แลนด์สเคปใหม่ ‘ไทยคม’ ปักหมุด ‘Regional Space Tech’

แลนด์สเคปใหม่ ‘ไทยคม’ ปักหมุด ‘Regional Space Tech’

“นิว สเปซ เทค อีโคโนมี หรือ ธุรกิจอวกาศจะเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต การหาประโยชน์จากทรัพยากรอวกาศถือเป็น 1 ในเมกะเทรนด์ของโลก เปิดแผนใหญ่ "ไทยคม" ลุยปักธง Regional Space Tech

Key Points : 

  • ลุยขยายสโคปธุรกิจตัวเอง จากผู้ดำเนินธุรกิจดาวเทียมไปสู่การเป็น สเปซ เทค คอมานี ภายใน 5 ปีต่อจากนี้
  • 7 เม.ย. ขอกรอบวงเงินลงทุนสร้างดาวเทียมสูงสุดไม่เกิน 15,000 ล้านบาท 
  • โฟกัส 2 ประเทศสร้างรายได้ คือไทย และอินเดีย 
  • ตั้งเป้าติดท็อป 10  ผู้ให้บริการดาวเทียมระดับโลก

หลังจากบริษัท สเปซ เทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัทลูกของ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) ชนะการประมูลวงโคจรดาวเทียมจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จำนวน 2 ชุด รวมมูลค่า 797 ล้านบาท ได้แก่ วงโคจร 78.5E และวงโคจร 119.5E ซึ่งถือเป็นจิ๊กซอว์ตัวสำคัญที่จะทำให้แผนการให้บริการของไทยคมชัดเจนมากขึ้น

ปฐมภพ สุวรรณศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไทยคม กล่าวว่า ในวันที่ 7 เม.ย. นี้จะมีการขอกรอบวงเงินการลงทุนสูงสุดไม่เกิน 15,000 ล้านบาท โดยคร่าวๆจะประกอบด้วย ค่าธรรมเนียมชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5E และ 120 E และค่าธรรมเนียมชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 78.5 E จำนวนเงินประมาณ 797 ล้านบาท และการก่อสร้างดาวเทียมของชุดข่ายงานดาวเทียมวงโคจร 119.5 E จำนวน 3 ดวง และอื่นๆที่เกี่ยวข้องในวงเงินประมาณ 433.5 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 14,405 ล้านบาท

วงโคจรที่มีเป็นทำเลทอง

สิ่งนี้จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญมากในธุรกิจดาวเทียมของไทยคม ที่จะสามารถสร้างการเติบโตได้อย่างต่อเนื่องไปอีกอย่างน้อย 20 ปี โดยตำแหน่งวงโคจรดังกล่าว มีความสำคัญในเอเชียแปซิฟิค จะเป็นการสร้างความได้เปรียบการค้าขายและธุรกิจ เพราะคนที่ใช้ดาวเทียม ทุกคนทราบดีว่าตำแหน่งวงโคจร 119.5 E เป็นที่ดินทำเลทอง และไทยคมก็ใช้มาอย่างยาวนานมากในไทยคม 4 (ไอพีสตาร์)

“ในวงโคจร 119.5E นี้ ไทยคมต้องเร่งหาดาวเทียมมาทดแทนไทยคม 4 (ไอพี สตาร์) ซึ่งอยู่ในวงโคจรเดียวกันจะหมดอายุในปี 2567 ทำให้ไทยคมต้องเตรียมแผนเร่งด่วนในการรองรับลูกค้าบรอดแบนด์ของไทยคม 4 ให้ทันก่อนที่ดาวเทียมจะหมดอายุทางวิศวกรรม และไม่สร้างผลกระทบต่อลูกค้าที่ใช้งานอยู่”

ร่างสเปค3ดาวเทียม

ทั้งนี้ เฟสแรกในการสร้างดาวเทียมตามที่ระบุเป็น 3 ดวง แบ่งเป็นขนาดเล็ก (10 Gbps) จำนวน 2 ดวง คาดว่ามีมูลค่ารวม 65.6 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2,181 ล้านบาทต่อดวง ระยะเวลาก่อสร้าง 2 ปี และจะเริ่มให้บริการได้ในปี 2568 มีอายุการใช้งานประมาณ 8 ปี เฟสที่ 2 มีแผนก่อสร้างดาวเทียมขนาดใหญ่ (100 Gbps) คาดว่ามีมูลค่า 238.3 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 7,917 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 4 ปี คาดเริ่มให้บริการในไตรมาส 3 ปี 2570 อายุการใช้งานประมาณ 15-16 ปี

นายปฐมภพ กล่าวว่า แม้ว่าการสร้างดาวเทียมดวงใหญ่จะครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้มากขึ้นแต่ใช้เวลาสร้าง 4 ปี ดังนั้นในช่วงเวลา 2-3 ปี ช่วงที่ดาวเทียมไทยคม 4 หมดอายุและจะสร้างดาวเทียมดวงใหม่ บริษัทจะยิง 2 ดวงเล็ก ที่มีประมาณความจุ 10% ของดวงใหญ่ เพื่อให้ทันก่อนที่ดาวเทียมไทยคม 4 หมดอายุ

อินเดียแหล่งรายได้ใหม่

ทั้งนี้ บริษัทจะโฟกัส 2 ประเทศ คือไทย และอินเดีย ในการสร้างรายได้ และเนื่องจากเป็นดาวเทียมดวงเล็กจึงไม่สามารถครอบคลุมพื้นที่หลายประเทศ ซึ่ง 1 ดวงรองรับได้ 1 ประเทศเท่านั้น ส่วนในประเทศอื่นไทยคมจะเช่าดาวเทียมต่างชาติใช้ไปก่อน หลังจากที่ดาวเทียมดวงใหญ่ขึ้นจึงจะต่อยอดดีมานด์ไปที่ดาวเทียมดวงใหญ่ที่สร้างเสร็จ

“หลังจากที่เราเคยทำตลาดอยู่ใน 14 ประเทศในตำแหน่งวงโคจรดังกล่าว แต่ใน 3 ดวงใหม่นี้จะเน้นทำตลาดแค่ 5-8 ประเทศเท่านั้น อาทิ ไทย อินเดีย ญี่ปุ่น และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยขณะนี้ลูกค้าอินเดียซึ่งเป็นประเทศที่มีขนาดใหญ่และมีจำนวนประชากรมากถือเป็นลูกค้าที่สำคัญกับไทยคม ซึ่งเรามีรายได้จากอินเดียประเทศเดียวมากกว่า 30% ของรายได้ที่มาจากต่างประเทศ”

เร่งแผนขยายสโคปธุรกิจ

ปฐมภพ บอกว่า ไทยคมต้องการขยายสโคปธุรกิจของตัวเอง จากเป็นผู้ให้ดำเนินธุรกิจดาวเทียมไปสู่การเป็น สเปซ เทค คัมปานี ภายใน 5 ปีต่อจากนี้ โดยจะมุ่งธุรกิจใหม่มาเสริมกับธุรกิจดาวเทียมหลักที่ให้บริการ 3 ธุรกิจใหม่ ประกอบด้วย 1.บริการ Software defined satellite ดาวเทียมที่สามารถควบคุมการทำงานได้เรียลไทม์จากภาคพื้นดิน เปลี่ยนองศาความครอบคลุมพื้นที่ให้บริการ (footprint) เพื่อให้เกิดการใช้งานได้อย่างประสิทธิภาพ

2.รุกธุรกิจดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LEO หรือ Low Earth Orbit) เป็นดาวเทียมที่โคจรอยู่บนความสูงจากพื้นโลกระหว่าง 350 - 2,000 กิโลเมตร เมื่อต้นปีที่ผ่านมาไทยคม ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกับบริษัท โกลบอลสตาร์ (Globalstar, Inc.) จาก สหรัฐอเมริกา ร่วมกันพัฒนา และบริหารจัดการสถานีภาคพื้นดินไทยคมในพื้นที่ลาดหลุมแก้ว ซึ่งไทยคมจะไม่ลงทุนสร้างเองแต่จะทำเป็นลักษณะพาร์ทเนอร์ทั้งหมด

3.ธุรกิจนิว สเปซ อีโคโนมี เป็นธุรกิจที่มุ่งหาประโยชน์จากการใช้งานดาวเทียมในอวกาศ เช่น การประมวลผลภาพถ่ายจากดาวเทียม วิเคราะห์ข้อมูลดาต้า อนาไลติกส์จากโดยเทคโนโลยีอวกาศ

ขึ้นท็อป 10 บริษัทโลก

ภายใน 3-4 ปีต่อจากนี้ ไทยคมตั้งเป้าหมายขึ้นเป็นบริษัทผู้ให้บริการด้านดาวเทียมติดอันดับท็อป 10 ของโลก ขณะนี้อยู่ลำดับที่ 13 ของโลก หลังจากที่ตกอันดับช่วงที่ผ่านมาในช่วงที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องการประมูลและการสิ้นสุดสัมปทานในช่วงที่ผ่านมา แต่เมื่อไทยคมประมูลได้ก็มีความเชื่อว่า บริษัทจะสามารถกลับมาทำอันดับได้ตามที่ตั้งใจไว้

ส่วนตัวมองว่า นิว สเปซ เทค อีโคโนมี หรือ ธุรกิจอวกาศจะเป็นเศรษฐกิจใหม่ที่เกิดขึ้นในอนาคต การหาประโยชน์จากทรัพยากรอวกาศถือเป็น 1 ในเมกะเทรนด์ของโลก ดังนั้น ธุรกิจดาวเทียมจะยังไม่ใช่ธุรกิจขาลงอย่างแน่นอน ซึ่งใน 5ปี ไทยคมจะสร้างตำแหน่งของบริษัทให้เป็นบริษัทระดับอินเตอร์เนชั่นแนลในภูมิภาคให้แข็งแกร่งและมีรายได้จากธุรกิจต่างประเทศให้เป็น 75% จากปัจจุบันอยู่ที่ 50% กับรายได้จากประเทศไทย