‘ดีป้า’ ผุดศูนย์ฯ ‘โค้ดดิ้ง-ไอโอที’ รับอุตฯ อนาคต

‘ดีป้า’  ผุดศูนย์ฯ ‘โค้ดดิ้ง-ไอโอที’ รับอุตฯ อนาคต

ดีป้าเดินหน้าส่งเสริมการพัฒนากำลังดิจิทัลของประเทศต่อเนื่อง เคาะ 7 โครงการพัฒนาศักยภาพด้านดิจิทัล และ 1 โครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้ง-ไอโอทีเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต คาดยกระดับกำลังคนไอทีมากกว่า 3,000 คน

นายณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า เปิดเผยว่า หนึ่งในภารกิจสำคัญของ ดีป้า คือการมุ่งยกระดับความรู้ความเข้าใจด้านดิจิทัลแก่ประชาชนทุกกลุ่ม เพื่อให้เกิดทักษะและองค์ความรู้ด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รู้เท่าทัน สามารถประยุกต์ใช้ได้อย่างปลอดภัยและสร้างสรรค์ ควบคู่ไปกับการยกระดับความเชี่ยวชาญแก่บุคลากรและกำลังคนดิจิทัลผ่านกลไก Upskill, Reskill และ New Skill โดยความร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตรทั้งภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา

ล่าสุด ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุน ครั้งที่ 3/2566 มีมติเห็นชอบโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนาศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล จำนวน 7 โครงการ โดยให้ความสำคัญกับการเสริมสร้างองค์ความรู้และพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลในมิติต่าง ๆ แก่บุคลากร ผู้ที่ทำงานในสถานประกอบการที่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีดิจิทัล และประชาชนทั่วไปในกลุ่ม Mid-career หรือผู้ที่ทำงานมาได้สักระยะหนึ่งแล้ว

‘ดีป้า’  ผุดศูนย์ฯ ‘โค้ดดิ้ง-ไอโอที’ รับอุตฯ อนาคต

สำหรับโครงการที่ขอรับการส่งเสริมและสนับสนุนผ่านมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการพัฒนา ศักยภาพกำลังคนและบุคลากรด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลทั้ง 7 โครงการตั้งเป้ายกระดับกำลังคนดิจิทัลรวมทั้งสิ้น 2,300 ราย

นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาการส่งเสริมและสนับสนุนยังมีมติเห็นชอบโครงการจัดตั้งศูนย์พัฒนาทักษะด้าน โค้ดดิ้ง และไอโอทีเพื่อเข้าสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคต ภายใต้มาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทั้งภาครัฐและเอกชน โดยความร่วมมือกับ วิทยาลัยเทคนิคพระนครศรีอยุธยา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะเสริมศักยภาพแก่นักเรียน นักศึกษาในระดับอาชีวศึกษาให้มีความพร้อมสามารถทำงานในอุตสาหกรรมแห่งอนาคต

‘ดีป้า’  ผุดศูนย์ฯ ‘โค้ดดิ้ง-ไอโอที’ รับอุตฯ อนาคต

โครงการดังกล่าวตั้งเป้ามีนักเรียนอาชีวศึกษาเข้าใช้บริการภายในศูนย์ฯ มากกว่า 1,000 คน นักเรียนอาชีวศึกษาได้รับการพัฒนาทักษะและสามารถสอบผ่านการประเมินผลทักษะและได้รับใบประกาศนียบัตรด้านโค้ดดิ้ง และ ไอโอที มากกว่า 360 คน บุคลากรทางการศึกษาได้รับการยกระดับและสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ถ่ายทอดองค์ความรู้และทักษะที่เกี่ยวข้องกับโค้ดดิ้งและไอโอทีรวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มีการใช้ในอุตสาหกรรมสมัยใหม่มากกว่า 30 คน

ขณะเดียวกันจะมีนักเรียนและบุคลากรทางการศึกษาในโรงเรียนระแวกใกล้เคียงได้รับการพัฒนาทักษะด้านโค้ดดิ้งและไอโอทีรวมถึงเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่มีการใช้ในอุตสาหกรรมสมัยใหม่มากกว่า 120 คน