'ดีป้า-ฟู้ด ออเดอรี่' โชว์ตัวเลข eatsHUB คนใช้ 6 แสนราย คนใช้งาน 10 ล้านครั้ง

'ดีป้า-ฟู้ด ออเดอรี่' โชว์ตัวเลข eatsHUB คนใช้  6 แสนราย คนใช้งาน 10 ล้านครั้ง

ดีป้า ผนึกเอกชนโชว์ตัวเลข eatsHUB แพลตฟอร์มเรียกรับส่งอาหารสัญชาติไทยในโครงการ National Delivery Platform หลังนำร่องให้บริการ 7 เดือนในพื้นที่ 18 จังหวัด พบประชาชนลงทะเบียนเข้าใช้แพลตฟอร์มมากกว่า 600,000 ราย มีจำนวนการเข้าใช้งานมากกว่า 10,000,000 ครั้ง

นายเนวินธุ์ ช่อชัยทิพฐ์ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า แพลตฟอร์มเรียกรับส่งอาหาร นับเป็นหนึ่งในธุรกิจอีคอมเมิร์ซที่กำลังเติบโตไปพร้อมกับเทรนด์ของโลก โดยประเมินว่า ภายในปี 2565 ธุรกิจอีคอมเมิร์ซจะสามารถสร้างยอดขายทั่วโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 21% จากปีก่อนหน้าที่มีมูลค่าราว 2.8 ล้านล้านดอลลาร์ อีกทั้งมีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง

สำหรับโครงการ National Delivery Platform ที่ ดีป้า และบริษัท ฟู้ด ออเดอรี่ จำกัด ดำเนินการนำร่องให้บริการแพลตฟอร์ม เรียกรับส่งอาหารผ่านแอปพลิเคชัน eatsHUB แก่ประชาชนไปแล้วในช่วง 7 เดือนที่ผ่านมาสามารถกระจายรายได้ให้ กลุ่มผู้ประกอบการร้านอาหารขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย (MSMEs) ได้เร็วกว่าเป้าหมายที่วางไว้ โดยมีร้านค้า ร่วมให้บริการในแพลตฟอร์มแล้วกว่า 25,000 ร้าน สร้างอาชีพพนักงานรับส่งอาหาร (ไรเดอร์) กว่า 3,000 ราย

'ดีป้า-ฟู้ด ออเดอรี่' โชว์ตัวเลข eatsHUB คนใช้  6 แสนราย คนใช้งาน 10 ล้านครั้ง
 

ขณะเดียวกันมีประชาชนลงทะเบียนเข้าใช้แพลตฟอร์มมากกว่า 600,000 ราย มียอดการเข้าใช้งานไม่น้อยกว่า 10,000,000 ครั้ง ก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 500 ล้านบาท ซึ่งทั้งหมดถือเป็นตัวเลขที่สูงกว่าประมาณการณ์ อีกทั้งเป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ ไม่เพียงเท่านี้ โครงการดังกล่าวถือเป็นโครงการต้นแบบภาครัฐที่มุ่งหวังให้ผู้ประกอบการรวมไปถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ต้องการพัฒนาแอปพลิเคชันสามารถนำไปศึกษาเพื่อต่อยอดผลงานและธุรกิจ เพื่อผลักดันเศรษฐกิจดิจิทัลไทยให้เติบโตต่อไป" ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว

ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าวว่า แอปพลิเคชัน eatsHUB แพลตฟอร์มเรียกรับส่งอาหารสัญชาติไทยเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา สามารถสร้างการรับรู้และเข้าถึงประชาชนในพื้นที่ 18 จังหวัดในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร พระนครศรีอยุธยา เชียงใหม่ นครสวรรค์ พิษณุโลก นครศรีธรรมราช เพชรบุรี สุราษฎร์ธานี ภูเก็ต สงขลา ชลบุรี จันทบุรี ระยอง นครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี อุบลราชธานี และนครพนม

"คาดว่า ปี 2566 eatsHUB จะให้บริการครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ทั่วไทย โดยตั้งเป้ามีร้านอาหารร่วมให้บริการในแพลตฟอร์ม 50,000 ร้าน มีประชาชนลงทะเบียนเข้าใช้แพลตฟอร์มมากกว่า 1,000,000 ราย มียอดการเข้าใช้งานไม่น้อยกว่า 20,000,000 ครั้ง สร้างอาชีพพนักงานรับส่งอาหารกว่า 6,000 ราย และก่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจกว่า 1,000 ล้านบาท" ผู้อำนวยการใหญ่ ดีป้า กล่าว

ผศ.ดร.ณัฐพล กล่าวต่อว่า eatsHUB ถูกพัฒนาขึ้นด้วยความมุ่งมั่นที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการร้านอาหาร ขนาดกลาง ขนาดย่อม และรายย่อย และมอบโอกาสในการสร้างอาชีพใหม่แก่ประชาชน มีจุดเด่นอยู่ที่การเรียกเก็บค่าส่วนแบ่งรายได้ (GP) จากร้านค้าสมาชิกประมาณ 8-10% ซึ่งถือว่าต่ำกว่าอัตราการเรียกเก็บ 30% ของแพลตฟอร์มอื่น อีกทั้งเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน จึงมีความน่าเชื่อถือและตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้อย่างตรงจุด

ส่วนเป้าหมายต่อไปคือ การประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนเพื่อยกระดับการให้บริการสู่ Super Application ครอบคลุมการให้บริการด้านอื่น ๆ อาทิ การจำหน่ายวัตถุดิบท้องถิ่นจากผู้ผลิตไปสู่ร้านค้าและผู้บริโภคโดยตรง เพิ่มฟีเจอร์สที่หลากหลาย พร้อมขยายพื้นที่การให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศด้วยมาตรฐานและเป็นธรรมอย่างแท้จริง

ดร.ชาติชาย พยุหนาวีชัย ประธานกรรมการ ฟู้ด ออเดอรี่ กล่าวว่า eatsHUB เป็นแอปพลิเคชันที่เข้าถึงและช่วยเหลือผู้ประกอบการรายย่อยอย่างแท้จริง เพราะ ฟู้ด ออเดอรี่ มีความเข้าใจในวัฒนธรรมและพฤติกรรมของผู้ค้ารายย่อย แตกต่างจากแอปพลิเคชันของต่างชาติ

โดยเฉพาะการเรียกเก็บค่า GP ที่ต่ำกว่าแพลตฟอร์มทั่วไป รวมถึงระบบการโอนเงินที่ร้านค้าสมาชิกจะได้รับเงินค่าสินค้าในวันถัดไป โดยไม่มีขั้นต่ำ จุดนี้ถือเป็นหัวใจสำคัญของรายย่อยอย่างมากเพราะหากไม่มีเงินทุนเข้ามาหมุนเวียนวันต่อวัน ธุรกิจจะไม่สามารถเดินต่อไปได้ นอกจากนี้ ผู้ค้าเองยังให้ความเชื่อมั่นเพราะเป็นแพลตฟอร์มที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน มีความน่าเชื่อถือและสามารถตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้อย่างตรงจุด สร้างความเท่าเทียมด้วยการควบคุมมาตรฐานการให้บริการของร้านค้าสมาชิกให้จำหน่ายสินค้าอย่างเป็นธรรมในปริมาณที่ไม่แตกต่างจากการรับประทานที่ร้าน

"สำหรับการพัฒนาในก้าวต่อไปที่จะยกระดับการให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศนั้น ในส่วนของภาคเอกชน พร้อมขยายทีมสนับสนุนการให้บริการเต็มรูปแบบ ทั้งทีมคอลล์เซ็นเตอร์เพื่อรองรับผู้สูงวัยที่บางส่วนอาจยังไม่สามารถเข้าถึงการใช้งานสมาร์ตโฟน รวมถึงทีมบริหารจัดการระบบต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพ"