ChatGPT ใช้ประโยชน์กับธุรกิจ 'ค้าปลีก-อีคอมเมิร์ซ' ได้อย่างไรบ้าง?

ChatGPT ใช้ประโยชน์กับธุรกิจ 'ค้าปลีก-อีคอมเมิร์ซ' ได้อย่างไรบ้าง?

ปัจจุบันเทคโนโลยีเอไอได้ถูกพัฒนาให้มีความสามารถมากขึ้นอย่างก้าวกระโดดจนมีความสามารถใกล้เคียงหรือเหนือกว่ามนุษย์ในบางเรื่องไปแล้ว ซึ่งส่งผลดีต่อหลากหลายธุรกิจในการนำไปใช้งานที่แตกต่างกันออกไป

เมื่อไม่นานมานี้เทคโนโลยีอย่าง Generative AI ก็เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย หลังจากผู้พัฒนาหลายบริษัทพร้อมกันทยอยเปิดตัวบริการ Generative AI จำนวนมาก ให้ทุกคนสามารถนำไปใช้ช่วยสร้างสรรค์งานในด้านต่างๆ หลากหลายวงการ เช่น งานเขียนโปรแกรม งานเขียน งานสร้างสรรค์ภาพศิลปะและบทเพลง ตามคำสั่งที่เราป้อนลงไปได้ตามต้องการ

Generative AI ที่ทุกคนน่าจะรู้จักผ่านหูมากที่สุดคงไม่พ้น ChatGPT ที่มีความสามารถหลากหลาย จนถูกนำมาใช้ในการเขียนโค้ด คิดคอนเทนต์ แปลภาษา รวมถึงใช้เป็นเพื่อนในการพูดคุยโต้ตอบ ซึ่งนับเป็นเครื่องมือที่เป็นผู้ช่วยชั้นดีของมนุษย์ในยุคนี้ 

ในบทความนี้ผมอยากแนะนำให้ผู้อ่านได้มองเห็นวิธีที่จะนำ ChatGPT มาประยุกต์ใช้ในธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซให้เกิดประโยชน์ ที่จะไม่จำกัดอยู่เฉพาะแค่การช่วยสร้างสรรค์งานเขียนอย่างที่หลายคนอาจเข้าใจ

ตัวอย่างความสามารถของ ChatGPT ในธุรกิจค้าปลีกและอีคอมเมิร์ซที่โดดเด่น และเหมาะแก่การนำไปใช้งานของธุรกิจ ได้แก่ ผู้ช่วยในการชอปปิงเสมือน (Virtual Shopping Assistant) ทำหน้าที่ช่วยให้ลูกค้าค้นหาสินค้า ให้คำแนะนำ และตอบคำถามเกี่ยวกับสินค้า ราคา และโปรโมชั่น 

นอกจากนี้ยังสามารถช่วยลูกค้าไปถึงขั้นตอนการสั่งซื้อและชำระเงิน ซึ่งสามารถทำการ Personalize คำแนะนำให้เหมาะสมกับลูกค้าที่มีความต้องการที่แตกต่างกันเฉพาะบุคคลได้เป็นอย่างดี 

ถัดมาคือ แชทบอทให้บริการลูกค้า (Customer Support Chatbot) ที่ให้บริการบนเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน เสมือนเป็นแอดมินที่ให้บริการตลอด 24 ชั่วโมงผ่านระบบอัตโนมัติ ตัวช่วยประหยัดเวลาและแรงงานในการให้บริการลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นการช่วยตรวจสอบสถานะการขนส่งสินค้า แนะนำเรื่องการเปลี่ยนหรือคืนสินค้า และตอบคำถามที่พบบ่อยได้อย่างแม่นยำในเวลาที่รวดเร็ว 

ซึ่งสามารถต่อยอดการให้บริการด้าน การช่วยเหลือด้านภาษาที่หลากหลาย (Multilingual Support) ที่ถือเป็นความสามารถที่โดดเด่นของ ChatGPT ที่ช่วยให้การสื่อสารของแบรนด์กับลูกค้าที่สื่อสารด้วยภาษาที่ต่างกันออกไปเป็นเรื่องง่ายดายขึ้น

โดยปัจจุบันโมเดลสามารถเข้าใจและโต้ตอบสื่อสารได้กว่า 20 ภาษา การวิเคราะห์ความรู้สึกลูกค้า (Sentiment Analysis) ใช้ในการประเมินความรู้สึกหรือความพึงพอใจของลูกค้าผ่านข้อความรีวิวสินค้า ความคิดเห็น คำวิจารณ์ หรือข้อความที่โพสต์ลงสื่อออนไลน์เกี่ยวกับสินค้า ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการปรับปรุงหรือพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามความเปลี่ยนแปลงของกระแสความสนใจของลูกค้าในแต่ละช่วงเวลา 

นำไปสู่ ความสามารถในการทำการตลาดเฉพาะบุคคล (Personalized Marketing) จากการวิเคราะห์ความต้องการหรือสิ่งที่ชอบของลูกค้า ทำให้สามารถหยิบยื่นข้อเสนอ และโปรโมชั่นที่ดึงดูดลูกค้าแต่ละบุคคลได้ตรงต่อความต้องการมากที่สุดประหนึ่งคนรู้ใจ เป็นการสร้างประสบการณ์ที่ดีที่จะนำไปสู่ความสัมพันธ์ที่ดีและความภักดีของลูกค้าที่มีต่อสินค้าและแบรนด์ได้เป็นอย่างดี 

นอกจากนี้ด้วยความสามารถที่ ChatGPT มีความถนัดอย่างงานเขียน จึงสามารถ ช่วยเขียนอธิบายข้อมูลสินค้า (Product Description) ให้ออกมาในรูปแบบประโยคที่ดึงดูดน่าสนใจ จากการป้อนคุณสมบัติของสินค้า จุดเด่น และข้อมูลอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้กับโมเดล 

รวมไปถึง การสร้างเนื้อหาโฆษณาและประชาสัมพันธ์ (Advertising & PR Content Generation) ช่วยคิดเนื้อหาและข้อความโฆษณา คิดแคมเปญประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย และยังสามารถช่วยวิเคราะห์แนวโน้มและความชอบของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างเหมาะสมตามวัตถุประสงค์ที่เราสามารถกำหนดให้โมเดลช่วยสื่อสารออกมาเป็นข้อความตามที่ต้องการได้

เหล่านี้คือตัวอย่างบางส่วนของการนำ ChatGPT มาใช้กับธุรกิจค้าปลีกและ E-Commerce เพื่อต่อยอดธุรกิจในด้านต่างๆ อย่างไรก็ตามถึงแม้ว่าเทคโนโลยีจะสามารถนำมาสร้างประโยชน์ให้แก่ธุรกิจได้มากแค่ไหนก็ตาม 

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะต้องพิจารณาเป็นอันดับแรกก่อนตัดสินใจนำเทคโนโลยีมาใช้ คือการทำความเข้าใจถึงปัญหาของธุรกิจ และความเข้าใจในความสามารถของเทคโนโลยีนั้นๆ 

เพื่อให้สามารถแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุดและมีประสิทธิภาพ จึงจะถือเป็นการปลดล็อกโอกาสทางธุรกิจให้เกิดการพัฒนาและเติบโตอย่างยั่งยืนท่ามกลางสภาวะของการเปลี่ยนแปลงและการเกิดใหม่ของคู่แข่งทางธุรกิจมากมายในปัจจุบัน