จับตา ‘6GHz’ ย่านความถี่มาแรง พลิกโฉมวงการ ‘โทรคมนาคม’

จับตา ‘6GHz’ ย่านความถี่มาแรง พลิกโฉมวงการ ‘โทรคมนาคม’

ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การเติบโตอย่างก้าวกระโดดของการใช้งาน “เครือข่าย 5G” และปริมาณการรับส่งข้อมูลที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ความต้องการย่านความถี่กลาง สูงขึ้นเพื่อสอดรับกับความต้องการใช้งานในอนาคต

Keypoints

  • ย่านความถี่สำคัญที่จะช่วยรองรับความต้องการใช้งานเครือข่ายในปัจจุบันและอนาคต
  • ปี 2565 ทั่วโลกมีการวางโครงข่าย 5จีที่ให้บริการในเชิงพาณิชย์ไปแล้วมากกว่า 230 โครงข่าย รองรับผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านราย

รายงานของ “จีเอสเอ็มเอ” ในหัวข้อ ความต้องการใช้งานย่านความถี่กลางสำหรับเครือข่าย 5G ในปี พ.ศ. 2573’ (5G-Mid-Band-Spectrum-Needs-Vision-2030) ระบุว่า ความถี่ 2GHz ในย่านความถี่กลาง ถือเป็นย่านความถี่ที่ได้รับการแนะนำให้ทุกประเทศใช้งานในช่วงปี 2568 - 2573

ขณะที่ย่านความถี่สูงกว่า 6GHz ถือเป็นย่านความถี่สำคัญที่จะช่วยรองรับความต้องการใช้งานเครือข่ายในปัจจุบันและอนาคต 

โดยในเดือนพ.ย. 2565 สหภาพยุโรปได้แนะนำให้ประเทศสมาชิกผลักดันการพัฒนาเครือข่ายการสื่อสารไร้สายในอนาคต บนย่านความถี่สูงกว่า 6GHz

กระทบเชิงบวกทุกภูมิภาคทั่วโลก

กระแสดังกล่าวส่งผลให้ความนิยมย่านความถี่ที่สูงกว่า 6GHz เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งครอบคลุมทั้งภาคอุตสาหกรรมโทรศัพท์เคลื่อนที่และหน่วยงานกำกับดูแลต่างๆ

ความนิยมการใช้ความถี่ในย่านสูงกว่า 6 GHz ที่เพิ่มขึ้นในแผนความถี่การสื่อสารวิทยุและโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล (International Mobile Telecommunications - IMT) ทำให้นานาประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแนวโน้มที่จะเพิ่มย่านความถี่ที่สูงกว่า 6GHz เข้ามาในแผนดังกล่าวในอนาคต เพื่อรองรับความต้องการใช้งานที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว

ในการประชุมใหญ่ระดับโลกว่าด้วยวิทยุโทรคมนาคม (WRC-23) ระหว่างวันที่ 20-25 ก.พ. 2566 ที่ผ่านมา ที่เมืองปูซาน เหล่าผู้นำในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกได้เข้าร่วมประชุมเพื่อหารือนโยบายคลื่นความถี่ระดับภูมิภาค และร่วมประกาศจุดยืนด้านนโยบายความถี่ 6GHz

หลายประเทศพร้อมสนับสนุนการใช้ย่านความถี่ 6GHz ของแผนความถี่สื่อสารวิทยุและโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากล ซึ่งถือเป็นการลงมติที่ส่งผลกระทบเชิงบวกอย่างกว้างขวาง ต่อการพัฒนาเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนในทุกภูมิภาคทั่วโลก

จุฬาฯ ประกาศคิกออฟในไทย

สำหรับประเทศไทยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ประกาศทดสอบย่านความถี่ 6 GHz เพื่อขับเคลื่อนเทคโนโลยี 5G ณ งานโมบายล์ เวิลด์ คองเกรส 2023 ที่ผ่านมา

ลัญฉกร วุฒิสิทธิกุลกิจ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เผยว่า จะมีการทดสอบย่านความถี่ 6 GHz แบบใช้งานในสถานที่จริง เพื่อใช้วิจัยเครือข่าย 5G ขั้นสูงในพื้นที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จังหวัดกรุงเทพมหานคร ประเทศไทย

ที่ผ่านมาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ร่วมกันค้นคว้าวิจัยการใช้ย่านความถี่ 6 GHz สำหรับการสื่อสารแบบไร้สายแห่งโลกอนาคต เช่น เทคโนโลยี 5g และ 6G โดยในเดือนธ.ค.2565 ได้รับอนุญาตให้ทดสอบย่านความถี่สูงกว่า 6 GHz (6425 - 7125MHz) ในสถานที่จริง จากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

ทั้งนี้การทดสอบได้เริ่มต้นในเดือนก.พ.2566 และผลการทดสอบดังกล่าวจะได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะ เพื่อใช้เป็นข้อมูลอ้างอิงที่น่าเชื่อถือสำหรับประเทศไทยและนานาประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ซึ่งจะเอื้อประโยชน์ต่อการตัดสินใจในเชิงนโยบายแก่การใช้งานย่านความถี่ 6 GHz ในอนาคต

5 จี เข้าถึงผู้บริโภคนับพันล้านราย

สำหรับความก้าวหน้าการพัฒนา 5G ในปัจจุบัน ข้อมูลจากหัวเว่ยระบุว่า เมื่อปลายปี 2565 ทั่วโลกมีการวางโครงข่าย 5G ที่ให้บริการในเชิงพาณิชย์ไปแล้วมากกว่า 230 โครงข่าย รองรับผู้ใช้งานมากกว่า 1 พันล้านราย และอุปกรณ์ 5G อีกจำนวนมาก 

นอกจากนี้ เครือข่าย 5G มีส่วนช่วยผลักดันการพัฒนาอย่างรวดเร็วของอุตสาหกรรมไอซีที  ผู้ให้บริการเครือข่ายชั้นนำทั้งในยุโรป เอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลาง ได้คิดค้นบริการดิจิทัลใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง 

ผู้ให้บริการบางรายยังได้ผสานการเชื่อมต่อเข้ากับบริการประเภท Over-the-top(OTT) ในประเทศ เพื่อสร้างความสำเร็จร่วมกันซึ่งบริการเหล่านี้ล้วนเป็นการบูรณาการการเชื่อมต่อและบริการด้านดิจิทัลและช่วยยกระดับธุรกิจให้เติบโตสู่ผู้ให้บริการดิจิทัลแบบครบจบในที่เดียว ที่น่าสนใจตลาดครัวเรือนกลายเป็นพื้นที่ที่ผู้ให้บริการสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้น