บพท. ผนึก 26 มหาลัย เร่งปั้น ‘นวัตกรชุมชน’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

บพท. ผนึก 26 มหาลัย เร่งปั้น ‘นวัตกรชุมชน’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

บพท. ร่วมกับ 26 มหาวิทยาลัย นำความรู้และงานวิจัยต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ พร้อมเร่งปั้น "นวัตกรชุมชน" ใช้ผู้ประกอบการขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ชี้แจงผลลัพธ์การดำเนินการแผนงานวิจัย “ชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน” ในห้วงปีงบประมาณ 2563 ต่อเนื่องถึงปีงบประมาณ 2565

ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ประเทศไทยเผชิญกับมรสุมเศรษฐกิจ และสถานการณ์การแพร่ระบาดอย่างรุนแรงของโควิด-19 ว่า แผนงานวิจัยดังกล่าวบรรลุเป้าหมายเป็นอย่างดีในการนำนวัตกรรม องค์ความรู้ และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ไปสร้างความเข้มแข็งและยกระดับเศรษฐกิจฐานราก ตลอดจนคุณภาพชีวิต

และสิ่งแวดล้อมให้กับประชาชนในหลายพื้นที่ ทำให้ประชาชนสามารถนำองค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยไปใช้ในการบริหารจัดการปัญหาได้ด้วยตนเอง สามารถพึ่งตนเองได้อย่างยั่งยืน 

บพท. ผนึก 26 มหาลัย เร่งปั้น ‘นวัตกรชุมชน’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

ความสำเร็จของแผนงานวิจัยชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เกิดขึ้นจากความร่วมมือกันอย่างดีระหว่าง บพท.กับคณาจารย์ คณะนักวิจัยจากสถาบันอุดมศึกษา 26 แห่ง โดยมีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี เป็นแกนหลัก ซึ่งส่งผลให้เกิดชุมชนนวัตกรรมขึ้นใน 753 ตำบล ครอบคลุมพื้นที่ 35 จังหวัดทั่วประเทศ

เกิดการสร้างนวัตกรชุมชน 3,476 คน และเทคโนโลยีตลอดจนนวัตกรรมพร้อมใช้ รวมทั้งนวัตกรรมกระบวนการ สำหรับการแก้ปัญหาระดับชุมชนมากกว่า 860 นวัตกรรม ทั้งนี้ นวัตกรชุมชนกว่า 3,476 คน เป็นผลลัพธ์จากการดำเนินการตามแผนงานวิจัยชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน

“ในช่วงปีงบประมาณ 2563-2565 ยังมีส่วนอย่างสำคัญในการพลิกฟื้นมูลค่าเศรษฐกิจฐานราก และมูลค่าสินค้าผลิตภัณฑ์ชุมชนให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นได้ถึงร้อยละ 10-20 อีกทั้งยังเกิดการนำนวัตกรรมเข้าสู่การทำแผนพัฒนาองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายระดับ ผ่านกลไกกระบวนการเรียนรู้ (Learning and Innovation Platform-LIP) และเกิดการสร้างระบบข้อมูลด้านเทคโนโลยีรวมทั้งข้อมูลด้านนวัตกรรมระดับประเทศด้วย” 

บพท. ผนึก 26 มหาลัย เร่งปั้น ‘นวัตกรชุมชน’ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานราก

บพท.ร่วมกับสถาบันการศึกษา ชุมชนราชการท้องถิ่น ทำการวิจัยและพัฒนาเศรษฐกิจบนทุนวัฒนธรรม และพบว่าได้ผลดี เกิดผู้ประกอบการวัฒนธรรมขึ้นมาแล้ว 6,000 ราย ทำให้ชุมชนมีรายได้ถึง 200 ล้านบาท 

ตลาดชุมทางทุ่งสง หรือหลาดชุมทางทุ่งสง ถือเป็นสิ่งที่ประสบความสำเร็จ มีร้านค้าประมาณ 250 ร้าน เปิดจำหน่ายทุกวันอาทิตย์ ตั้งแต่บ่ายสามโมง ถึงสามทุ่ม แต่ละวันมีพี่น้องประชาชน มาจับจ่ายซื้อของจำนวนมาก จนเป็นต้นแบบในการพึ่งพาตนเอง เพราะเปิดต่อเนื่องมาแล้วกว่า 5 ปี ซึ่งสามารถสร้างอาชีพและรายได้ให้กับพี่น้องประชาชนในพื้นที่” กิตติ กล่าว

วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี กล่าวเสริมว่า ผลงานความสำเร็จของการดำเนินการแผนงานวิจัยชุมชนนวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ของปีงบประมาณ 2563-2565 ได้ถูกประมวลมาจัดแสดงในงานชุมชนนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ 

ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยที่ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจาก บพท.จำนวน 15 ชุดโครงการ ครอบคลุมพื้นที่ทั่วทุกภาคของประเทศ เช่น โครงการพัฒนาชุมชนนวัตกรรมด้วยการยกระดับศักยภาพด้านการท่องเที่ยวนโยบายสาธารณะ วิสาหกิจชุมชน และผลิตภัณฑ์ชุมชน โดยมหาวิทยาลัยพะเยา

การยกระดับเศรษฐกิจฐานรากด้วยนวัตกรรมและเทคโนโลยีภายใต้บริบทชุมชน “เขา ป่า นา เล” ในพื้นที่จังหวัดตรังและจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย และการพัฒนาเศรษฐกิจฐานรากและต้นแบบแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างยั่งยืนด้วยนวัตกรรมพร้อมใช้และนวัตกรชุมชน โดยมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน เป็นต้น 

“บพท. ส่งเสริมงานวิจัยเพื่อแก้ปัญหาทั้งในเชิง issue และ area เช่นการพัฒนาธุรกิจชุมชนเพื่อส่งเสริมธุรกิจอย่างใดอย่างหนึ่ง และการพัฒนาภาพรวมของพื้นที่ เช่น smart city เป็นการยกระดับศักยภาพของทั้งพื้นที่ ทำให้เรามั่นใจว่าแนวทางที่ยึดโยงความต้องการในพื้นที่ เป็นทางออกสำหรับการเปลี่ยนผ่านประเทศไทย”