กสทช.เลื่อนลงมติดีล'ทรู-ดีแทค' รอความเห็นกฤษฎีกาครั้งสุดท้าย

กสทช.เลื่อนลงมติดีล'ทรู-ดีแทค'   รอความเห็นกฤษฎีกาครั้งสุดท้าย

บอร์ดกสทช.รอเพียงความเห็นกฤษฎีการอบสุดท้าย ก่อนรวมเอกสารตัดสินดีลควบรวมทรู-ดีแทค คาดหากเอกสารมาถึงสำนักงานฯภายในสัปดาห์นี้ เตรียมเรียกประชุมวาระพิเศษทันที คาดที่ต้องเร่งรีบเพราะมีคนฟ้องศาลฯรอให้ทุเลาคำสั่งกสทช.อีกรอบ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (14 ก.ย.) ที่ประชุมสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ได้มีการประชุมวาระปกติ โดยหนึ่งในวาระที่สำนักงาน กสทช. เสนอเข้ามา คือ วาระการติดตามเรื่องค้างการรายงานการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค โดยประชุมตั้งแต่ 9.00 น และเสร็จสิ้นในเวลาเพียง 11.30 น.

โดยผลปรากฏว่า วาระดังกล่าวต้องเลื่อนพิจารณาออกไป เนื่องจากสำนักงาน กสทช. ยังไม่ได้ข้อสรุป จากสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เกี่ยวกับ "ข้อกฎหมายในบทบาทและอำนาจหน้าที่"  ซึ่งตามระเบียบแล้ว หลังจากที่คณะกรรมการกฤษฎีกา มีความเห็นเป็นเช่นใดออกมานั้น จะต้องพิมพ์ความเห็นอย่างเป็นทางการ แล้วมอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเป็นผู้ลงนามแล้ว จึงส่งความเห็นมายังสำนักงานกสทช. หลังจากนั้น สำนักงานฯ จะส่งความเห็นเป็นหนังสือเวียนให้บอร์ดแต่ละคนพิจารณา โดยสุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบอร์ดว่า จะเรียกประชุมนัดพิเศษทันทีเพื่อลงมติเลยหรือไม่ หรือจะรอลงมติในวันประชุมนัดปกติซึ่งจะมีอีกครั้งวันที่ 21 ก.ย. นี้

จ่อเรียกประชุมนัดพิเศษลงมติ

“ความเห็นจากกฤษฎีกาก็น่าจะมาไม่เกินสัปดาห์นี้ ซึ่งเมื่อส่งให้บอร์ดอ่านแล้ว ไม่มีข้อคำถามอะไรเพิ่มเติม ปกติก็จะมีการเรียกประชุมนัดพิเศษทันทีเพื่อลงมติ เพราะเรื่องนี้ทุกคนก็รู้อยู่ว่าเป็นที่จับตาของสังคม” แหล่งข่าวจากกสทช.กล่าว

นอกจากนี้ แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ประเด็นความเห็นของกฤษฎีกาในครั้งนี้ที่ถือเป็นรอบ 2 ที่กสทช.ขอให้มีความเห็นทางกฎหมายเพื่อช่วยชี้แนะการพิจารณาดีลการควบรวมบริษัทของเอกชน หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาได้เคยมีหนังสือมาแล้วว่า จะไม่มีความเห็นในเรื่องนี้

โดยเป็นเรื่องที่อยู่ในชั้นของศาลปกครองมีคำสั่งให้ยกคำร้องการขอทุเลาคำสั่งชั่วคราวของ นายณภัทร วินิจฉัยกุล อดีตกรรมการติดตามการปฏิบัติหน้าที่ ที่ขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับหรือหยุดใช้ประกาศ กสทช. เรื่องมาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 4 ธ.ค. 2560 เอาไว้จนกว่าจะมีคำพิพากษา

แต่เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2565 คณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ที่มี นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ดำรงตำแหน่งเป็นประธานกรรมการ ได้เรียกให้ตัวแทนของสำนักงาน กสทช. เข้าชี้แจงในประเด็นที่ขอความช่วยเหลือให้ตีความอำนาจในประเด็นการขอรวมกิจการของทรูและดีแทค อย่างไรก็ดี ประเด็นความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาในรอบสองว่า จะออกมาอย่างไรนั้น ต้องดูว่าศาลปกครอง จะมีคำสั่งในเรื่องนี้อีกครั้งหรือไม่

ทั้งนี้ ล่าสุด เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 นายณภัทร วินิจฉัยกุล เป็นโจทย์ฟ้องคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) อีกครั้ง และมีบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ 1 กับพวกรวม 2 คนในฐานะผู้ร้องสอด โดยผู้ถูกฟ้องคดีหมายถึง เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ผู้รับมอบอำนาจจากผู้ถูกฟ้องคดี

ด้วยคดีเรื่องนี้ผู้ฟ้องคดีได้ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษาต่อศาลรายละเอียดปรากฎตามสำเนาคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งเกี่ยวกับวิธีการชั่วคราวก่อนการพิพากษา

ทั้งนี้ ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทำคำชี้แจงยื่นต่อศาลภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับหมายนี้ ด้วยเหตุผลที่กล่าวมาข้างต้นผู้ฟ้องคดีขอให้ศาลมีคำสั่งทุเลาการบังคับตามประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติเรื่อง มาตรการกำกับดูแลการรวมธุรกิจในกิจการโทรคมนาคม ลงวันที่ 40 ธันวาคม 2560

“ครั้งแรกกฤษฎีกามีหนังสือไม่ลงความเห็นเพราะมีคำสั่งศาลออกมา ดังนั้นกฤษฎีาจะไม่ขอยุ่ง และนี้ล่าสุด นายณภัทรก็ไปยื่นขอทุเลาอีกรอบ ดังนั้น ก็เป็นไปได้ที่กฤษฎีกาจะต้องมีคำสั่งออกโดยเร็ว ก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งต่อเรื่องที่นายณภัทรไปยื่นอีกรอบ เป็นเรื่องวัดใจว่ากฤษฎีกาจะออกความเห็นมาอย่างไร”

รอข้อมูลขั้นสุดท้ายให้ครบ

สำหรับการพิจารณาเรื่องดีลการควบรวมของกสทช.ที่จะเกิดขึ้นนั้น นอกจากจะรอความเห็นอย่างเป็นทางการจากคณะกรรมการกกฤษฎีกาแล้ว รายงานอื่นเพื่อประกอบการพิจารณาจะประกอบไปด้วย ผลการดำเนินงานของคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาและวิเคราะห์กรณีการรวมธุรกิจระหว่างทั้งสองบริษัทจำนวน 4 คณะ ผลสรุปการจัดรับฟังความคิดเห็นสาธารณะในวงจำกัด 3 กลุ่ม รายงานการศึกษาผลกระทบทางเศรษฐศาสตร์กรณีการรวมธุรกิจฯ โดยสำนักงาน กสทช. ร่างผลการศึกษาของที่ปรึกษาวิเคราะห์การรวมธุรกิจฯ โดยศูนย์บริการวิชาการจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย รายงานของที่ปรึกษาอิสระในการจัดทำความเห็นประกอบรายงานการรวมธุรกิจฯ โดยบริษัท หลักทรัพย์ฟินันซ่า จำกัด

นอกจากนี้ ยังต้องมีการวิเคราะห์ที่มีหลักฐานทางวิชาการและข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับเพิ่มเติมในประเด็นต่อไปนี้ 1.วิเคราะห์โครงสร้างการรวมธุรกิจของบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) และบริษัท โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด โดยให้รวมถึงผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้งหมดที่บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท โทเทิ่ล แอ๊คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัดและ New Co (ชื่อบริษัทใหม่หากมีการควบรวมแล้ว) มีอำนาจควบคุม 2.วิเคราะห์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นต่อการบริหารจัดการ การดำเนินธุรกิจ การแข่งขันในตลาดของผู้รับใบอนุญาตการประกอบกิจการโทรคมนาคมที่บริษัท New Co เข้าเป็นผู้มีอำนาจควบคุม

3.วิเคราะห์ผลดีอันเกิดจากการประหยัดเนื่องจากขนาด (economies of scale) อย่างเป็นรูปธรรมและแนวทางในการส่งต่อผลดีดังกล่าวไปยังผู้บริโภคอย่างประเมินได้ชัดเจน 4. วิเคราะห์การถือครองคลื่นของบริษัท New Co ว่าก่อให้เกิดการได้เปรียบและมีผลต่อการแข่งขันในตลาดหรือไม่ อย่างไร 5. วิเคราะห์แนวทางในการลดอัตราค่าบริการ การรักษาคุณภาพการบริการเพื่อลดผลกระทบต่อผู้บริโภคในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว และ 6. วิเคราะห์มาตรการการส่งเสริม MVNO (บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่แบบโครงข่ายเสมือน) และเสนอแนวทางในการปรับปรุงกฎเกณฑ์ เพื่อให้ MVNO สามารถเกิด คงอยู่ และแข่งขันได้ในตลาดเพื่อเพิ่มระดับการแข่งขันให้สูงขึ้น รวมทั้งทางเลือกให้ผู้บริโภค

อย่างไรก็ดี ก่อนหน้านี้ นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รักษาการแทน เลขาธิการกสทช. กล่าวภายหลังจากประชุมร่วมกับคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะที่ 1 ว่า ขณะนี้ในส่วนของสำนักงาน กสทช.ที่รับหน้าที่ส่งรายงานผลการศึกษาการควบรวมดีลดังที่ระบุข้างต้นนั้น เสร็จเรียบร้อยหมดแล้ว ดังนั้น จึงรอเพียงความเห็นจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเท่านั้น  อย่างไรก็ดี ตนไม่อาจก้าวล่วงได้ว่าบอร์ดกสทช.ทุกคนจะลงมติเลยหรือไม่ เพราะทุกอย่างถือเป็นดุลยพินิจของแต่ละท่าน และส่วนคำถามที่ว่าคำวินิจฉัยของกฤษฎีกาจะมีผลผูกพันกับมติบอร์ดหรือไม่ เรื่องนี้ก็ขึ้นอยู่กับที่ประชุมเช่นกันว่าจะคิดเช่นไร แต่ถึงตอนนี้ถือว่าทุกอย่างครบแล้ว รอเพียงการลงมติเท่านั้น