โอกาสและความท้าทายในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทย

โอกาสและความท้าทายในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทย

อุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างเป็นหนึ่งในภาคเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศไทย โดยเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามทิศทางการเติบโตทางเศรษฐกิจทั้งภายในประเทศไทยและต่างประเทศ

ปัจจัยสำคัญที่เป็นตัวขับเคลื่อนภายในประเทศ คือ การลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของประเทศโดยเฉพาะการลงทุนจากภาครัฐ อาทิ โครงการที่เกี่ยวเนื่องกับโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridors: EEC) รวมถึงโครงการขยายเส้นทางคมนาคมการขนส่งทางถนนและระบบรางทั่วประเทศ  

สำหรับปัจจัยขับเคลื่อนในต่างประเทศ อุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทยได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจทั่วโลกหลังวิกฤตการระบาดของเชื้อไวรัส COVID-19

รวมถึงการขยายตัวด้านการลงทุนในภาคการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานและโครงการอสังหาริมทรัพย์ในกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งเป็นตลาดส่งออกวัสดุก่อสร้างหลักของประเทศไทย

(CLMV คือ กลุ่มอาเซียนในเขตภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ที่มีเส้นทางคมนาคมติดต่อกัน ได้แก่ กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ และ เวียดนาม)

โอกาสและความท้าทายในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทย

ความท้าทายของภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทย

การเติบโตของภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทยต้องเผชิญความท้าทายในหลายหลายมิติ อาทิ ด้านต้นทุนการประกอบการที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากความขัดแย้งระหว่างประเทศรัสเซีย และประเทศยูเครน ความท้าทายด้านการแข่งขันในอุตสาหกรรมฯ และที่สำคัญที่สุดคือความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อม 

ซึ่งในปัจจุบันนี้ความท้าทายด้านสิ่งแวดล้อมเป็นความท้าทายที่สำคัญของทุกภาคอุตสาหกรรมในประเทศไทย เนื่องจากประเทศคู่ค้าที่สำคัญของประเทศไทย

อาทิ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป (EU) ได้มีการนำปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมมากำหนดมาตรการด้านการนำเข้าสินค้าและบริการ และกำหนดมาตรการกีดกันทางการค้าที่ไม่ใช่ภาษี อันเป็นอุปสรรคสำคัญซึ่งสกัดกั้นการเติบโตของภาคส่งออกไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทย  

ตัวอย่างมาตรการที่เป็นความท้าทายต่ออุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทย อาทิ การกำหนดกฎหมายมาตรการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) ของสหภาพยุโรป 1 

ซึ่งกำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าของสหภาพยุโรปต้องมีใบรับรอง CBAM ตามการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า หรือ บริการ (Greenhouse Gas Emission Certification) โดยในขั้นต้นสหภาพยุโรปกำหนดมาตรการดังกล่าวกับสินค้า 5 รายการ

ได้แก่ ซีเมนต์ ไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็ก และอลูมิเนียม โดยจะเห็นได้ว่า 3 รายการสินค้า จาก 5 รายการสินค้า เป็นสินค้าวัสดุก่อสร้างซึ่งเป็นหนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของประเทศไทย ดังนั้นประเทศไทยจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งในการปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว  

โอกาสและความท้าทายในภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทย

เศรษฐกิจหมุนเวียนกับการสร้างโอกาสให้ภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทย

ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากเศษวัสดุก่อสร้างซึ่งหลงเหลือจากการก่อสร้าง หรือการรื้อถอนอาคารต่าง ๆ และการกีดกันทางการค้าผ่านมาตรการ CBAM ของสหภาพยุโรป เป็นประเด็นที่ท้าทายอุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทยอย่างยิ่งยวด

อย่างไรก็ตามความท้าทายดังกล่าวได้ก่อให้เกิดการสร้างความตระหนักในกลุ่มผู้ประกอบการ และผลักดันไปสู่การปรับตัวเบื้องต้นเพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าว

โดยมีกลยุทธ์ที่สำคัญในปัจจุบันคือ การลดการปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้าวัสดุก่อสร้างผ่านแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโมเดลเศรษฐกิจ BCG  (Bio-Circular-Green Economy Model) ของประเทศไทย

แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนถูกนำมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการใช้ทรัพยากร การลดของเสีย และลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมตลอดวัฏจักรผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle) โดยหนึ่งในตัวแปรที่สำคัญของเศรษฐกิจหมุนเวียนในภาควัสดุก่อสร้างคือ ค่าการหมุนเวียนวัสดุ (Material Circularity Indicator: MCI)

ซึ่งเป็นตัวเลขที่ใช้บ่งชี้สมรรถภาพการหมุนเวียนของวัสดุก่อสร้าง ทั้งนี้ ค่า MCI สามารถใช้เป็นเครื่องมือประกอบการตัดสินใจสำหรับ วิศวกร สถาปนิก และผู้เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อจัดจ้างในภาคการก่อสร้างของไทยในการพิจารณาเลือกวัสดุก่อสร้างที่สอดรับกับแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

เน้นย้ำถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ โดย Ellen MacArthur Foundation2 ได้กำหนดค่า MCI อยู่ระหว่าง 0.1 ถึง 1.0 และมีการให้นิยามไว้ดังนี้

  • ค่า MCI เท่ากับ 1 สื่อว่าวัตถุดิบทั้งหมดที่ใช้ในการผลิตวัสดุก่อสร้างดังกล่าวมีส่วนประกอบมาจากวัสดุรีไซเคิล 100% โดยไม่เกิดการสูญเสีย (Zero Waste) 
  • ค่า MCI เท่ากับ 0.1 สื่อว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีการไหลเวียนแบบเส้นตรงอย่างสมบูรณ์ หรือ วัตถุดิบทั้งหมดมีที่มาจากวัสดุบริสุทธิ์ (Virgin Materials) และไม่มีของเสียที่นำกลับมาใช้ใหม่ หรือไม่มีการรีไซเคิล 
  • ค่า MCI น้อยกว่า 0.1 สื่อว่าผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณสมบัติหรือคุณภาพต่ำกว่าผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย โดยอาจมีอายุการใช้งานสั้นกว่าเดิม หรือ มีคุณสมบัติหรือความสามารถในการใช้งานลดลง ในทางกลับกันหากผลิตภัณฑ์นั้นมีคุณสมบัติหรือคุณภาพสูงกว่าผลิตภัณฑ์ในอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ย จะมีค่า MCI มากกว่า 0.1 

ในปัจจุบันประเทศไทยได้นำค่า MCI มาใช้ในการประเมินวัสดุก่อสร้าง 5 กลุ่มแรก ได้แก่ กลุ่มปูนซีเมนต์ กลุ่มคอนกรีต กลุ่มเหล็ก กลุ่มไม้และวัสดุทดแทนไม้ และกลุ่มวัสดุกันความร้อนความชื้น ทั้งนี้ประเทศไทยมีแผนที่จะขยายการใช้ ค่า MCI

เพื่อวัดสมรรถภาพการหมุนเวียนของวัสดุก่อสร้างให้ครบคลุมถึง 12 กลุ่มสินค้าวัสดุก่อสร้างในอนาคต เพื่อเป็นดัชนีชี้วัดสมรรถภาพการหมุนเวียนของวัสดุก่อสร้าง

บทสรุปในการปรับตัวสำหรับภาคอุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทย

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างไทย กำลังก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนผ่านไปสู่ยุคซึ่งผู้ประกอบการฯ เผชิญกับความท้าทายในประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และต้องปรับกลยุทธ์การทำธุรกิจตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และลดการเกิดของเสียจากกระบวนการผลิต 

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการผลิตเหล็กและเหล็กกล้าไทย อาจต้องเร่งนำเทคโนโลยีการหลอมเหล็กด้วยเตาอาร์คไฟฟ้ามาใช้ และผู้ผลิตปูนซีเมนต์อาจต้องใช้พลังงานทดแทนอื่น ๆ

ซึ่งเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมมาใช้ และลดสัดส่วนการใช้ถ่านหินในกระบวนการผลิต รวมทั้งอาจต้องลงทุนในการออกแบบ วิจัย และพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อาทิ ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก หรือ วัสดุก่อสร้างผสมขยะพลาสติก เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และมุ่งไปสู่การสร้างความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน

 

คอลัมน์ รักษ์โลก: Low Cabon Society
เรียบเรียงโดย: นิธิวัฒน์ แก้วเปรมกุศล 
ผู้ช่วยนักวิจัย สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย 
แหล่งข้อมูล: set.or.th ellenmacarthurfoundation