‘แฮกเกอร์’ระบาด ข้อมูลรั่ว..ใครรับผิดชอบ

‘แฮกเกอร์’ระบาด ข้อมูลรั่ว..ใครรับผิดชอบ

องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่กุม “ความลับ” ของคน ลูกค้า ผู้ใช้บริการเอาไว้ ต้องไม่นิ่งนอนใจ หาทางรับมือป้องกันการรั่วไหล หรือการถูกโจมตีจากบรรดาแฮกเกอร์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จะต้องทุ่มงบประมาณมากสักเท่าไหร่ในการรับมือ “ก็ต้องทำ

ประเทศไทยมีแนวโน้มการโจมตีทางไซเบอร์ที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทั้งเชิงปริมาณและความรุนแรง

เหตุการณ์ภัยคุกคามด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทวีความรุนแรงมากขึ้น รูปแบบการโจมตีมีแนวโน้มพัฒนาตามเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป

ภัยคุกคามเหล่านี้ ส่งผลต่อความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยของสังคมเศรษฐกิจของประเทศ

ยิ่งเราต้องพึ่งพาเครื่องมือดิจิทัลในชีวิตประจำวันมากขึ้นเท่าไหร่ ยิ่งมีความเสี่ยงจากการถูกโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มมากขึ้นไปด้วย ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อ สูญเสียข้อมูลที่มีความสำคัญ สูญเสียทรัพย์สินเงินทอง สูญเสียชื่อเสียง

ในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา ประเด็นหนึ่งที่ยังวนเวียนอยู่ในสังคมไทย และเป็นประเด็นที่ทุกคนต้องตระหนักให้มาก คือ การรั่วไหลของข้อมูลส่วนบุคคล จะทั้งข้อมูลอ่อนไหว หรือ ไม่อ่อนไหว ก็ไม่ควรหลุดออกมา สร้างความเสียหาย หวาดกลัวให้กับเจ้าของข้อมูล

องค์กรหรือหน่วยงานต่างๆ รวมไปถึงองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่กุม “ความลับ” ของคน ลูกค้า ผู้ใช้บริการเอาไว้ ต้องไม่นิ่งนอนใจ หาทางรับมือป้องกันการรั่วไหล หรือการถูกโจมตีจากบรรดาแฮกเกอร์ทั้งในประเทศ และต่างประเทศ จะต้องทุ่มงบประมาณมากสักเท่าไหร่ในการรับมือ “ก็ต้องทำ”

ความเสี่ยงในการถูกโจรกรรมข้อมูล โดยเฉพาะจากธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ที่ประเทศไทยติดอันดับโลกในการใช้งาน ส่วนใหญ่มีสาเหตุจากการขาดความรอบรู้ในการใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น ทักษะความรู้ด้านดิจิทัล ทักษะการเข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัลผ่านอุปกรณ์  ความรู้ความเข้าใจการทำงานของเทคโนโลยีดิจิทัล และการตระหนักรับรู้ถึงความเสี่ยงด้านข้อมูลความเป็นส่วนตัว รวมไปถึงเงื่อนไขทางกฎหมายที่เกี่ยวกับข้อมูลดิจิทัล

แน่นอนว่า ตาสีตาสา คงไม่รู้ในเรื่องเหล่านี้ ซึ่งเขาไม่ผิด หากคนที่กุมข้อมูลส่วนบุคคลของคนเหล่านี้ไว้ต่างหาก ทั้งหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ผู้ให้บริการต่างๆ ต้อง “รับผิดชอบ” 

ส่วนคนที่ต้องใช้เครื่องมือสื่อสารใช้ชีวิต 24 ชั่วโมงอยู่ในโลกออนไลน์ การตระหนักถึงความเสี่ยงต้องเริ่มจากตัวเราด้วยเช่นกัน มีคำเตือนมากมายที่ช่วยให้ได้ตระหนักรู้ อย่าเพิกเฉย หรือคิดว่าอย่างไรเสียก็มาไม่ถึงตัว

จำไว้ว่า “รอยเท้าดิจิทัล” ที่เราทิ้งเอาไว้ในโลกออนไลน์ คือความเสี่ยงอันดับหนึ่ง ต่อการถูกสะกดรอยเพื่อโจรกรรมข้อมูล ทรัพย์สิน สร้างความเสียหายอย่างที่เราคาดไม่ถึง 

ยิ่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การสื่อสารไร้สายความเร็วสูง 5จี บล็อกเชน อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ คลาวด์ คอมพิวติงเมตาเวิร์ส ฯลฯ กำลังพลิกให้โลกใบนี้กลายเป็นโลกใหม่

การดำเนินชีวิตเปลี่ยนไป ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับเทคโนโลยีก็แนบแน่นเป็นเนื้อเดียว ความสวยงามของเทคโนโลยีเหล่านี้หนุนมูลค่าทางเศรษฐกิจดิจิทัลประเทศให้เติบโตก้าวกระโดด แต่ยังมีความ “เลวร้ายสุดๆ ” อีกด้านที่พร้อมคุกคามเศรษฐกิจ ความมั่นคง สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลในทุกมิติให้ประเทศชาติด้วยเช่นกัน

ดังนั้นหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องเหล่านี้ ไม่ว่าจะฝ่ายไหนรัฐ เอกชน ต้องสร้างเกราะป้องกันความเสี่ยงนี้ให้ได้