ชวนชม 10 นวัตกรรมไทยได้รับทุน TechBiz Starter 65

ชวนชม 10 นวัตกรรมไทยได้รับทุน TechBiz Starter 65

ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยีประกาศรางวัล TechBiz Starter Funds มอบทุน 10 ผลงาน ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมจากผู้ประกอบการหน้าใหม่ 20,000 บาท อาทิ รถขนส่งรักษ์โลก, แผ่นวัสดุดูดซับเสียงจากวัสดุคอมโพสิตเส้นใยเห็ด, ที่นอนปรับสรีระ อัจฉริยะยางพาราไทย เป็นต้น

ศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี (BIC) และศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) จัดกิจกรรม “Pitching & Meet Investors” ภายใต้โครงการ “สร้างผู้ประกอบการใหม่ด้วยนวัตกรรม (TechBiz Starter)” ปี 2565 และประกาศรางวัล TechBiz Starter Funds มอบทุนสนับสนุน จำนวนเงิน 20,000 บาท สำหรับผลงาน 10 อันดับที่ได้รับคะแนนสูงสุด

เพื่อสนับสนุนและต่อยอดกลุ่มผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่เพิ่งเริ่มต้นดำเนินธุรกิจทางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม ให้สามารถสร้างรากฐาน ดำเนินธุรกิจอย่างมีทิศทาง และสร้างโอกาสขยายธุรกิจให้เติบโตอย่างมั่นคง

ชวนชม 10 นวัตกรรมไทยได้รับทุน TechBiz Starter 65

อดิศร เตือนตรานนท์ (รักษาการ) ผู้ช่วยผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ กล่าวว่า โครงการ TechBiz Starter ประจำปี 2565 ปีนี้ดำเนินโครงการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องมาเป็นปีที่สาม โดยเน้นการสนับสนุน ส่งเสริม นักวิจัย และผู้ประกอบการใหม่ในระยะเริ่มต้น (Early Stage) ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงในการดำเนินธุรกิจ 

ส่งเสริมโอกาสและช่องทางให้แก่กลุ่มผู้เริ่มต้นเพื่อพัฒนาองค์ความรู้และทักษะการดำเนินธุรกิจ ส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากงานวิจัย เทคโนโลยี และนวัตกรรมในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ที่ตอบสนองต่อความต้องการของตลาด

อีกทั้งกิจกรรมพบผู้เชี่ยวชาญราย Sectors โดยได้รับเกียรติจากองค์กรเอกชนในการแชร์มุมมองการทำธุรกิจ และการเข้าเยี่ยมชม/เชื่อมโยงจากศูนย์แห่งชาติภายใน รวมถึงโอกาสที่ได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษามืออาชีพและมีประสบการณ์ตรงเฉพาะด้าน

ตลอดจนโอกาสในการเชื่อมโยงแหล่งเงินทุน เชื่อมโยงโอกาสทางการตลาดอย่างเหมาะสม เช่น การออกบูธนิทรรศการ การเข้าประกวดเทคโนโลยีในเวทีต่างๆ 

ผลจากการดำเนินโครงการสร้างผู้ประกอบการใหม่ด้วยนวัตกรรมในสามปีที่ผ่านมานั้น มีนักวิจัยและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ของประเทศที่มีแนวคิดนวัตกรรม และอยากจะทำให้ประสบความสำเร็จ สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 200 ราย 

ทางโครงการฯ ได้คัดเลือกผู้ที่มีแนวคิดทางธุรกิจ และความมุ่งมั่นที่ดี เข้าร่วมกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจเทคโนโลยีกว่า 120 ราย โดยผ่านการอบรมความรู้ด้านพื้นฐานธุรกิจเพื่อพัฒนาออกสู่ตลาด และได้รับคำปรึกษาแนะนำจากที่ปรึกษาของศูนย์พัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้เข้าร่วมโครงการสามารถดำเนินธุรกิจ และเกิดรายได้รวมกว่า 350 ล้านบาท 

ชวนชม 10 นวัตกรรมไทยได้รับทุน TechBiz Starter 65

สำหรับกิจกรรม “Pitching & Meet Investors” มีผู้ประกอบการทั้ง 25 รายที่ผ่านการคัดเลือก คณะกรรมการได้คัดเลือกผลงาน 10 อันดับที่ได้รับคะแนนสูงสุด เพื่อรับรางวัล TechBiz Starter Funds ทุนสนับสนุน จำนวนเงิน 20,000 บาท 10 ทีม ได้แก่

  • Mush Composites - แผ่นวัสดุดูดซับเสียงจากวัสดุคอมโพสิตเส้นใยเห็ด

วัสดุดูดซับเสียง Mush Composites เป็นนวตกรรมด้านวัสดุ Biomaterial ที่เป็นวัสดุที่ได้รับแรงบันดาลใจจากธรรมชาติ ในการใช้ธรรมชาติ สร้างสรรนวตกรรมเพื่อธรรมชาติ ในการที่จะเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นทางเลือกที่จะช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนในแนวทาง Bio Economy ด้วยคอนเซป “จากธรรมชาติ

Mush Composites ใช้เลียนแบบการเจริญเติบโตทางธรรมชาติของเห็ดโดยใช้ส่วนรากของเส้นใยเห็ดหรือที่เรียกว่า Mycelium ที่มีลักษณะผสานกันเป็นร่างแหเสมือนหนึ่งกาวธรรมชาติที่ผสานวัสดุร่วมกับวัสดุเศษเหลือทางการเกษตรเสมือนโรงงานธรรมชาติต้นทุนต่ำที่ใช้พลังงานน้อย 

  • Toki Genius - นมพืชไร้น้ำตาลที่ผลิตจากถัวและธัญพืช 3 ชนิด             

นมพืชไร้น้ำตาลที่ผลิตจากถัวและธัญพืช 3 ชนิด จากแหล่งปลูกเกษตรกรไทย มีส่วนผสมของ ถั่วขาว ตัวช่วยบล็อกแป้งขับออกเป็นอุจจาระ ถั่วอัลมอนด์อุดมไปด้วยวิตามิน แมกนีเซียม โพแทสเซียม และไขมันดี

ข้าวโอ๊ตสารอาหารสำคัญและกรดอะมิโนที่จำเป็นต่อร่างกาย ทั้ง 3 มีไฟเบอร์และ โปรตีนสูง ให้พลังงาน เพิ่มมวลกล้ามเนื้อ ดีต่อระบบเผาพลาญ ช่วยลดคอเลสเตอรอล มีสารต้านอนุมูลอิสระ เสริมสร้างความจำและสติปัญญา ผลิตด้วยนวัตกรรมเทคโนโลยีการยืดอายุอาหารการฆ่าเชื้อด้วยระบบ Retort Sterilization ยืดอายุและถนอมได้นาน 6 เดือนถึง 1 ปี  

  • REISHURAL - Essential Natural Facial Serum

การสกัดสารสำคัญจากดอกเห็ดเห็ดหลินจือ เพื่อให้สารสกัดที่มีสารออกฤทธิ์ทางเครื่องสำอางสูง สร้างมูลค่าเพิ่มในผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง และพัฒนาระบบห่อหุ้มที่เพิ่มความคงตัวของสารสำคัญ

ทีมวิจัยได้สกัดดอกเห็ดหลินจือ พบสารสำคัญหลักคือ Ganoderic acid A และ Ganoderic acid C2 การพัฒนาระบบกักเก็บสารสำคัญได้พัฒนาระบบอนุภาคนิโอโซม (Niosomes) กักเก็บสารสกัดเห็ดหลินจือ มีขนาดอนุภาคช่วง 144.6 ถึง 308.3 นาโนเมตร และประสิทธิภาพการห่อหุ้ม (%) ร้อยละ 96.67

อนุภาคนี้มีความคงตัวและความปลอดภัยในการเพาะเลี้ยงเซลล์ไฟโบรบลาสต์ และมีความปลอดภัยเมื่อสัมผัสผิวหนังในมนุษย์ 

  • Pararaksa Latex Mattress - ที่นอนปรับสรีระ อัจฉริยะยางพาราไทย

ที่นอนยางพารา Pararaksa ปุ่มยางพาราซิงค์นาโนคาร์บอนแห่งแรกของไทย เหมาะสำหรับผู้ที่หลับยาก ปวดเมื่อย ออฟฟิศซินโดรม ตะคริว และเหน็บชาตามมือเท้าบ่อยๆ “ปุ่มยางพารา” ระบายอากาศ

ช่วยลดความเมื่อยล้า เหมือนมีสปาส่วนตัว หลับสบายตลอดคืน ผลิตจากน้ำยางพาราธรรมชาติ 100% ยืดหยุ่นสูง เป็นงาน Handmade จากเกษตรกรชาวสวนยาง ที่นอนยางพาราแบบปุ่ม มี 3 รุ่น

  • V Drink: เครื่องดื่มน้ำส้มสายชูหมักสมุนไพรไทย สไตล์คอมบูชะ

V Drink : เครื่องดื่มน้ำส้มสายชูหมักสมุนไพรไทย สไตล์คอมบูชะ คือ นวัตกรรมใหม่ของเครื่องดื่มสมุนไพรไทยที่จะยกระดับเครื่องดื่มสมุนไพรไทยพื้นบ้าน สู่อาหารแห่งอนาคต (Future food)

ในกลุ่ม Immunity Boosting และ Well-mental eating ด้วยการผสานศาสตร์เครื่องดื่มจาก 3 วัฒนธรรมเข้ามาอยู่ด้วยกันในขวดเดียว ได้แก่ ยุโรป เอเชียตะวันออก และไทย จนได้เป็นเครื่องดื่มที่มีรสชาติ เปรี้ยว หวาน หอมละมุน นุ่มลิ้น ปราศจากแคลอรี่และแอลกอฮอล์ มีโพรไบโอติกส์ จำนวน 25 Billion CFU/G และมีโพรไบโอติกส์มากถึง 10 ชนิด 

  • White Tiger Peanut Milk - ขนมรสนมถั่วลายเสือ

ขนมรสนมถั่วลายเสือ (White Tiger Peanut Milk) ผลิตจากถั่วลายเสือ แม่ฮ่องสอน มาตฐาน GI ปลูกจากแหล่งโอโซนระดับโลก เนี่องจากมีพื้นที่ป่ามากที่สุดในประเทศไทย  เกษตรกรในชุมชนเป็นผู้ปลูกถั่วลายเสือ มีความสูงเหนือจากระดับน้ำทะเล โดยประมาณ 990 - 1,050 เมตร

จึงทำให้อร่อยมัน มีวิตามิน  B1 B 2  โปรตีนสูง และ แคลเซียมสูง ต่างจากถั่วลิสงทั่วไป เราจึงพัฒนาแปรูป เป็นขนมจากนมถั่วลาย เพิ่มสารอาหารที่ตรงต่อเด็ก พร้อมงานวิจัยรองรับ จากศูนย์ FIN นวัตกรรมอาหารภาคเหนือ 

  • WolfSnack - ขนมแผ่นแป้งกรอบสารอาหารสูงจากไข่ผำและสารลดการย่อยแป้ง

ปัจจุบันขนมขบเคี้ยว เช่น มันฝรั่งทอด เป็นหนึ่งในขนมคบเคี้ยวสำเร็จรูปที่เด็กวัยรุ่นและคนวัยเริ่มทำงานนิยมและชื่นชอบทานในยามว่าง นับเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เด็กวัยรุ่นและคนวัยเริ่มทำงานมีภาวะอ้วน และยังเป็นสาเหตุของโรคต่าง ๆ เช่น การขาดสารอาหาร เป็นต้น ซึ่งหลายบริษัทได้มีความพยายามทำขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพ 

เช่น ขนมมันฝรั่งแผ่นอบไขมันต่ำ (Low fat/0% saturated fat) มันเทศอบแห้ง ผักอบแห้ง และอกไก่อบกรอบ เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามขนมขบเคี้ยวเพื่อสุขภาพยังไม่เป็นที่นิยมเท่าที่ควรเมื่อเทียบกับมันฝรั่งทอด และ ขนมขบเคี้ยวทั่วไปในตลาด เนื่องจากมันฝรั่งทอดมีเนื้อสัมผัสและรสชาติที่อร่อยและถูกปากผู้บริโภคมากกว่า 

  • THE FOUNDER - แพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับการสำรวจและวิเคราะห์ตลาด

แพลตฟอร์มออนไลน์ สำหรับการให้บริการด้าน Market Research, Market Validation โดยดำเนินการสำรวจตลาด, การจัดทำแบบสอบถาม และทดสอบสินค้าในตลาดจริง

สำหรับนักธุรกิจ, นักวิจัย และสตาร์ตอัป โดยเน้นคุณภาพ ความเที่ยงตรง และความแม่นยำของข้อมูล และกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นมากในการนำข้อมูลมาใช้วิเคราะห์ในโลกยุค 5.0 

  • ZenoLase complex & AGE-Reversal Senolytic Bright Se

สารออกฤทธิ์จากธรรมชาติในชี่อ “ZenoLase complex” ซึ่งมีประสิทธิภาพทำลายเซลล์แก่ได้ใกล้เคียงกับยามะเร็ง ปลอดภัยสูง (เป็น Food grade) รวมถึงมีฤทธิ์ต้านอักเสบ ต้านอนุมูลอิสระ กระจ่างใส กระตุ้นการสร้างคอลลาเจน และไฮยาลูรอน ไม่ระคายเคือง และไม่ก่อการแพ้ผิวหนัง

จากผลทดสอบเปรียบเทียบกับสารออกฤทธิ์ 8 ชนิดจากบริษัทชั้นนำในต่างประเทศ พบว่า ZenoLase complex มีประสิทธิภาพทำลายเซลล์แก่และชะลอวัยดีที่สุด และได้นำ Zenolase Complex มาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์เวชสำอาง “AGE-Reversal Senolytic Bright Serum

โดยเสริม Triplex biopeptides เข้าไป ซึ่งเป็นเปปไทด์บริสุทธิ์ 3 ชนิดที่ผ่านการทดสอบแล้วว่า ช่วยให้ผิวกระจ่างใส, ลดการเกิดสิว, รวมถึงลดการอักเสบ ระคายเคืองผิวหนัง สามารถทำงานร่วมกับ Zenolase complex โดยไม่หักล้างฤทธิ์ทำลายเซลล์แก่ 

  • GREEN Logistics - รถขนส่งรักษ์โลก (รถขนส่งไฟฟ้า 3 ล้อตู้บรรทุก)    

รถขนส่งสินค้าไฟฟ้า 3 ล้อพร้อมตู้ทึบ ที่มีระบบ Smart IOTสามารถติดตามและมอนิเตอร์สื่อสาร ควบคุม จากเซนเซอร์ต่างๆ ที่อยู่ในตัวรถได้แบบ Real Time เหมาะสมกับการขนส่งสินค้าที่ต้องได้รับการดูแลควมคุมเป็นพิเศษ เช่น การขนส่งผักผลไม้ ออร์แกนิคที่ต้องได้รับการควบคุมอุณหภูมิ 

และยังสามารถควมคุมอุณหภูมิให้เหมาะสมตามน้ำหนักบรรทุกได้ด้วย เนื่องจากบางกรณีการขนส่งในบางช่วงอาจไม่มีสินค้าบรรทุกอยู่ หรือบรรทุกน้อยเกินความจำเป็นที่จะปรับอุณหภูมิเกินความจำเป็น

เพื่อประหยัดพลังงาน และที่สำคัญบนหลังคารถยังฝั่งแผงโซล่าเซลล์เพื่อจ่ายพลังงานไฟฟ้าให้กับคอมเพรสเซอร์เมื่อรถต้องจอดพักแต่ยังมีสินค้าที่ต้องควบคุมอุณหภูมิ เป็นต้น