22 ธันวาคม "วันเหมายัน" กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ปรากฏการณ์ส่งท้ายปี 2565

22 ธันวาคม "วันเหมายัน" กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ปรากฏการณ์ส่งท้ายปี 2565

22 ธันวาคมนี้ "วันเหมายัน" กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาที หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว”

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) เปิดเผยผ่านเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า ในวันที่ 22 ธ.ค.65 เป็น "วันเหมายัน" (เห-มา-ยัน) เวลากลางคืนยาวที่สุดในรอบปี (Winter Solstice) ดวงอาทิตย์จะขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ประเทศไทยจะเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว

ในแต่ละวันดวงอาทิตย์จะปรากฏอยู่ตำแหน่งที่แตกต่างกัน เปลี่ยนตำแหน่งไปประมาณวันละ 1 องศา ตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นมา ดวงอาทิตย์ค่อย ๆ เคลื่อนที่จากจุดตั้งฉากกับเส้นศูนย์สูตรของโลกลงมาทางใต้ สังเกตได้จากท้องฟ้าในช่วงนี้จะมืดเร็วขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งดวงอาทิตย์เคลื่อนมา ณ ตำแหน่งเฉียงไปทางทิศใต้มากที่สุดในวันเหมายันของแต่ละปี วันดังกล่าวจึงมีเวลากลางวันที่สั้นที่สุด และเวลากลางคืนยาวนานที่สุด

สำหรับ "วันเหมายัน" ในปี 2565 ดวงอาทิตย์จะขึ้นเวลาประมาณ 06:36 น. และจะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 17:55 น. รวมระยะเวลากลางวันเพียง 11 ชั่วโมง 19 นาที นอกจากนี้ วันเหมายันยังถือเป็นวันแรกของการเข้าสู่ฤดูหนาวสำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ แต่สำหรับประเทศทางซีกโลกใต้นั้นจะนับเป็นวันแรกที่เข้าสู่ฤดูร้อน

22 ธันวาคม \"วันเหมายัน\" กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ปรากฏการณ์ส่งท้ายปี 2565

สำหรับ “ฤดูกาล” เกิดจากแกนโลกเอียงทำมุม 23.5 องศา กับแนวตั้งฉากกับระนาบโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้พื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้รับแสงอาทิตย์ในปริมาณไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงระยะเวลากลางวันและกลางคืนก็ต่างกันด้วย เหตุนี้ทำให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลกนั่นเอง จะสังเกตได้ว่าในฤดูร้อนดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า เวลากลางวันจะมีระยะเวลายาวนานกว่ากลางคืน แตกต่างกับฤดูหนาวที่ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว เวลากลางคืนจะมีระยะเวลายาวนานกว่ากลางวัน

 

ตลอดระยะเวลา 1 ปีที่โลกโคจรรอบดวงอาทิตย์ จะเกิดปรากฏการณ์สำคัญที่เกี่ยวข้องกับการขึ้นและตกของดวงอาทิตย์ทั้งหมด 4 ครั้ง ได้แก่

1. วันวสันตวิษุวัต (วะ-สัน-ตะ-วิ-สุ-วัด) (Vernal Equinox) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ผลิ ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ร่วง

2. วันครีษมายัน (ครีด-สะ-มา-ยัน) (Summer Solstice) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางเหนือมากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันยาวที่สุดในรอบปี สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ช่วงกลางวันจะสั้นที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว 

3. วันศารทวิษุวัต (สาด-ทะ-วิ-สุ-วัด) (Autumnal Equinox) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกและตกทางทิศตะวันตกพอดี ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันเท่ากับกลางคืนพอดี นับเป็นวันที่ประเทศทางซีกโลกเหนือเข้าย่างสู่ฤดูใบไม้ร่วง ส่วนซีกโลกใต้เข้าสู่ฤดูใบไม้ผลิ

4. วันเหมายัน (เห-มา-ยัน) (Winter Solstice) เป็นวันที่ดวงอาทิตย์ขึ้นทางทิศตะวันออกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด และตกทางทิศตะวันตกเฉียงไปทางใต้มากที่สุด ส่งผลให้ช่วงเวลากลางวันสั้นที่สุดและกลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือที่คนไทยเรียกว่า “ตะวันอ้อมข้าว” สำหรับประเทศทางซีกโลกเหนือ นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนประเทศทางซีกโลกใต้ ช่วงกลางวันจะยาวที่สุดในรอบปี นับเป็นวันที่ย่างเข้าสู่ฤดูร้อน  

22 ธันวาคม \"วันเหมายัน\" กลางคืนยาวนานที่สุดในรอบปี ปรากฏการณ์ส่งท้ายปี 2565

ที่มา : สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ