พลิกโมเดลสู่ Preventive Healthcare | ต้องหทัย กุวานนท์

พลิกโมเดลสู่ Preventive Healthcare | ต้องหทัย กุวานนท์

ความน่าสะพรึงของวิกฤติเศรษฐกิจท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อรุนแรง คือภาวะค่าใช้จ่ายครัวเรือนที่พุ่งสูง รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อการใช้ชีวิตของผู้คน

ทุกประเทศในโลกกำลังเผชิญภาวะวิกฤติด้านค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพที่กำลังเพิ่มสูงขึ้นเกือบเท่าตัว ข้อมูลล่าสุดจาก Statista ระบุว่า สหรัฐอเมริกา เป็นประเทศที่สัดส่วนค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพต่อ GDP เพิ่มสูงขึ้นจากอดีตที่ 5% จนเกือบแตะ 20% ในปี 2565

ขณะที่อีกหลายประเทศในฝั่งยุโรปอย่าง อังกฤษ เยอรมนี ฝรั่งเศส ก็ประสบปัญหาใกล้เคียงกันด้วยสัดส่วนการใช้จ่ายกว่า 12% เมื่อเทียบกับ GDP 

สำหรับในเอเชียถึงแม้ค่าใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพจะยังอยู่ในระดับต่ำกว่า 5% แต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ล่าสุด สิงคโปร์ก็เพิ่งประกาศนโยบาย Healthier SG ที่รณรงค์ให้เปลี่ยนแนวทางการดูแลสุขภาพของประชาชน จากที่เคยมุ่งเป้าไปที่การรักษาไปสู่การดูแลสุขภาพแบบ “ป้องกัน”

เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทำให้เกิดการดูแลสุขภาพแบบป้องกัน จึงกลายเป็นเทรนด์ที่นักลงทุนให้ความสนใจ บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจ Redseer ประเมินว่าตลาดของ Preventive Healthcare จะเติบโตเฉลี่ยกว่า 20% โดยจะมีมูลค่าตลาดแตะ 2 แสนล้านดอลลาร์ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า 

การเติบโตในอนาคตของกลุ่มธุรกิจในเซกเมนต์นี้ จะถูกขับเคลื่อนโดยเทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดในด้านหลัก 5 ด้าน ดังนี้

1. การคัดกรองและตรวจวินิจฉัยโรคทางเลือก เช่น การใช้อุปกรณ์ Home Kit ตรวจโรคเองได้ที่บ้าน หรือการประเมินความเสี่ยงของโรคด้วยการตรวจ DNA

2. การดูแลผู้ป่วยระยะไกลผ่านการเฝ้าระวังด้วยดิจิทัลแพลตฟอร์มและเซนเซอร์

3. การใช้ AI เพื่อการพยากรณ์โรค ตรวจวินิจฉัย รักษาและการดูแลหลังการรักษา 

 4. การดูแลสุขภาพและการรักษาแบบจำเพาะบุคคล ที่เน้นเรื่องผลลัพธ์และประสิทธิภาพการรักษา

5. การใช้ปัจจัยทางสังคมและข้อมูล Big Data เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางสุขภาพ เช่น การประเมินผลข้อมูลความเสี่ยงทางสุขภาพของประชากรกลุ่มเปราะบาง

สตาร์ตอัปหลายรายในกลุ่ม Preventive Health ประสบความสำเร็จกับการระดมทุนในปี 2565 เช่น Cleerly สตาร์ตอัปจากสหรัฐที่เพิ่งระดมทุนไปกว่า 200 ล้านเหรียญ ใช้เทคโนโลยี AI พยากรณ์อาการของโรคหัวใจ

โดยสามารถลดความเสี่ยงการเกิดหัวใจวายและกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดได้ในกลุ่มผู้ป่วยโรคหัวใจ โดยมีโซลูชันการให้บริการทั้งในรูปแบบการให้บริการรายบุคคล การให้บริการกับบุคลากรทางการแพทย์ และ การให้บริการกับบริษัทประกันสุขภาพ 

อีกรายที่เพิ่งระดมทุนไปในระดับ 200 ล้านเหรียญเช่นกันคือ Delfi Diagnostics สตาร์ตอัปดีพเทคทางการแพทย์ที่พัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถคัดกรองมะเร็งปอดในระยะเริ่มต้น

โดยการตรวจเลือดและได้รับผลสำเร็จจากการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างเกือบหนึ่งพันคน และมีเป้าหมายสุดท้ายที่จะทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างอีกหนึ่งหมื่นคนก่อนนำเอาโซลูชั่นเข้าสู่ตลาดในเร็ววันนี้

เส้นทางเดินของสตาร์ตอัปที่จะพลิกเกมการแข่งขันในอุตสาหกรรมเฮลท์แคร์ จากที่เคยโฟกัสกับ “การรักษา” มาเป็นโมเดลการดูแลสุขภาพในรูปแบบใหม่ๆ

หัวใจหลักคือการทำความเข้าใจกับโจทย์ที่เป็น Patient Journey ตั้งแต่เรื่องของการพยากรณ์โรค ( Predict) - การป้องกันโรค (Prevent) - การวางแผนการดูแล (Plan) เพื่อจะทำให้เทคโนโลยีและโมเดลธุรกิจสามารถสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าได้อย่างตรงจุด
คอลัมน์ Business Transform: Corporate Future
ต้องหทัย กุวานนท์ 
หนึ่งในผู้ก่อตั้งบริษัทเอมสไปร์ Startup Mentor  
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ธุรกิจและการบริหารนวัตกรรม