‘เซอร์ทิส’ เปิดกลยุทธ์ปี 66 ปรับจุดยืนสู่ ‘AI Engine’

‘เซอร์ทิส’ เปิดกลยุทธ์ปี 66 ปรับจุดยืนสู่ ‘AI Engine’

“เซอร์ทิส” เปิดกลยุทธ์ปี2566เดินหน้าสู่การเติบโตใหม่ๆ ในฐานะ“AI Engine”เน้นขับเคลื่อน6กลุ่มธุรกิจมันสมองสำคัญในการช่วยผลักดันและต่อยอดโอกาสทางธุรกิจ

ธัชกรณ์ วชิรมน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เซอร์ทิส จำกัด บริษัทให้คำปรึกษาและพัฒนาด้านข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรมดิจิทัลโซลูชันสัญชาติไทย เผยว่า กลยุทธ์ในปี 2566 นี้ เซอร์ทิส ได้ปรับจุดยืนของบริษัทให้เปรียบเสมือนเป็น “AI Engine” หรือ มันสมองสำคัญในการเป็นตัวช่วยขับเคลื่อนให้ธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ สามารถบริหารจัดการองค์กรให้เดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และยั่งยืน

ด้วยการใช้นวัตกรรมจาก ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ พร้อมปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ของบริษัทในการมุ่งเน้นการบริการไปที่ 6 กลุ่มธุรกิจหลัก ประกอบด้วย AI Retail -เอไอเพื่อกลุ่มธุรกิจค้าปลีก, AI Manufacturing -เอไอเพื่อกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต, AI Banking & Finance -เอไอเพื่อกลุ่มธนาคารและการเงิน

‘เซอร์ทิส’ เปิดกลยุทธ์ปี 66 ปรับจุดยืนสู่ ‘AI Engine’

รวมไปถึง AI Energy -เอไอเพื่อกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน, AI Security -เอไอเพื่อกลุ่มธุรกิจด้านความปลอดภัย, และAI Asset Management -เอไอเพื่อกลุ่มธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์

เซอร์ทิสมั่นใจว่า มีความเชี่ยวชาญในการพัฒนาระบบปัญญาประดิษฐ์ การจัดการข้อมูล สามารถให้บริการลูกค้ากลุ่มธุรกิจได้ในหลากหลายอุตสาหกรรม

 เชื่อโอกาสเติบโตมหาศาล

ธัชกรณ์มีมุมมองว่า ธุรกิจมีโอกาสในการเติบโตอย่างมากในปีนี้และต่อไปในอนาคตประเมินจากความสำเร็จของบริษัทในปีที่ผ่านมา และความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำในกลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ ที่สำคัญในประเทศไทย ส่งผลให้มีจำนวนงานโปรเจกต์และการให้บริการที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ขณะเดียวกัน ยังสะท้อนให้เห็นว่า ข้อมูลและเทคโนโลยีเอไอ เป็นสิ่งที่ธุรกิจทุกภาคส่วนได้มองเห็นบทบาทและความสำคัญในการนำไปใช้ดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน

จากกลยุทธ์ในปีนี้ที่มุ่งเน้นการเป็นกลไกที่สำคัญในการขับเคลื่อนกลุ่มธุรกิจทั้ง 6 ประเภท ประกอบกับความเชี่ยวชาญของบุคคลากรด้านไอทีจากหลากหลายสัญชาติและความเชี่ยวชาญทางด้านธุรกิจในแต่ละอุตสาหกรรม

เซอร์ทิสมีความเชื่อมั่นว่า จะสามารถดำเนินการตามแผนธุรกิจและต่อยอดการบริการให้ครอบคลุมถึงความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นของลูกค้าได้อย่างต่อเนื่องแบบก้าวกระโดด และหวังว่าจะสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันและยกระดับธุรกิจในทุกอุตสาหกรรมให้ก้าวสู่ยุคดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันอย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมสร้างการเติบโตให้กับทุกธุรกิจอย่างยั่งยืน

“การบริการด้านที่ปรึกษาและการจัดการข้อมูล รวมถึงการสร้างระบบหรือเทคโนโลยีเอไอที่เหมาะสมกับแต่ละองค์กรจะยังคงเป็นสิ่งที่มีความต้องการสูงและสามารถขยายการบริการได้อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศไทยรวมถึงภูมิภาค”

 ‘เอไอ’ ตัวจักรขับเคลื่อนธุรกิจ

สำหรับในรายละเอียด AI Retail ใช้สำหรับคาดการณ์ความต้องการของลูกค้า (Demand Forecasting) การบริหารจัดการคลังสินค้า (AI Ordering) การเลือกสินค้าเพื่อวางขาย (AI Assortment) การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพาณิชย์ (Data Commercialization) และบริการแบบ Customization อื่นๆ

AI Manufacturing ครอบคลุมถึงผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป (FMCG) รวมถึงกลุ่มอุตสาหกรรมหนักขนาดใหญ่ การควบคุมกระบวนการผลิต การปรับปรุงและพัฒนาผลิตภัณฑ์ และการบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ฯลฯ

AI Banking & Finance กลุ่มธุรกิจที่มีการใช้ข้อมูลมากมายมหาศาล สามารถนำเอไอไปใช้ได้หลากหลาย รวมถึง

วิเคราะห์อารมณ์และความรู้สึกของลูกค้า (Sentiment Analysis) และบริการอื่นๆ ที่เป็นแกนหลักของกลุ่มธนาคารและการเงิน

AI Energy มีความต้องการในระดับประเทศหลากหลายรูปแบบ เพื่อช่วยประหยัดพลังงาน เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนจากสิ่งแวดล้อมและพลังงานทางเลือก รับกับกระแสการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์

AI Security ช่วยเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ และในอนาคตอันใกล้ มุ่งต่อยอดไปสู่บริการด้านระบบความปลอดภัยบนโลกไซเบอร์

AI Asset Management ใช้เครื่องมือเอไอในการบริหารสินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวขับเคลื่อนสำคัญที่ช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้จัดการกองทุน ฯลฯ