักจูงหรือล่อลวงเหยื่อให้โอนเงินได้เร็ว โดยสิ่งที่ทำให้เหยื่อหลงเชื่อได้มากที่สุดคือ มิจฉาชีพมักจะอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคาร และบอกรายละเอียดข้อมูลส่วนตัวได้ครบถ้วน เช่น ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรศัพท์ หรือ เลขบัญชีธนาคาร เป็นต้น ดังนั้นหากไม่มั่นใจว่าตัวเองโดนหลอกหรือไม่ให้รีบปฏิเสธ ติดต่อธนาคารเพื่อตรวจสอบซ้ำ และแจ้งตำรวจทันที

2. บัญชีเงินฝากพัวพันกับการค้ายาเสพติดหรือการฟอกเงิน

ในกรณีนี้มิจฉาชีพจะแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหรือตำรวจ เพื่อหลอกถามข้อมูลด้านการเงินจากเหยื่อ และเมื่อรู้ว่าเหยื่อมีเงินในบัญชีก็จะหลอกว่าบัญชีดังกล่าวพัวพันกับเรื่องผิดกฎหมาย โดยข้ออ้างที่พวกเขาเลือกใช้มากที่สุดก็คือ อ้างเกี่ยวกับการฟอกเงิน และให้โอนเงินทั้งหมดในบัญชีมาเพื่อการตรวจสอบ

3. เงินคือภาษี

ข้ออ้างนี้มักใช้ในช่วงที่มีการยื่นภาษีและมีการขอคืนเงินภาษี โดยการแอบอ้างเป็นเจ้าหน้าที่สรรพากร แจ้งว่าเหยื่อได้รับภาษีคืนเป็นเงินจำนวนหนึ่ง แต่ต้องไปทำการยืนยันที่ตู้ ATM ซึ่งขั้นตอนที่หลอกให้เหยื่อทำตามคือ การโอนเงินให้มิจฉาชีพผ่านทางตู้ ATM นั่นเอง

4. ได้รับรางวัลใหญ่

โดยการอ้างว่าเป็นเจ้าหน้าที่บริษัทหรือองค์กรชื่อดัง ติดต่อมาเพื่อแจ้งข่าวดีว่าเหยื่อได้เงินรางวัลหรือของรางวัลราคาสูง แต่จะต้องโอนเงินค่าภาษีไปให้ก่อน

​5. หลอกขอข้อมูลส่วนตัว

มิจฉาชีพจะอ้างตัวเป็นเจ้าหน้าที่สถาบันการเงิน พูดจาหลอกลวงด้วยวิธีการต่างๆ เช่น อัปเดตข้อมูลส่วนตัว หรือสมัครงานออนไลน์ เพื่อขอข้อมูลส่วนตัวสำคัญไปใช้ในทางทุจริต เช่น เลขที่บัตรประชาชน เลขบัญชีธนาคาร

6. โอนเงินผิด

กรณีนี้มิจฉาชีพจะหลอกว่าได้โอนเงินผิดเข้าไปที่บัญชีของเหยื่อ และขอให้เหยื่อโอนเงินคืน เมื่อเหยื่อตรวจสอบยอดเงินและพบว่ามีเงินโอนเข้ามาจริง จึงมักรีบโอนเงินนั้นไปให้มิจฉาชีพ แต่ความเป็นจริงแล้วยอดเงินเหล่านั้น เป็นเงินที่มิจฉาชีพหลอกมาจากเหยื่อรายอื่นให้โอนมาให้เราอีกที เพื่อใช้บัญชีเราเป็นที่พักเงิน หรือเป็นเงินที่ได้มาอย่างผิดกฎหมาย

ในปัจจุบันแม้ว่าจะมีเทคโนโลยีเข้ามาเพื่อช่วยป้องกันผู้บริโภคจากมิจฉาชีพมากขึ้น แต่ตัวผู้บริโภคเองก็จำเป็นต้องระวังตัวอยู่ตลอดเวลา และไม่หลงเชื่อคนแปลกหน้าง่ายเกินไป ไม่ว่าข้อมูลจากปากพวกเขาเหล่านั้นจะมีความน่าเชื่อถือมากแค่ไหนก็ตาม (ต้องเช็กกับธนาคาร/ตำรวจโดยตรงอีกครั้งเสมอ) เพราะหากตกเป็นเหยื่อของมิจฉาชีพไปแล้ว ก็เป็นเรื่องยากที่จะได้เงินคืน และที่แย่ไปกว่านั้นคือ การถูกนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ในเรื่องผิดกฎหมายซ้ำอีกเรื่อยๆ

 

อ้างอิงข้อมูล : กสทช. และ ธนาคารแห่งประเทศไทย